ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ประภาส คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง
15 ก.ย. 2564

ว่ากันว่า การเบิกจ่ายเงินของภาครัฐหรืองบประมาณแผ่นดินนั้น กระเป๋าเงินใบใหญ่อยู่ที่ “กรมบัญชีกลาง” โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลต้องใส่ใจเป็นพิเศษในห้วงวิกฤติโควิด-19 และห้วงวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะจะมีทั้งเงินในงบประมาณและนอกงบประมาณที่จะต้องเบิกจ่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมทั้งการบริหารเงินคงคลังให้อยู่ระดับที่เหมาะสม พร้อมทั้งทางออกเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤติที่ยังยากจะคาดเดาในอนาคต

นี่เองกระมัง จึงเป็นที่มาของเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ คือแต่งตั้งให้ ประภาศ คงเอียด จากผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มือกฎหมายของกระทรวงการคลัง ขึ้นนั่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง แทน ภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง ที่ถูกโยกไปรองปลัดกระทรวงการคลัง และ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ ก็ได้รับเกียรติจากอธิบดีกรมบัญชีกลางคนปัจจุบันที่กล่าวถึงนี้ มาร่วมเป็นแขกรับเชิญพูดคุย พร้อมเปิดปูมหลังกันอย่างเป็นกันเอง

โดยอธิบดีฯ ประภาศ เริ่มบอกเล่าพื้นเพของครอบครัวในวัยเด็กว่า คุณพ่อคุณแม่เป็นคนพื้นเพที่จังหวัดตรัง ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรทำสวนยางและก็ทำนา โดยการทำนาคือปลูกข้าวก็เพื่อมีไว้กินเองในครอบครัว ส่วนที่ไปนำขายเป็นรายได้นั้นจะเป็นการทำสวนยาง นอกจากนั้น ก็ยังมีญาติพี่น้องที่ทำเรือประมงด้วย “สมัยก่อนผมถึงทำเป็นหมด สวนยาง เรือประมงอยู่ในทะเล ทำได้หมด” อธิบดีฯ ประภาศ กล่าว พร้อมกับเปิดเผยต่อไปว่า

“ตอนเรียนหนังสือชั้นประถมก็เรียนที่โรงเรียนบ้านคลองลุ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จนจบประถม 4 สมัยผมยังมีประถมปีที่ 7 อยู่ แต่โรงเรียนที่เรียนมีถึงแค่ประถม 4 ก็เลยมาเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้านคุณยาย ก็อยู่ที่อำเภอกันตังเหมือนกัน แต่อยู่คนละที่ ตอนนั้นต้องใช้เรือในการเดินทาง ไม่มีถนน ลำบากแต่ก็สนุก พี่น้องก็มีทั้งหมด 10 คน ผมเป็นลูกชายคนโต ผู้หญิงตรงกลาง 8 คน คือมีผู้ชายเปิดหัวปิดท้าย เพราะด้วยความที่พ่อแม่อยากได้ลูกผู้ชาย ทีนี้ออกมาผู้หญิงหมด จะปิดอู่ก็ต่อเมื่อได้ลูกผู้ชายคนสุดท้อง ผมกับน้องคนสุดท้องก็ห่างกัน 24 ปี แทบจะเป็นพ่อลูกกันได้เลย” อธิบดีฯ ประภาศ กล่าวอย่างอารมณ์ดี พร้อมกับเปิดเผยต่อไปว่า

เนื่องจากเป็นลูกผู้ชายคนโต ก็ต้องทำงานช่วยพ่อแม่ ดูแลพวกน้องๆ ด้วย ก็เลยมาเรียนประถม 7 โรงเรียนวัดสีหราษฎร์ศรัทธา ตำบลบางเป้า อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พอจบแล้วก็มาเรียนโรงเรียนประจำจังหวัด ชื่อโรงเรียนวิเชียรมาตุ ที่จังหวัดตรัง ในช่วงเรียนจริงๆ ความเป็นอยู่ทางบ้านไม่ได้มีปัญหาเรื่องอาหารการกิน แต่เรื่องการเงินนี่แน่นอน เพราะอาชีพเกษตรกรรายได้น้อย จึงต้องหางานรับจ้างทำไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขับเรือ ขับอะไรต่างๆ  ทำทุกอย่าง

