ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ปัญหาใหญ่ กสทช. !!!? ปัญหา ยื้อเก้าอี้ ..
21 พ.ค. 2568

ปัญหาใหญ่ กสทช. !!!? 

ปัญหา “ยื้อเก้าอี้” ...

บนผลประโยชน์มหาศาล

          ในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา พลันที่ ... ข่าว “ตุลาการ (ศาลปกครอง) ผู้แถลงคดีชี้ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ละเลยการปฏิบัติหน้าที่” ถูกเปิดเผยออกมาหน้าสื่อหลายแห่ง ....!!!

แน่นอนว่า การจับจ้องไปยังองค์กรอิสระแห่งนี้ ย่อมทวีความร้อนแรงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยอีกครั้ง …?? แม้ประเด็นถ้อยแถลงครั้งนี้ จะไม่ใช่คำพิพากษาก็ตาม ก็แต่ทำให้สั่นสะเทือนไปถึงหัวขบวนได้

จากคำแถลงสรุปประเด็นได้ว่า หนึ่ง กรณี ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ไม่ลงนามในคำสั่งที่เป็นไปตามมติคณะกรรมการ ทั้งในเรื่องการสอบสวนทางวินัยและการเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ ถือเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้กำหนดให้ กสทช. เป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินการโดยระบบคณะกรรมการร่วม ซึ่งประธานไม่มีอำนาจตัดสินใจเพียงลำพัง เว้นแต่ได้รับมอบหมายอย่างถูกต้องตามขั้นตอนทางกฎหมาย มติของคณะกรรมการจึงมีผลผูกพันสูงสุดในทางปฏิบัติ

สอง มติของที่ประชุมครั้งที่ 13/2566 วาระ 5.22 ซึ่งเสนอแต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูมิศิษฐ์ ให้รักษาการแทนนั้น ยังไม่ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน การที่ประธาน กสทช. ไม่ดำเนินการแม้มีหนังสือแจ้งเตือนถึงสองครั้ง จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

จากข้อวินิจฉัยดังกล่าว ตุลาการผู้แถลงคดีเสนอให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการ กสทช. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่มีคำพิพากษา ได้แก่ 1.ถอดถอน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. 2. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายไตรรัตน์ให้เป็นไปตามมติที่ประชุม และ 3 .สำหรับกรณีการแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูมิศิษฐ์ ซึ่งได้เกษียณอายุราชการแล้ว เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีคำสั่งบังคับอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ไปที่มา หากติดตามข่าวสารขององค์กรแห่งนี้มาอย่างต่อเนื่อง จะพบเหตุแห่งความสงสัยนี้ ก่อตัวขึ้นมาเป็นระยะ นับแต่ “นายฐากร ตัณฑสิทธิ์” อดีตเลขาธิการ กสทช. ลาออก เมื่อปี 2563 เพื่อขยับตัวเองขึ้นไปเป็นบอร์ด กสทช. แต่ก็ต้องผิดหวัง

ชื่อของ “นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” รองเลขาธิการ สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร ในขณะนั้น ก็โดดเด่นขึ้น เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นรักษาอย่าการเลขาธิการ กสทช. (กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง) ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2563 แทน

บทบาทของ นายไตรรัตน์ จึงเข้ามาเกี่ยวพันกับ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ในเวลาต่อมาอีกหลายเรื่อง ที่ได้กลายเป็นปมขัดแย้งกับบอร์ดอย่างรื้อรัง อยากจะหาข้อยุติได้ จึงเป็นสิ่งที่ได้เห็นคือ การประชุมบอร์ดหลายครั้งต้องล่ม

และเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 66 ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ได้มีการประชุมลับ เพื่อพิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก และมีมติเสียงข้างมากให้ นายไตรรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรักษาเลขาธิการ กสทช. และมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ กรณีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกด้วย พร้อมทั้งมีมติแต่งตั้งให้ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รักษาการเลขาธิการ กสทช.แทน

แต่ก็ถูกสกัด ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประธานฯ และรักษาการฯ อย่างมีนัย โดยข่าววงใน กสทช. ระบุว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ การที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ ประธาน กสทช. ไม่ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งพนักงานเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และการที่เลขานุการประจำประธาน กสทช. ออกประกาศยืนยันว่า นายไตรรัตน์ ยังไม่พ้นจากรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.นั้น เป็นการละเมิดต่อมติบอร์ด กสทช. และยกเอาอำนาจประธาน กสทช.ให้เหนือกว่า บอร์ด กสทช. ทั้งที่ตามกฎหมายและระเบียบแล้ว ประธาน กสทช.มีหน้าที่ปฏิบัติตามมติบอร์ด กสทช.

