ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
คนจีนยุคใหม่ไม่อยากมีลูก
16 ก.ย. 2564

โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

คนจีนยุคใหม่ไม่อยากมีลูก

 

คอลัมน์นี้เคยเขียนถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อช่วงกลางปีที่ประกาศสนับสนุนให้ครอบครัวจีนมีลูกได้สามคน จากเดิมที่เคยควบคุมให้มีลูกได้แค่คนเดียวตั้งแต่ปี 1979 เพราะขณะนั้นประชาชนส่วนใหญ่อดอยากและประเทศผลผลิตด้านการเกษตรต่ำขาดแคลนข้าวปลาอาหาร 

ช่วงแรกที่คุมเข้มนั้น ว่ากันว่าหากสตรีคนไหนเผลอปล่อยตั้งท้องลูกคนที่ 2 ทางการถึงกับบังคับให้ทำแท้ง หรือต่อมาเปลี่ยนเป็นเรียกค่าปรับอัตราสูง

นโยบายลูกคนเดียวของจีนประสบความสำเร็จในการควบคุมจำนวนประชากรในช่วงที่ประเทศกำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ต่อเนื่องจนถึงช่วงที่จีนก้าวกระโดดครั้งใหญ่กลายเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจ เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี จนสามารถนำพาประชาชน 1,400 ล้านคน ก้าวข้ามความยากจนที่ทำให้โลกทึ่ง

แต่ความสำเร็จในช่วง 4 ทศวรรษของการปฏิรูปเศรษฐกิจ กลับพบปัญหาที่ซ่อนอยู่อย่างเงียบๆ คือ “โครงสร้างประชากร” และ “ค่านิยมทางสังคม” ที่เปลี่ยนไป

จีนยุคเก่าเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ใช้แรงงานด้านการเกษตรเป็นหลัก ยังใช้เครื่องจักรน้อยเพราะเทคโนโลยียังล้าหลัง ดังนั้น แม้จะยากจนแต่ครอบครัวจีนส่วนใหญ่ก็อยากมีลูกหลายคนเพื่อให้มีแรงงานเพิ่มมาช่วยทำการเกษตร 

ยิ่งถ้าเป็นพ่อค้าวานิชหรือนักธุรกิจที่มีฐานะอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ จะยิ่งสนับสนุนให้มีลูกมีหลานเพื่อสืบสกุลและขยายธุรกิจการค้าที่มีอยู่ ซึ่งหลายตระกูลในจีนสามารถรักษาและส่งต่อธุรกิจได้ยาวนานจนถึงปัจจุบัน

ช่วงที่จีนปฏิรูปเศรษฐกิจเปิดประเทศรับการลงทุน นายทุนจากทั่วโลกแห่เข้าไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้า  ก็เพราะตอนนั้นจีนมีแรงงานราคาถูกมากมาย กระทั่งต่อมาจีนค่อยๆ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของตนเอง จนมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นพร้อมๆ กับค่าตอบแทนด้านแรงงานที่สูงขึ้น

แม้ระบบการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรของจีนในปัจจุบันก้าวไปสู่การใช้เทคโนโลยีทันสมัย เอา 5G เข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิต ควบคุมคุณภาพ ลดการใช้แรงงานลงได้มาก แต่ภาคธุรกิจกลับเริ่มรู้สึกว่า ขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานฝีมือ

ข้อเท็จจริงคือ ระยะหลังอัตราการเกิดในจีนต่ำลงมาก แม้รัฐบาลจะปลดล็อกนโยบายลูกคนเดียวตั้งแต่ปี 2016  จะส่งเสริมให้มีลูกสองคน จำนวนอาตี๋อาหมวยที่ลืมตาดูโลกในระยะหลังก็แค่ 10 กว่าล้านคนต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบจำนวนประชากร 1,420 ล้านคน

นโยบายลูกคนเดียวที่ตอนแรกคนจีนรู้สึกเป็นการบังคับจิตใจกันเกินไปนั้น แต่สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ความคิดที่จะมีลูกหลายคนในยุคนี้กลายเป็นเรื่องย้อนแย้งกับความเป็นจริง

คนจีนรุ่นใหม่ที่เติบโตภายใต้นโยบายลูกคนเดียวส่วนใหญ่คือ “ลูกโทน” ที่ไร้พี่น้อง มีความเป็นปัจเจกนิยมสูง  คิดถึงตัวเองเป็นหลัก รักอิสระ หากแต่งงานมีสามีหรือภริยาแล้วมักจะไม่อยากมีลูก หรือมีแค่คนเดียวก็พอ เพราะคิดว่ามีภาระมากอยู่แล้ว 