ตอนมาเรียนโรงเรียนวิเชียรมาตุในตัวเมืองก็อาศัยบ้านญาติอยู่ ต้องเดินมาโรงเรียนทุกวัน วันหนึ่งไปกลับประมาณเกือบ 20 กิโล ไป 10 กลับ 10 แล้วเดินทุกวันเลย ผมก็เรียนจนจบมัธยม สมัยนั้นพอจบมัธยมแล้วสามารถทำงานได้ แต่ผมตั้งเป้าอยากเป็นทหาร อยากเป็นนักเรียนเตรียมทหาร คือพ่อแม่จะได้ไม่ต้องมีภาระ แต่พอไปสอบตอนจบ มศ.3 ก็พลาด ผิดหวังกลับไป จะไปเรียนต่อ มศ.4 มศ.5 ก็ไม่อยากเรียนแล้ว ตอนนั้นก็เลยออกทะเลหาปลาไปพักหนึ่ง ท้ายสุดก็มาเรียนโรงเรียนพาณิชย์ ปวช. ด้านบัญชี ซึ่งโรงเรียนเพิ่งจะเปิดเป็นปีแรกเลย เข้าไปตอนแรกยังไม่มีใบอนุญาตด้วยซ้ำไป ที่จังหวัดตรัง โรงเรียนได้รับใบอนุญาตผมก็อยู่ปี 3 แล้ว เริ่มแรกชื่อโรงเรียนพาณิชยการตรัง แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น ตรังบริหารธุรกิจ ซึ่งตอนนี้เลิกไปแล้วไม่มีแล้ว

“ผมเรียนอยู่ 3 ปี จบ ปวช. บัญชีมา ก็ทำให้ผมมีความรู้เรื่องบัญชี ก็เลยรู้สึกว่าชอบ ตอนเรียนก็ชอบวิชาบัญชี พอจบ ปวช. ก็สอบบรรจุข้าราชการเลยตอนนั้นอายุ 18 ย่าง 19 ปี ขึ้นมาสอบ ก.พ.(สอบรรจุเป็นข้าราชการ ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ในตำแหน่งนายตรวจสรรพสามิต นายตรวจสรรพสามิต 1 ก็สอบได้ ผมก็เข้ารับราชการที่กรมสรรพสามิตเลย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2524 จบพาณิชย์ก็ปี 24 และบรรจุทำงานปีนั้นเลย” อธิบดีฯ ประภาศ กล่าว

อธิบดีฯ ประภาศ เล่าต่อว่า ด้วยความที่ยังชอบบัญชีอยู่ ก็มาสมัครเรียนมหาวิทยาลัยรามกำแหง คณะบริหารธุรกิจ สาขาบัญชี ทีนี้ไม่ได้ดูรายละเอียด สาขาบัญชีมีอยู่อย่างหนึ่งคือ ตอนใกล้จบปี 4 ต้องไปฝึกงานที่สำนักงานบัญชี ผมก็คิดว่ามันติดนี่หว่า เรารับราชการแล้วจะไปฝึกงานที่สำนักงานบัญชีก็ไม่ได้ ประกอบกับงานที่ทำเป็นงานปราบปราม จากเด็กพาณิชย์มาทำงานปราบปราม เป็นนายตรวจสรรพสามิต คือจับพวกเหล้าเถื่อน ของเถื่อนทั้งหลาย ก็เลยคิดว่า เปลี่ยนมาเป็นนิติศาสตร์ดีกว่า เริ่มเรียนรหัส 25 จบ 28 สามปีครึ่ง ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 เรียนด้วยตัวเองมาตลอดเลย ไม่เคยนั่งเรียนในมหาวิทยาลัยเพราะอยู่ต่างจังหวัด อยู่ที่สำนักงานสรรพสามิต จังหวัดตรัง บ้านเกิด และก็ทำงานปราบปราม

“ขณะนั้นผมยังเป็นข้าราชการ ซี 2 อยู่ พอจบนิติฯ ผมก็เรียนเนฯ (เนติบัญฑิต) ต่อเลย มาจบเนฯ ปี 29 ทีนี้ก็ขอย้ายเข้ามาอยู่ในกรมสรรพสามิต จากจังหวัดตรังมาอยู่กรุงเทพฯ มาอยู่หอพักแถวกรมสรรพสามิต ราชวัตร และก็ทำงานสรรพสามิต อยู่กรมการเจ้าหน้าที่ มาเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ พอได้เนฯ เรียบร้อยแล้ว หลังจากได้ ซี3 ก็ได้ย้ายมาเป็นนิติกรของกรมสรรพสามิต ในช่วงเวลานั้นทำงานที่กรมสรรพสามิตก็สนุกนะ เลื่อนขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็น ซี 7 ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ก็ถือว่าเร็วนะ”