นอกจากนี้ ยังอาจเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายไตรรัตน์ ในช่วงที่กำลังมีการสรรหาเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ซึ่ง นายไตรรัตน์ ได้สมัครเข้ารับการสรรหาด้วย เพราะหากไม่มีผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รักษาเลขาธิการ กสทช.แทน ก็จะไม่มีผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ นายไตรรัตน์ ตามมติบอร์ด กสทช.ได้ เพราะการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ เป็นอำนาจของเลขาธิการ กสทช. โดยที่ นายไตรรัตน์ ไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ สอบตัวเองได้

สำหรับ บอร์ด กสทช. 4 คน มีมติให้ นายไตรรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ ประกอบด้วย พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกระจายเสียง), ศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร (ด้านโทรทัศน์), รอง ศ.ดร.ศุภัช ศุภชัลาศัย (ด้านเศรษฐศาสตร์) และ รอง ศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ (ด้านกิจการโทรคมนาคม)

ส่วนบอร์ด กสทช. 2 คน งดออกเสียง ศ.คลินิก นพ.สรณ และ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านส่งเสริมเสรีภาพประชาชน) ส่วน 1 เสียงที่ให้ นายไตรรัตน์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช.เช่นเดิม ได้แก่ พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร (ด้านกฎหมาย)

ส่งผลให้นายไตรรัตน์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ต่อบอร์ดกับพวกรวม 5 คน ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, นางสาวพิรงรอง รามสูต, นายศุภัช ศุภชลาศัย, รองศาสตราจารย์ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ และนายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ (รองเลขาธิการ กสทช.) ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ท้ายสุด ศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องประด็นดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลมีคำวิจฉัยออกมา พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ได้เสนอต่อที่ประชุมเพื่อขอให้ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.พิจารณาดำเนินการตามมติที่ประชุม กสทช. ดังนี้

1. เปลี่ยนตัว รองเลขาธิการฯ รักษาการแทนเลขาธิการ ซึ่งคือนายไตรรัตน์จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น

2. แต่งตั้งรองเลขาธิการ กสทช.สายงานกระจายเสียงฯ ได้แก่ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ ขึ้นเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการฯ และ 3. สำนักงาน กสทช.ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ตามระเบียบการบริหารงานบุคคลฯ

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า ตามข้อเท็จจริงแล้ว นายไตรรัตน์ ได้หมดสัญญาไปแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา แต่ยังคงมีความพยายามยื้อตำแหน่งออกไปอีก โดยการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ที่มีวาระ การแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการ กสทช. แทน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ที่สิ้นสุดวาระและถูกศาลยกฟ้องไปแล้วในคดีฟ้องร้องระงับมติ กสทช. เมื่อปี 2566 ซึ่งทำให้มติให้เปลี่ยนตัวรักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ชอบด้วยกฎหมาย

แต่ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กลับตัดสินใจสั่งพักประชุมเนื่องจากเหตุไฟฟ้าดับ และในเวลาต่อมาก็ประกาศยกเลิกการประชุมทั้งหมด ท่ามกลางเสียงคัดค้านจาก กรรมการ กสทช. หลายคนที่ยืนยันว่ามีวาระสำคัญรอการพิจารณาถึง 34 เรื่อง ซึ่งบางวาระค้างมาเกินหนึ่งปี

โดยแหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่า เผยว่า นั่นเป็นเพราะ ประธาน กสทช. ทราบว่า มีแนวโน้มที่ กรรมการ กสทช. เสียงข้างมากจะทักท้วงกรณีไม่ยอมบรรจุวาระสำคัญเรื่องการแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการ กสทช. แทน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล

ปมปัญหานี้ยิ่งซับซ้อนเมื่อปรากฏว่า ประธาน กสทช. กลับอนุมัติให้ นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม ลงนามต่อสัญญาให้กับ นายไตรรัตน์ ทั้งยังให้ นายไตรรัตน์ ลงนามต่อสัญญากลับให้ นายสุทธิศักดิ์ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช. ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผิดระเบียบอย่างชัดเจน ของระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของ กสทช. ที่กำหนดให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมก่อนเสมอ

ทั้งนี้ แหล่งข่าวยังระบุว่า การดำเนินการครั้งนี้ เป็นการใช้อำนาจของ ประธาน กสทช. แบบเบ็ดเสร็จ โดยอ้างว่าในฐานะผู้บังคับบัญชาของสำนักงาน กสทช. มีอำนาจโดยตรงในการต่อสัญญาหรือแต่งตั้งบุคลากรระดับสูง แต่ในความเป็นจริงที่ผ่านมา ไม่เคยมีกรณีใดที่ รองเลขาธิการ กสทช. ได้รับการแต่งตั้งหรือต่อสัญญา โดยไม่มีความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช.

