ถึงเวลา “เส้นเลือดใหญ่” กทม. เดินหน้ายกระดับการทำงาน เสนอแก้ พ.ร.บ.กรุงเทพฯ เพื่อเมืองที่จัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(17 เม.ย. 68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครมีแนวคิดในการเสนอปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 (พ.ร.บ.กรุงเทพฯ) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการให้สอดคล้องกับความท้าทายของเมืองยุคใหม่ โดยจากการทำงานอย่างเข้มข้นตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา และเสียงสะท้อนจากประชาชนในหลายพื้นที่ พบว่ากรุงเทพฯ ยังคงเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การขุดทางเท้าซ้ำซาก การจราจรติดขัด พื้นที่ใต้ทางด่วนรกร้าง และสายสื่อสารที่รกรุงรัง ซึ่งล้วนเป็นผลจากข้อจำกัดของระบบบริหารที่ยังอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดิมที่ใช้มายาวนานกว่า 40 ปี
“ภายใต้การทำงานของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เราได้ทบทวนหลายเรื่องอย่างจริงจัง และพบว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้หลายปัญหาของเมืองแก้ไม่ขาด ไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณหรือความตั้งใจของทีมงาน แต่เป็นเพราะกรอบกฎหมายเดิมมันไม่เอื้อให้เราทำอะไรได้มากกว่านี้ ระบบกฎหมายที่ใช้อยู่ไม่เปิดโอกาสให้เมืองบริหารอย่างยืดหยุ่น หรือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ได้อย่างเต็มที่” โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าว
นายเอกวรัญญู กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการปรับปรุง พ.ร.บ.กรุงเทพฯ ครอบคลุม 3 มิติหลัก ได้แก่ ภารกิจหรืออำนาจหน้าที่ (งาน) รายได้และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน (เงิน) และโครงสร้างบุคลากรในการบริหารราชการ (คน)
“งาน” เพิ่มอำนาจหน้าที่ของ กทม. ในการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น การกำหนดและตรวจมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากรถยนต์และโรงงานทุกประเภท การดูแลกลุ่มเปราะบางในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น คนไร้บ้านและขอทานแบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงการตรวจสอบและดำเนินการกับธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เงิน” เปิดทางให้ กทม. สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมจากภาษีหรือค่าธรรมเนียมใหม่ ๆ อาทิ ภาษีบุหรี่ ภาษีโรงแรม ภาษีมลพิษ และค่าธรรมเนียมสำหรับรถยนต์เก่า เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและต้นทุนในการดูแลเมืองขนาดใหญ่
“คน” ปรับโครงสร้างการบริหารราชการ พร้อมปรับสัดส่วนข้าราชการการเมือง ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติให้เหมาะสมกับภารกิจในปัจจุบัน เพื่อให้การตัดสินใจในระดับเมืองมีความคล่องตัว สอดคล้องกับปัญหาเชิงพื้นที่ และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ออกแบบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ 2528.bangkok.go.th ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2568 เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงความสำคัญของ พ.ร.บ.กรุงเทพฯ ฉบับเดิม ตลอดจนมีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับใหม่ให้ครอบคลุม สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และความต้องการของประชาชนมากขึ้น
นอกจากช่องทางออนไลน์ กทม. ยังจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบสร้างสรรค์ผ่านรูปแบบบอร์ดเกม ซึ่งออกแบบให้ประชาชนได้เรียนรู้ข้อจำกัดของกฎหมายปัจจุบัน ผ่านการจำลองสถานการณ์บริหารเมืองจริง พร้อมเปิดพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในบรรยากาศที่เข้าถึงง่ายและเป็นกันเอง โดยกิจกรรมจะจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 5 ในวันเสาร์ที่ 26 เมษายน, 3 พฤษภาคม และ 10 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00–17.00 น. เข้าร่วมฟรี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กเพจ “กรุงเทพมหานคร”
หลังจากปิดรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น กรุงเทพมหานครจะจัดทำร่าง พ.ร.บ. ฉบับปรับปรุง เสนอผ่านกระทรวงมหาดไทย คณะรัฐมนตรี และเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยโฆษกของกรุงเทพมหานครระบุว่า การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนแรกจะช่วยให้ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของคนกรุงเทพฯ และนำไปสู่ระบบการบริหารเมืองที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตอบโจทย์ชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ เมื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ. แล้วเสร็จ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกครั้งตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
“พ.ร.บ.กรุงเทพฯ เปรียบเสมือน ‘เส้นเลือดใหญ่’ ของเมือง ที่หล่อเลี้ยงการทำงานทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับปรุง เพื่อให้เมืองจัดการตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ชีวิตของประชาชนได้จริง” โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวทิ้งท้าย
#แก้พรบกรุงเทพ #บริหารจัดการดี