ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
เพิกถอนการบรรจุครูผู้ช่วย จากเหตุร้องเรียนทุจริต
17 ต.ค. 2564

ก้าวสู่สังคมธรรมาภิบาลกับศาลปกครอง : โดย ธัญธร ปังประเสริฐ พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

เพิกถอนการบรรจุครูผู้ช่วย 

จากเหตุร้องเรียนทุจริตการสอบ ! 

การสอบ ... เป็นกระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ตรงตามตำแหน่งที่รับสมัคร และถือเป็นก้าวแรกของการเข้ามาทำหน้าที่ด้วยความภาคภูมิใจ แต่ทว่า ... ก็มักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการทุจริตการสอบและถูกตรวจสอบหรือจับได้ ซึ่งผู้ที่ได้รับการบรรจุโดยไม่ชอบก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง และหากมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนรู้เห็นก็จะต้องถูกดำเนินการทางวินัย ซึ่งคดีที่จะคุยกันวันนี้ ... ก็เป็นเรื่องทุจริตการสอบครูผู้ช่วยที่ต่อมา มีการร้องเรียนขอให้ตรวจสอบ !!

  • โดยคดีมีประเด็นชวนคิดว่า ... กรณีครูผู้ช่วยได้รับการบรรจุแต่งตั้งและทำงานแล้ว ต่อมามีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการสอบ และพบว่าครูผู้ช่วยรายนี้ได้คะแนนภาค ก. และภาค ข. ไม่ผ่านเกณฑ์ จึงถูกเพิกถอนการบรรจุย้อนหลังตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งครูผู้ช่วยโต้แย้งว่าตนได้เข้ามาตามกระบวนการสอบอย่างถูกต้อง อีกทั้งการเพิกถอนย้อนหลังจะมีผลต่อการงานที่ได้ทำไปแล้ว จึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
  • ที่มาของคดีมีว่า ... ผู้ฟ้องคดีได้สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบล ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย สังกัด อบต. พบพาน ซึ่งมีประกาศกำหนดวิธีการสอบเป็น ๓ ภาค คือ ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) ภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะสำหรับตำแหน่ง (ภาค ข) และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งหรือการสอบสัมภาษณ์ (ภาค ค) โดยทุกภาคมีคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน ซึ่งผู้สอบแข่งขันได้จะต้องได้คะแนนในแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐ ทั้งนี้ อบต. ดังกล่าวได้จัดทำบันทึกข้อตกลงให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ ก. เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบและประมวลผลใน ภาค ก และภาค ข ส่วนภาค ค นั้น อบต. จะเป็นผู้ดำเนินการสอบเอง

เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนแล้วเสร็จ ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สอบได้ลำดับที่ ๓  อบต. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย แต่ผ่านไปไม่ถึงเดือนก็มีผู้ร้องเรียนว่ามีการทุจริตในการสอบแข่งขันครั้งดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปว่า ผลคะแนนของผู้เข้าสอบที่ผ่านเกณฑ์สอบได้ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏ ก. เป็นหน่วยงานกลางในการจัดสอบของ อบต. ทั้ง ๑๙ แห่ง โดยมีผู้สอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๖๐ ทั้งภาค ก และภาค ข เพียงรายเดียว ส่วนผู้ฟ้องคดีไม่ผ่านเกณฑ์ภาค ก และภาค ข จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ อบต. พบพานจึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

เรื่องนี้บทสรุปจะเป็นอย่างไร มาดูเหตุผลคำวินิจฉัยของศาลปกครองกันต่อ...

 คดีมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งครูผู้ช่วยย้อนหลัง นับแต่วันบรรจุและแต่งตั้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

  • คำวินิจฉัยควรรู้

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่าผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติ เนื่องจากผลคะแนนภาค ก และภาค ข ไม่ผ่านเกณฑ์ และเมื่อพิจารณาถึงความเสียหายอันกระทบ ต่อความเชื่อมั่นในระบบการสรรหาบุคลากรที่ต้องคำนึงถึงคุณภาพของบุคคล อันหมายถึงการผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านความรู้ ความสามารถ และมีความเหมาะสมที่จะเข้ารับราชการ โดยจะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ อบต. พบพาน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ซึ่งเป็นผู้จัดทำคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำสั่งแต่งตั้ง) จึงมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งนั้น โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันบรรจุและแต่งตั้งได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๔๙ ประกอบมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

นอกจากนี้ มาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ยังได้บัญญัติในกรณีที่ปรากฏภายหลังว่าเจ้าหน้าที่ หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองใด ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งเช่นว่านี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่

ประกอบกับประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลฯ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการบริหารงานบุคคล ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ผู้ได้รับบรรจุเข้ารับราชการหากภายหลังปรากฏว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม... ให้นายก อบต. สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการโดยพลัน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนต่อการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ และการรับเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นใดที่จะได้รับ หรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการก่อนมีคำสั่งให้ออกนั้น และถ้าการเข้ารับราชการเป็นไปโดยสุจริตแล้ว ให้ถือว่าเป็นการสั่งให้ออกเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น

ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่ง ย้อนหลังถึงวันที่บรรจุและแต่งตั้ง จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. ๑๒๐/๒๕๖๓)

  • บทสรุปชวนอ่าน

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ โดยคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วน โดยจะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลัง หรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่ง ตามที่กำหนดก็ได้ นอกจากนี้ ยังได้บัญญัติกรณีการพ้นจากตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองยังมีรายละเอียดอีกมาก ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากกฎหมายดังกล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...