อย่างไรก็ตาม อธิบดีฯ ประภาศ กล่าวด้วยว่า “แต่มันก็มีช่วงผกผันในชีวิต ตรงที่ว่า ช่วงที่เป็นนิติกรอยู่ มีการสอบทุนไปเรียนต่างประเทศของกระทรวงการคลัง ผมก็สนใจ โดยพื้นฐานผมชอบเรียนภาษาอยู่แล้ว ก็ไปฟิตเรียนภาษาอังกฤษจนสอบทุนไปเรียนต่างประเทศได้ พอสอบทุนได้แล้วก็ต้องไปสอบโทเฟลเพื่อที่จะเอาคะแนนให้สูงที่สุดเพื่อจะเรียนมหาวิทยาลัยในระดับท๊อปๆ ท้ายสุดก็สอบได้ 600 กว่าแต้ม ได้ requirement ของระดับท๊อป ผมก็เลย apply ไปที่ Harward Law School ในสาขากฏหมายภาษีระหว่างประเทศ คือเรียนควบสองอย่าง เป็น International Tax Program Certificate และบวกด้วย Master of Law เพราะฉะนั้น คุณวุฒิของผมก็จะเป็น ITP อยู่ข้างหน้า คือ International Tax Program Certificate  และทับด้วย LL.M หรือ Master of Law พอจบกลับมา ใช้ทุนของกระทวงการคลังก็ใช้ที่กรมสรรพสามิตนี่แหละ”

สำหรับการข้ามห้วยมาเป็นผู้พิพากษา อธิบดีฯ ประภาศ เล่าว่า เป็นเพราะการที่ได้ไปเรียนต่างประเทศ แล้วมีพื้นฐานเรื่องกฎหมายภาษีอากร เลยคิดว่าถ้าทำงานที่กรมสรรพสามิตจะแคบ ก็คิดอยากโอนไปอยู่กรมสรรพากร เพราะมีผู้ใหญ่ที่กรมสรรพากรอยากให้ย้ายไปเพื่อใช้ความรู้ Inter Tax โดยตรง แต่ว่าช่วงเวลาเดียวกันศาลก็มีการปรับฐานเงินเดือนใหม่

“ตอนนั้นผมรับเงินเดือนหมื่นกว่าบาทเอง เป็น ซี 7 แต่ถ้าไปอยู่ศาลช่วงเวลาก่อนอบรม ผ่านเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาปีกว่าๆ เงินเดือนก็ปาไปสามหมื่นกว่าแล้ว ก็เลยมาสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา โชคดีสอบได้ ก็เป็นผู้พิพากษา รวมแล้วทำงานอยู่ที่กรมสรรพสามิต 17 ปี จากอายุ 18 ย่าง 19 ไปอยู่ศาลตอน 35

“ผมอบรมผู้ช่วยฯ อยู่ 1 ปี แล้วก็ได้โปรดเกล้าฯ เป็นผู้พิพากษา ผมอยู่ที่ศาลแพ่ง ศาลอาญา และหลังจากนั้นผู้ใหญ่เห็นว่า ผมมีความเชี่ยวชาญหรือถนัดด้านภาษี ผ่านประสบการณ์ด้านภาษีมา ก็เลยแต่งตั้งให้มาเป็นผู้พิพากษาอยู่ที่ศาลภาษีอากรกลาง ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่สูงที่สุด คือได้ทำเรื่องภาษีทุกประเภทเลย ตั้งแต่ภาษีของกรมสรรพากร ซึ่งเยอะที่สุด ศุลกากรรองลงมา ที่สำคัญคือภาษีท้องถิ่น ภาษีท้องที่ ภาษีป้าย นั่นก็เยอะ เลยได้ทำงานภาษีครบเครื่องทุกรูปแบบ”

