วันนี้(29 พ.ค.68) เวลา 09.30 น. ที่ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมศรีอู่ทองแกรนด์ จังหวัดสุพรรณบุรี นางอภิญญา เอี่ยมอำภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ป็นประธานเปิดเวที “สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน” ระดับเขต 5 และ 6 “Smart Aging Society : Together, We can”ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2568 พร้อมกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเปิดงานประชุมเวที "สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน" ระดับเขต 5 และ 6 ทั้งจำนวน 16 จังหวัด โดยจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เป็นเจ้าภาพของการประชุม โดยเป็นผู้แทนของภาคกลางและภาคตะวันออก จากภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนหลักสำหรับการรองรับสังคมสูงวัยทั้งหมด 16 จังหวัด
สืบเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว และกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอีกไม่ช้านี้ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรนี้ถือเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงชุมชนและท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งสำคัญนี้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม “สังคมสูงวัย” จึงเป็นวาระแห่งชาติสำคัญ ที่ต้องร่วมกันวางแนวทางและนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัยในสังคม ที่เรากำลังอยู่ในยุค “สังคมสูงวัย” ทำให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีสุขภาพที่ดีไปยาวนาน และมีผู้สูงอายุเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคมร่วมกับคนทุกวัย
สถานการณ์ผู้สูงอายุจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นไปในทิศทางเดียวกับระดับประเทศจังหวัดสุพรรณบุรีเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 (มีผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 20.12) โดยปัจจุบัน ณ ข้อมูล ณ ต้นเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2568 มีผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไปของประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 21.90 ของจังหวัดสุพรรณบุรี มีผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 28.06 ซึ่งสูงกว่าระดับประเทศมาก (ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ 11 พฤษภาคม 2568) และสถานการณ์อัตราการเกิดที่ลดลงและผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานมีแรงกดดันมากขึ้น ผลกระทบดังกล่าว มีผลต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน วิกฤตการคลังจากการที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินสวัสดิการผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น สวนทางกับการเก็บภาษีที่ลดลง
ทั้งนี้เพื่อลดภาวะวิกฤตในสังคมผู้สูงวัยที่จะมาถึง องค์การอนามัยโลกได้แนะนำ 3 องค์ประกอบสำคัญสำหรับปรับใช้กับสังคมผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่
๑) ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทุกคนมีสุขภาพดี
๒) ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทุกคนมีหลักประกันและความมั่นคงในชีวิต
๓) ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยได้มีส่วนร่วมและมีคุณค่าทางสังคม เป็นส่วนหนึ่งของกำลังแรงงาน มีรายได้ที่คุ้มค่า โดยเน้นให้ คนทุกช่วงวัยได้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจในสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกยุคสมัย
ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญที่ต้องการการวางแผนอย่างเป็นระบบและเตรียมทรัพยากรต่าง ๆ สำหรับรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยในแต่ละระดับของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เขต 5, 6 ของเรา
การประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของการเตรียมการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ทั้ง 16 จังหวัดที่จะได้มาร่วมแลกเปลี่ยนกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนานโยบายและมาตรการที่ตอบสนองต่อความต้องการของทุกคนในพื้นที่ของเราได้อย่างตรงจุด และสร้างสรรค์สังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนทุกวัยอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ
ทั้งนี้ นายแพทย์อภิชาต รอดสม รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวต้อนรับและวัตถุประสงค์ของโครงการ พร้อมการปาฐกถาพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิอีกมากมาย โดยมี นายแพทย์รัฐพล เวทสรณสุทธี นายแพทย์สาธรณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมภาคีเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 5และ 6 เข้าร่วมประชุมด้วย