ลูกจีนที่เกิดหลังปี 1990 และ 2000 ส่วนใหญ่รู้สึกว่า ตนเองแบกรับภาระสูงมาก เพราะบิดามารดาของคนรุ่นนี้เข้าสู่วัยเกษียณแล้วต้องรับผิดชอบเลี้ยงดู บางครอบครัวยังมีอากงอาม่า หรือปู่ย่า ตายาย ที่สุขภาพยังดีให้ดูแลเพิ่มอีก  เท่ากับว่า 1 คน ต้องดูแล 6 คน เพราะคนรุ่นนี้ไม่มีพี่น้องมาช่วยแบ่งเบาภาระเหมือนคนยุคก่อนที่มีพี่น้องหลายคน

ดังนั้น หากแต่งงานกับคนที่มีภาระเหมือนกันต้องดูแลพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย อีก 6 คน เท่ากับ 2 สามีภรรยานี้ต้องแบกรับภาระดูแลญาติผู้ใหญ่รวม 12 คน แล้วถ้ามีลูกอีก 1 คน จะยิ่งเพิ่มภาระอีกมหาศาล โดยเฉพาะคนในเมืองนั้น การมีลูก 1 คน คือภาระอันยิ่งใหญ่

คนจีนยุคลูกคนเดียวส่วนใหญ่จะได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดีทั้งการกินการอยู่การศึกษา โดยเฉพาะด้านการศึกษานั้น ในจีนมีการแข่งขันสูงมาก พ่อแม่ยุคใหม่จึงมีค่านิยมว่า เมื่อมีลูกก็จะต้องลงทุนด้านการศึกษาแก่ลูกตั้งแต่ระดับอนุบาล มัธยม จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการต้องลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมราคาแพงในเขตที่มีสถานศึกษาดีๆ เพื่อให้มีชื่อในทะเบียนบ้านเป็นหลักฐานในการส่งลูกเข้าเรียนในสถานศึกษาเป้าหมาย     

กรณีโครงสร้างประชากรจีนปัจจุบันมีเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งมีผลต่อการแต่งงานน้อยลงและช้าลง เพราะผู้หญิงจีนยุคนี้มีการศึกษาดีขึ้น มีหน้าที่การงานดีขึ้น เลือกคู่ครองมากขึ้น หญิงจีนจำนวนไม่น้อยเลือกใช้ชีวิตโสดเพราะเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงผู้ชายก็มีความสุขได้

ส่วนฝ่ายชายแม้อยากจะมีคู่ครองมาเพิ่มไออุ่นใจจะขาด แต่ค่าสินสอดทองหมั้นในจีนยุคนี้ไม่ใช่แค่ “อั่งเปา” แต่ต้องสามารถหาซื้อรถยนต์ราคาแพงให้เจ้าสาวขี่ป้ายแดงในวันแต่งก่อนเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้น ต้องแสวงหาคอนโดฯ ที่ราคาถีบตัวสูงขึ้นทุกวันให้อยู่ หรือถ้าเป็นชนบทนอกจากรถยนต์แล้วก็ต้องมีปัญญาสร้างบ้านเดี่ยวเป็นเรือนหอ จึงจะพาเจ้าสาวเข้าห้องได้ เงื่อนไขเช่นนี้จึงทำให้หนุ่มจีนหลายล้านคนเลือกอยู่เป็นโสดดีกว่า

สามีภรรยาจีนยุคนี้เลือกจะไม่มีลูก เพราะคิดว่าเทียบค่าใช้จ่ายกับรายได้แล้วเหนื่อยสำหรับการเป็นพ่อแม่  คนทำงานในบริษัทใหญ่ในเขตเมืองอาจจะรายได้ดีหน่อย แต่คนในเมืองเล็กจะมีรายได้เล็กตาม คนจบปริญญาตรีเงินเดือนแค่ 3,000 – 5,000 หยวน แต่คอนโดมิเนียมในเมืองนั้น ขั้นต่ำตารางเมตรละ 10,000 หยวน โดยทั่วไปขนาด 100 ตารางเมตร เท่ากับ 1 ล้านหยวน จะซื้อก็ไม่มีเงินเก็บ เพราะต้องจ่ายค่าเช่าห้องที่แสนแพงขึ้นราคาทุกปี จนรัฐบาลเพิ่งออกกฎหมายห้ามขึ้นค่าเช่าเกินปีละ 5%          

นโยบายลูกคนที่สามที่รัฐบาลรณรงค์ตอนนี้มีสิ่งจูงใจตรวจครรภ์ฟรี คลอดลูกฟรี มีเงินพิเศษให้เดือนละ 500 หยวน จนลูกอายุครบ 3 ขวบ แต่ยังไม่เห็นมาตรการอื่นตามออกมา

รัฐบาลจีนประสบความสำเร็จหลายเรื่องที่ขอความร่วมมือจากประชาชน แต่การปั๊มลูกเพิ่มในยุคสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรหรือในโรงงาน และคงต้องรอเวลาวัดผลกันอีกยาวนาน

           

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...