ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ไม่อยากอยู่เงียบๆ คนเดียว
17 ก.ค. 2564

#CSRcontent 

โดย มนวิภา จูภิบาล : กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

ไม่อยากอยู่เงียบๆ คนเดียว

ความคิดและความรู้สึกแวบแรก เมื่อได้ยินชื่อองค์กรใดองค์กรหนึ่ง นั่นคือ perception ของคุณที่มีต่อองค์กรนั้น ที่มักจะส่งผลต่อการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ การบริโภคสินค้าหรือบริการ หรือการสื่อสารออกไปสู่สาธารณะ แต่ละองค์กรมักจะกำหนดอนาคตและวัตถุประสงค์ของแบรนด์องค์กรไว้เด่นชัด และสอดคล้องกับกลยุทธ์และทิศทางการเติบโตขององค์กร

เพียงเท่านั้น พอหรือไม่กับการเติบโตอย่างยั่งยืน อันที่จริงมีสิ่งหนึ่งที่อาจจะดู sexy น้อยกว่าคำว่าแบรนด์ แต่กลับทรงพลัง นั่นคือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance: CG) ที่รวมถึง CSR ความรับผิดชอบต่อสังคม ผู้ที่มีบทบาทหลักในการสร้างให้เกิดขึ้นคือคณะกรรมการบริษัทซึ่งมีหน้าที่ (fiduciary duty) ในการส่งเสริมองค์กรให้มีความสำเร็จทางธุรกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย หาไม่แล้วชื่อเสียงแบรนด์ที่คิดว่าแข็งแกร่งและสั่งสมมายาวนานก็อาจพังทลายได้ในพริบตา กรรมการจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า เข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดไม่ผิวเผิน เข้าใจความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในธุรกิจและในห่วงโซ่อุปทาน  และมีการรายงานอย่างโปร่งใส  

ธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญกับหลักการ ESG (Environmental, Social, Governance) สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ESG เป็นปัจจัยร่วมในการตัดสินใจของกรรมการ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบริษัทหรือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ประเทศไทยก็เช่นกัน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้นำแนวทาง ESG มาใช้อย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนเป็นแนวปฏิบัติ       

ยิ่งกว่านั้น ยังคำนึงถึงเจ้าของเงินลงทุนที่พึงได้รับประโยชน์จากการลงทุนในธุรกิจที่ใส่ใจ ESG อันส่งผลดีต่อมูลค่าบริษัทในระยะยาวด้วย ในปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้ประกาศ I Code (Investment Governance Code) หรือหลักธรรมาภิบาลการลงทุน เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้ลงทุนสถาบันที่ต้องบริหารการลงทุนอย่างรับผิดชอบ อันจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของสถาบันที่รับจัดการเงินลงทุนให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

วิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดธุรกิจนวัตกรรม สตาร์ทอัพ รวมทั้งความสนใจด้านการพัฒนางานวิจัยนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ องค์กรธุรกิจปรับเพิ่มโครงการ CSR กันอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันกับการตอบสนองความต้องการด้านสาธารณสุขและปากท้องของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ทิศทางของ CSR จึงมุ่งสู่ trend การออกแบบ การพัฒนา และการใช้นวัตกรรม และที่เห็นได้ชัดคือ องค์กรธุรกิจไม่ทำโครงการ CSR โดยลำพัง แต่มีการผสมผสานองค์ความรู้ ศักยภาพ และทรัพยากรข้ามหน่วยงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด

ตัวอย่างเช่น AIS ร่วมกับโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการแก้ปัญหาสุขภาพจิตคนไทย บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในภารกิจสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในเรื่องการฉีดวัคซีน การสื่อสารกับคนไข้ การบันทึกข้อมูลของคนไข้ซึ่งช่วยรักษาระยะห่าง และร่วมโครงการวิจัยการใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย      

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช  โดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ออกแบบและพัฒนากล่องกรองอากาศของอุปกรณ์ PAPR ต้นแบบ ขึ้นรูปด้วย 3D Printing ซึ่งเป็นชุดอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานสูงใช้ในห้องผ่าตัดเพื่อป้องกันบุคลากรจากการติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนั้น ยังร่วมกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ในโปรแกรม dEXponential Sandbox ค้นหาไอเดียจากคนรุ่นใหม่ นำพลาสติกใช้แล้วมาจัดการอย่างครบวงจรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนาแอพพลิเคชั่น Rama App และ Siriraj Connect ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Telemedicine ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล

สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ประกาศความร่วมมือระหว่างแพทยสภาและองค์กรพันธมิตรด้านเทคโนโลยี พัฒนาโซลูชันอัจฉริยะช่วยแบ่งเบาภาระแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลสนาม เครือข่ายองค์กรเอกชนสนับสนุนภาครัฐและกรุงเทพมหานครในโครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย” กระจายพื้นที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล จำนวน 25 จุด อำนวยความสะดวกให้ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงสูงสุด เป็นต้น     และนอกจากองค์กรขนาดใหญ่แล้ว คนไทยที่รวมกลุ่มกันด้วยสัมพันธภาพส่วนตัวก็ลุกขึ้นมาแสดงบทบาทในการช่วยเหลือประเทศผ่าน CSR กันอย่างเข้มข้นตั้งแต่วิกฤตโควิดระลอกที่ 1 ทั้งบริจาคเงิน อาหาร จัดหาชุด PPE หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งช่วงนั้นขาดแคลนและราคาสูงราวกับอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 

ในประวัติศาสตร์ของ CSR ครั้งแรกที่เห็นภาพการผนึกกำลังอย่างใจจดใจจ่อของคนไทยทั้งประเทศก็คือ ช่วงสึนามิ ปี 2547 น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 และก็มาถึงโควิด-19 ในปี 2563 ต่อเนื่องถึง 2564 ที่ต้องจารึกไว้อีกหน้าหนึ่ง     

 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป ในช่วงโควิด-19 พบว่า นวัตกรรมที่ประชาชนต้องการมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ 1.นวัตกรรมเพื่อการเพิ่มรายได้ 21.7% เนื่องจากเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และหนทางทำมาหากินได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงต้องการแนวทางสร้างรายได้ที่เป็นรูปธรรม และสามารถเข้าถึงระบบการเงินที่ทำให้เกิดสภาพคล่อง 2. นวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ19.6% ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ภาพความเหลื่อมล้ำของคนในชาติเด่นชัดขึ้นในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการ โอกาสการเข้าถึงทางการแพทย์ และระบบการศึกษา จึงมุ่งหวังให้มีการผลักดันนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในระดับมหภาค ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมไทยในอนาคต และ 3. การปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ 15% หากข้อจำกัดของกฎระเบียบต่างๆ ถูกปลดล็อกได้มากขึ้น จะช่วยสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีบทบาทในภาคเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ที่สร้างคุณค่าและมูลค่าได้อย่างมีนัยสำคัญ

เป็นไอเดียให้องค์กรเล็กใหญ่หยิบไปทำ CSR ให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมอย่างทันท่วงที

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...