ขณะที่ นางสาวรักชนก ศรีนอก สส.พรรคประชาชน โฟสต์ถึงปมปัญหาของ กสทช.ในเฟซบุ๊กของเธอไว้อย่างน่าฟังว่า “รักษาการกันอีท่าไหนไม่รู้ เป็นมาแล้ว 4 ปี 10 เดือน ระยะเวลายาวนานเกือบเท่าวาระของเลขาธิการ กสทช. ไปแล้ว เรื่องนี้มีปัญหามากในเชิงความรับผิดรับชอบ เพราะรักษาการมีอำนาจเต็มเทียบเท่าตัวจริง แต่กลับไม่ต้องรับผิดรับชอบใดๆ อย่างเลขาธิการตัวจริง เช่น แจงบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. แต่ไม่ต้องเปิดเผยและบอร์ด กสทช. ไม่สามารถประเมินงานเพื่อปลดออกจากตำแหน่งได้ นี่คือช่องว่างทางกฏหมายที่คนพวกนี้เล็งเห็นและช่วงใช้”

พร้อมกับตั้งคำถามไว้ข้อหนึ่งด้วยว่า “ประธาน กสทช. เป็นอะไร? ทำไมถึงรักใคร่ถูกคอกับรักษาการเลขาท่านนี้ซะเหลือเกิน ถึงขนาดว่าออกแรงทำทุกทางพยายามให้ นายไตรรัตน์ ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อ ไม่สรรหาคนใหม่ ไม่บรรจุวาระในการหาเลขาจริง ๆ สักที มันเป็นอะไรกันหนอสองคนนี้?”

หรือข้อเท็จจริงเรื่องคุณสมบัติของประธาน กสทช. ว่า “ขนาดที่ประชาชน สำนักข่าว นักวิชาการ สส. หรือแม้กระทั่ง สว. ที่เลือกนายสรณ มาเองกับมือ ยังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้เลย และหลังสอบสวน ได้มีการทำรายงานสอบหาข้อเท็จจริงจนได้ความว่า นายสรณ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม รวมถึงกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนสิ่งที่ห้ามทำ และหากตีความตามกฏหมายต้องหลุดจากการเป็นกรรมการ กสทช. หรือเรียกได้ว่าไม่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันแรกเลยด้วยซ้ำ”

“แต่จนแล้วจนรอดจนถึงวินาทีนี้ นายสรณ ก็ยังนั่งเป็นประธาน กสทช. ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นไปได้แต่มันเป็นไปแล้ว เรื่องนี้ใหญ่มากเพราะกระทบกับผลประโยชน์ของประเทศชาติเพราะ กสทช. คือผู้กำกับดูแลบ่อเงินบ่อทอง “คลื่นความถี่” ซึ่งเป็นเงินแผ่นดินหลายหมื่นล้าน”

พร้อมกับถามว่า แล้วใครคือกรรมการในกรณีนี้ ? ใครจะเป็นผู้มีอำนาจชี้ว่า นายสรณ ขาดคุณสมบัติ เพื่อที่จะส่งไม้ต่อให้นายกฯ กราบบังคมทูลต่อไป

เมื่อ 2 อำนาจใหญ่ใน กสทช. - ประธานกับรักษาการเลขาธิการกอดคอรักกันแนบแน่นแบบนี้ใครจะทำอะไรได้

คนไทยต้องสู้ภาค 3 ประธาน กสทช. ไม่ทำเรื่องถามกฤษฎีกา นายไตรรัตน์ ที่นั่งเป็นรักษาการเลขาธิการก็ไม่ทำเรื่องถาม แล้วยังเหลือใครที่ถามได้อีกบ้าง

คำตอบคือ “นายกฯ และคณะรัฐมนตรี” สส.รักชนก โพสต์ไว้ตอนหนึ่ง

และสำหรับสังคมแล้ว คงต้องถามหาความรับผิดชอบอย่างตรงไปตรงมา ... และใครได้ประโยชน์จากความขัดแย้งเหล่านี้ ....

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 พฤษภาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...