นอกจากนี้ ก็ชอบเรื่องการสอน ตอนอยู่กรมสรรพสามิตก็เคยเป็นวิทยากร พอมาอยู่ศาลก็ไม่ได้เป็นวิทยากรอย่างเดียว ไปสอนมหาวิทยาลัย ท้ายสุดไปสอนที่รามคำแห่ง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ หอการค้า เอแบค เกษตรศาตร์ ม.ราชมงคล ธัญบุรี มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด แม่ฟ้าหลวงก็ไป ถึงตอนนี้ก็ยังสอน แต่สอนเฉพาะปริญญาโท ก็มี 4 ที่หลักๆ คือ จุฬา ปริญญาโทคณะนิติศาสตร์จุฬาสาขาภาษีอากร ธรรมศาสตร์ ปริญญาโทสาขากฎหมายภาษีอากร ปริญญาโทที่รามคำแห่งก็สาขากฎหมายภาษีอากร รวมทั้งที่มหาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย

“ผมอยู่ที่ศาลภาษีอากรกลางประมาณ 11 ปี อยู่ที่ศาลอื่นอีก 2 ปี รวมแล้วก็ 13 เกือบ 14 ปี ผมก็คิดว่าเราก็อยู่ใน area ภาษี ถ้าอยู่อย่างนี้ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในทางภาษีอากร ก็มีผู้ใหญ่ที่กระทรวงการคลัง สมัยนั้นก็ปลัดกระทรวงการคลัง ท่านอารีย์พงศ์ ( อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม) เป็นอดีตผู้ใหญ่ที่เคารพกัน ท่านก็ถามว่าโอนกลับมาเป็นที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงไหม ซึ่รึ่งงตอนนั้นว่างพอดี ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงก็ระดับ 10 ก็เท่ากับนิติกร 10 ผมก็คิดละ จากผู้พิพากษามาเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ก็คิดหนักนะ แต่ท้ายสุดก็โอนกลับมาที่กระทรวงการคลัง มาเป็นที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงการคลังในปี 2555 แต่ว่า process มีมานานตั้งแต่ปี 53 หรือ 52 ปลายๆ ด้วยซ้ำไป กว่า process จะกลับมาได้ เพราะมีกระบวนการเยอะ ก็กลับมาในเดือนตุลาคม ปี 2555 ก็อยู่กระทรวงการคลังจนถึงปัจจุบัน”

อธิบดีฯ ประภาศ เล่าด้วยว่า เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ในแวดวงก็เชื่อมั่น โดยเป็นที่ปรึกษาที่ถูกใช้งานมากที่สุดต่อมารับลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และขึ้นมารองปลัดการคลัง คุมกลุ่มภารกิจด้านรายได้ คือดูแลกรมจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่เชี่ยวชาญโดยตรง และออกมาเป็นอธิบดีถึง 2 กรม กรมแรก คือสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ คือดูแลเกี่ยวกับหนี้ เงินกู้ หนี้สาธารณะของประเทศ กรมที่ 2 คือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ประมาณ 2 ปีครึ่ง ทำให้มีประสบการณ์ในเรื่องวิสาหกิจพอสมควร ท้ายสุดปัจจุบัน ก็มาเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งมารับตำแหน่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 วันที่ 18 กุมภาพันธ์

อธิบดีฯ ประภาศ เล่าให้ฟังด้วยว่าในช่วงดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา มีคดีสำคัญที่ถือเป็นความภาคภูมิใจ เรื่องหนึ่งคือ “เรื่องของศุลกากร กรณีที่มีการนำสินค้าเข้า นอกจากจะจ่ายเงินค่าสินค้าแล้ว ยังมีการจ่ายเงินค่าสิทธิหรือค่า royalty ออกไปต่างประเทศด้วย เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องของ Custom Valuation ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ของ WTO หรือองค์การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าเราตัดสินว่า เอาค่าสิทธิมารวม ทำให้เสียภาษีมากขึ้น เขาก็จะเอาไปฟ้อง WTO ประเทศไทยไม่ comply กฏเกณฑ์ แล้วก็จะถูกตัดความเชื่อมั่นในทางการค้า การลงทุน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคดีภาษีเป็นเรื่องท้าทาย ไม่ใช่มองแค่ในบริบทของภาษาไทย แต่ต้องมองถึงเจตนารมณ์ ที่มาและกฏเกณฑ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย ที่เราจะต้องนำมากำหนดไว้ในกฏหมายไทย คดีนี้ถือเป็นต้นแบบที่ทำให้เกิดการพัฒนาสอดคล้องกับ WTO ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมการภาษีอากรของไทยมาจนทุกวันนี้” อธิบดีฯ ประภาศ กล่าว

