ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
จีนกระจายความมั่งคั่ง
07 ต.ค. 2564

โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

จีนกระจายความมั่งคั่ง

จากข้อมูลการจัดอันดับมหาเศรษฐีโดยฟอร์บส์ประจำปี 2021 พบว่า จีนมีมหาเศรษฐีที่รวยระดับพันล้านดอลลาร์ (Billionaires) มากถึง 626 คน

มหาเศรษฐีจีนที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักคือ แจ๊ค หม่า แห่งอาณาจักรอาลีบาบา และโพนี่ หม่า แห่งเทนเซนต์ แต่วันนี้ใครๆ ก็เอ่ยถึง “จง ซานซาน” เจ้าของธุรกิจน้ำดื่มบรรจุขวด “หนงฟู่สปริง” ซึ่งมีความมั่งคั่ง 8.62 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 2.58 ล้านล้านบาท ขึ้นอันดับ 1 ของจีน อันดับ 7 ของโลก และเป็นบุคคล

มหาเศรษฐีจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 10 ปีเศษ ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ เทียบเท่ากับร้อยละ 38 ของโลก 

เป็นผลงานของ “เติ้ง เสี่ยวผิง” ผู้นำรุ่นที่ 2 ที่เปิดประเทศและใช้ระบบการตลาดมาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นการพลิกโฉมหน้าของจีนจากความยากจนและอดอยากโดยเท่าเทียมกัน

โดยกล่าวไว้ว่า “ต้องยอมปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งรวยขึ้นมาก่อน เพื่อช่วยให้ผู้อื่นรวยตาม และในที่สุดก็จะได้รับอานิสงส์ร่วมกัน

ปีที่แล้ว 2020 ถือเป็นปีที่มีความหมายสำคัญ เป็นปีที่จีนตั้งเป้าจะต้องหลุดพ้นความยากจนอย่างสิ้นเชิงตามแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 13 ของจีน (2016-2020) ซึ่ง 1 ใน 3 เรื่องที่ต้องเอาชนะคือ “การขจัดความยากจนอย่างตรงจุดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” ซึ่งจีนก็ทำได้สำเร็จ

รัฐบาลจีนอ้างว่า ได้ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงในประเทศเมื่อปลายปีที่แล้ว นั่นถือเป็นก้าวแรกในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาระยะยาวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในวาระครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคในเดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา

แต่ในความสำเร็จได้แฝงไว้ด้วยปัญหา นโยบาย “ลูกคนเดียว” ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำมาใช้ในปี 1979 มีผลในการควบคุมจำนวนประชากร วันนี้กลับสร้างปัญหามีประชากรเพศชายมากกว่าหญิง อัตราการเกิดต่ำ และคนจีนยุคใหม่ไม่อยากมีลูก

นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ทำให้คนจีนมีอยู่มีกิน มีทรัพย์สินให้ถือครองในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จในการสร้างงานเพิ่มรายได้แก่ประชาชน สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร 1,400 ล้านคนให้อยู่ดีมีกิน เกิดคนชั้นกลาง340ล้านคนในปี 2021 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 500 ล้านคนในปี 2025 แถมยังมีเศรษฐีมหาเศรษฐีเกิดใหม่ทุกวัน กลายเป็นการสร้าง “ทุนนิยมในสังคมนิยม” เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในด้านโอกาส

ตอนนี้สังคมจีนจึงมี 4 ชนชั้น คือ ชนชั้นล่างที่พ้นขีดความยากจน ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงนายทุนใหญ่ที่ร่ำรวยขึ้นมาในช่วงสั้นๆ และชนชั้นปกครองที่ครองอำนาจมายาวนาน

คนส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ชั้นล่างเริ่มมีความรู้สึกว่า ยากยิ่งนักในการไต่ระดับ เพราะปัจจุบัน “ทุนนิยม” เข้ามาสร้างความเหลื่อล้ำ มีอำนาจในหลายๆ เรื่องในการสร้างข้อจำกัด เช่น การศึกษาในโรงเรียนดีๆ การรักษาพยาบาลที่มีหมอเก่งๆ การประกอบอาชีพที่เข้าถึงอำนาจรัฐ จึงจะมีโอกาสสร้างผลกำไรงาม