เมื่อถามถึงการเข้ามารับหน้าที่อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นอย่างไรบ้างครับ อธิบดีฯ ประภาศ บอกว่า “ถือเป็นประสบการณ์ที่โชคดีของผมอย่างหนึ่ง ตอนแรกผมก็คิดว่า ดูแลเรื่องจ่ายเงินน่าจะเน้นเรื่องบัญชี เพราะชื่อคือกรมบัญชี แต่พอมาอยู่จริงๆ กลายเป็นกรมที่ใช้กฎหมายเกินกว่า 80% แล้วมีงานที่หลากหลายมาก งานที่เป็นประเด็นมากที่สุด คือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง แล้ว พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ ความรับผิดการละเมิดเรื่องดูแลกองทุนหมุนเวียนต่างๆ ก็มาอยู่ที่บัญชีกลาง ขณะที่งานหลักคือเบิกจ่ายเงิน ซึ่งเป็นระบบงานประจำ เรามีระบบ GSMIS อยู่แล้ว แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งจะต้องมีการปรับปรุง คือเรื่องของสวัสดิการข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าพยาบาล เรื่องของบำเหน็จ บำนาญ ของข้าราชการทั้งหมด เพราะกรมบัญชีกลางเป็นผู้ออกกฎที่ใช้กับหน่วยราชการทั้งหมด ซึ่งมีหลายส่วน เช่น เรื่องการเบิกค่าเช่าบ้าน เบิกเงินอะไรต่างๆ ที่เป็นสวัสดิการ แล้วกฎหมายกระจัดกระจายอยุ่หลากหลายมาก แล้วบางอย่างก็ค่อนข้างล้าสมัย อันนี้จะต้องปรับอีกเยอะเลยครับ หลายส่วนครับ”

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่สำคัญที่สุดของบัญชีกลางในระบบเศรษฐกิจก็คือ เรื่องจ่ายเงิน เพราะถ้าเกิดจ่ายเงินออกไปในระบบเศรษฐกิจช้า เงินก็จะหมุนช้า เงินอยู่ในคลังเยอะก็ไม่ใช่เป็นประโยชน์ ดังนั้น สำคัญที่สุดขับเคลื่อนเรื่องการเบิกจ่ายให้เร็วที่สุด

อธิบดีฯ ประภาศ บอกด้วยว่า ประเด็นการอุทธรณ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังแก้ไข เพราะบางครั้ง การอุทธรณ์ทำเพื่อไปเพื่อประวิงให้โครงการล่าช้า ซึ่งได้เสนอแก้ไขกฎหมายไปแล้วอยู่ระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกำลังพิจารณา คือต้องมีการวางประกัน หากเป็นการประวิงเวลาทำให้โครงการเสียหายล่าช้า ให้ศาลมีอำนาจริบเงินประกัน คือต้องให้มีบทลงโทษ

สำหรับเรื่องของครอบครัว อธิบดีฯ ประภาศ บอกว่า แต่งงานตั้งแต่ 30 ต้นๆ 32-33 ภรรยาปัจจุบันก็เป็นแม่บ้านมีลูกสาวเพียงคนเดียว ชื่อ ผทัยมาศ คงเอียด โดยอธิบดีฯ ประภาศ เล่าถึงความภูมิใจในลูกสาวคนเดียวนี้ว่า ตอนแรกก็เรียนสายวิทย์ ที่สามเสนวิทยาลัย ไม่ได้คิดมาด้านกฎหมายแบบบิดาแต่อย่างใด แต่พอขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทำให้เธอเปลี่ยนใจ เพราะไปประกวดเรียงความแล้วได้รางวัล ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนมาเรียนนิติศาสตร์อย่างพ่ก็อบ้าง เธอก็เลยวางแผนเตรียมตัวเข้าเรียนนิติศาสตร์มาตั้งแต่ตอนนั้น พอจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ได้เข้าไปเรียนนิติศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ และจบได้เกียรตินิยมเหมือนกัน แล้วก็จบเนติบัณฑิตด้วย