สังคมจีนปัจจุบันเห็นว่า การจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ต้องอาศัย “ทุน” ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ค่าครองชีพ  ค่าการศึกษา ค่าที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ เลยกลายเป็นระบบทุนนิยมที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์สังคมนิยมของจีน 

พรรคคอมมิวนิสต์จีนรู้ดีถึงปัญหาดังกล่าว

เพราะได้ชื่อว่า เป็น “พรรรคคอมมิวนิสต์ไฮเทค” เผด็จการด้วยเทคโนโลยี เข้าใจกระแสสังคมจากการวิเคราะห์ข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย เหล่าผู้นำในโพลิตบูโรรู้ว่า วันนี้คนจีนส่วนใหญ่คิดยังไง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในสังคมที่เปิดกว้าง อยากได้รับโอกาสสร้างตัว สร้างฝัน ใช้พลังภาคเอกชน ใช้เทคโนโลยีและกลไกการตลาด สร้างความร่ำรวยแก่ตนเองบ้าง

ทางแก้ปัญหานั้น รัฐบาลจีนไม่อาจยึดทรัพย์สินคนรวยมาช่วยคนจนอย่างสมัยคอมมูน จึงต้องใช้มาตรการป้องกันการผูกขาดการตลาด สร้างการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ไม่ปล่อยให้อำนาจทุนมาอยู่เหนืออำนาจรัฐบาลท้องถิ่น หรือครอบงำหรือท้าทายรัฐบาลกลาง 

ต้องกระจายความมั่งคั่งเพื่อขยายชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้ SMEs ได้เติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จึงเป็นที่มาของคำว่า “ร่ำรวยด้วยกัน” ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ใช้เป็นนโยบายกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมจีนกลายเป็นสังคมที่รวยกระจุก

แนวคิดของรัฐบาลคือ ควบคุมคนบางกลุ่มไม่ให้มีรายได้สูงเกินไป และสนับสนุนให้กลุ่มคนรวย หรือวิสาหกิจเอกชนที่มีผลประกอบการสูงมากให้รู้จัก "คืนกำไรสู่สังคม"

ที่ผ่านมา มหาเศรษฐีหลายคนร่ำรวยขึ้นมาจากการค้าออนไลน์ที่ไม่เสียภาษี และธุรกิจอีกมากมายที่ดูเหมือนผูกขาดการตลาด ไม่เคยมีกิจกรรมเพื่อสังคม ต่อไปคงได้ทำ CSR อย่างที่ผู้ประกอบการในไทยทั้งเล็กและใหญ่รู้สึกว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำแม้จะไม่บังคับขู่เข็ญ

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ที่ผู้นำจีนมีท่าทีดังกล่าวออกมา ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ของประชากรจีนที่เริ่มห่างมากขึ้น โดยเฉพาะช่องว่างความมั่งคั่งระหว่างชาวจีนที่อาศัยในหัวเมืองใหญ่แถบฝั่งตะวันออกของประเทศ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว กับชาวจีนแถบฝั่งตะวันตกของประเทศที่เป็นชนกลุ่มน้อย 

สีจิ้นผิงเผยอีกว่า จีนต้องสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน เพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์รักษาอำนาจไว้ได้ และเปลี่ยนจีนไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ ร่ำรวย และทรงอำนาจภายในปี 2049 ซึ่งตรงกับปีครบรอบ 100 ปีสาธารณรัฐประชาชนจีน

สำหรับไทยแลนด์แดนกะลา ที่เติ้ง เสี่ยวผิง เคยเลือกมาดูงานเป็นประเทศแรกในฐานะต้นแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจ วันผ่านไปกว่า 4 ทศวรรษ ไทยเคยเป็นอย่างไรก็ยังเป็นอย่างนั้น เพราะทุกรัฐบาลท่องคาถา “แก้ปัญหาความยากจน” แต่สุดท้ายปลายทางคือ “บีบให้จนแล้วแจก กดหัวให้โง่แล้วปกครอง ปล่อยให้ป่วยแล้วรักษา ใช้ภาษีที่รีดมาสร้างบุญคุณ”

ความมั่งคั่งในไทยจึงผูกขาดไว้ที่คนกลุ่มเดียว         

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...