ต่อจากนั้นก็ไปเรียนที่อังกฤษด้าน TAX ด้านทำธุรกรรมการโอนระหว่างประเทศ ที่King College มหาลัยลอนดอน แล้วก็เรียนปีแรกใบแรกจบแล้ว จะเรียนใบสองพอดีติดโควิด ก็เลยกลับมา แล้วก็มาทำงาน เขาก็ไม่อยากรับราชการ เขาปัจจุบันทำงานเอกชนอยู่ที่ Deloitte เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงที่เกี่ยวกับด้านกฎหมายและบัญชี ด้านธรุกรรมการถ่ายโอนกำไรกันระหว่างประเทศ ก็ทำงานอยู่ทีนี่มา 2 ปีแล้ว

เห็นที่เล่ามามีแต่เรื่องเรียนเรื่องการทำงาน เรื่องการศึกษา เวลาพักผ่อนหรือเวลาว่างท่านทำอะไรบ้างไหมครับ อธิบดีฯ ประภาส บอกว่า ที่ชอบมากที่สุดคือการปั่นจักรยาน ตอนนื้ก็วิ่งในหมู่บ้าน เดินเร็วบ้าง บางทีถ้าไม่สะดวกก็จะมีเครื่องปั่นอยู่ที่บ้าน แต่ตอนนี้ที่ชอบมากที่สุดคือการปั่นจักรยาน ไปสนามที่สุวรรณภูมิหรือในหมู่บ้าน ด้านบันเทิงก็ชอบร้องเพลง โดยเฉพาะร้องเพลงลูกทุ่ง แล้วก็ร้องเพลงคาราโอเกะ คือร้องเพลงไปเรื่อย

ส่วนหลักการหรืออุดมคติในการดำเนินชีวิต อธิบดีฯ ประภาศ บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดตั้งแต่เล็กจนโต ชอบที่สุดคือ พุทธพจน์  วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ หรือบุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร หมายถึง คนเราจะผ่านพ้นความยากลำบากได้เพราะความเพียร ผมเชื่อว่า ทุกคนต้องมีความมุ่งมั่นและแสวงหาโอกาส คือในเรื่องการเรียนผมคิดว่าอันนี้มีเป้าหมายและความมุ่งมั่นและทุ่มเทในทุกๆ อย่าง

“คือผมจะมีความมุ่งมั่นในเรื่องของการเรียน การทำงาน แล้วก็ใช้ความพยายาม แม้จะประสบปัญหาอะไรบ้าง ผมจะเป็นคนไม่ย่อท้อกับปัญหา คือชอบแก้ปัญหา เพราะผมเชื่อว่า ปัญหาทุกอย่างอยู่ในวิสัยที่แก้ได้ นั่นคือสิ่งที่คิดมาตลอดครับ ไม่มีปัญหาอะไรที่เกินวิสัยที่เราจะแก้ แล้วถ้าเกิดความทุกข์ก็ต้องแก้ที่ตัวเรา เหมือนพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ถ้าทุกข์ ถ้าเป็นปัจจัยภายนอกที่มันเป็นเรื่องเกิดจากปัจจัยภายนอก ถ้าเราเอาปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้มาคิด เราก็เกิดความทุกข์ ถ้างั้นก็ปล่อยวางมัน ถ้าเป็นปัจจัยอะไรที่เกิดจากตัวเรา หรือปัจจัยภายในที่เราทำได้เพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ อันนี้เราต้องทำก่อน แล้วอย่าเอาปัจจัยภายนอกเกินวิสัยมาเป็นความทุกข์ของเรา”

            อย่างไรก็ตาม หลังเกษียณราชการในปีหน้า อธิบดีฯ ประภาศ บอกว่า จะขอทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านภาษีอากรที่มีความเชี่ยวชาญต่อไป ทั้งในแวดวงการศึกษาที่เป็นอาจารย์สอนอยู่หลายแห่งและกับสังคมทั่วไปโดยกล่าวว่า “ที่สำคัญจะใช้ความรู้นี้สร้างจิตสำนึก ความเข้าใจในเรื่องของภาษีอากรให้กับสังคมให้มากที่สุด นั่นคือสิ่งที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ก็ยังเน้นการทำงานให้กับทางภาครัฐเป็นสำคัญ” อธิบดีฯ ประภาศ กล่าวในที่สุด

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...