ปัญหาแรงงาน ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ จึงเป็นอีกทางเลือก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ใช้ทำงานน้อยลง และลดต้นทุนในระยะยาว
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถไถนา รถเกี่ยวนวด โดรนพ่นยา หรือเครื่องปลูกอัตโนมัติ ไม่เพียงช่วยให้เกษตรกรทำงานได้สะดวกขึ้น แต่ยังช่วยให้การผลิตมีความแม่นยำ และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญในการปรับตัวเข้าสู่ “เกษตรยุคใหม่” อย่างยั่งยืน อย่างในช่วงเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกที่กำลังจะมาถึงนี้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเตรียมพื้นที่ก่อนเริ่มการเพาะปลูก การเตรียมดินถือเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุด เช่น
พื้นที่นาข้าว การปรับที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling : LLL) ส่งผลให้พื้นดินมีความราบเรียบ ช่วยให้ดินมีโครงสร้างที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ประหยัดน้ำ น้ำจะกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง ลดปัญหาน้ำขัง ลดปัญหาวัชพืช ปุ๋ยจะถูกดูดซึมได้อย่างทั่วถึง ทำให้พืชได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ พืชเติบโตอย่างแข็งแรง ผลผลิตมีคุณภาพ ปริมาณมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิต และนำไปสู่อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้น
ดังนั้น เกษตรกรยุคใหม่ควรเปิดใจเรียนรู้และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อพัฒนาอาชีพ และยกระดับภาคเกษตรกรรมไทยให้ก้าวหน้า เพื่อให้การใช้เครื่องจักรกลเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนั้นข้อมูลของเกษตรกรผู้ให้บริการทางการเกษตร (Agri Service Provider) จึงเป็นทรัพยากรสำคัญที่ช่วยให้ภาครัฐสามารถวางแผนสนับสนุน ส่งเสริม และเชื่อมโยงบริการให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรที่มีความพร้อมด้านเครื่องจักรกลสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการรับจ้างให้บริการ ขณะที่เกษตรกรรายย่อยก็สามารถเข้าถึงเครื่องจักรผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลที่แม่นยำ เป็นระบบ และโปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ ในราคาที่เป็นธรรม และสร้างเครือข่ายเกษตรกรช่วยเหลือกันในชุมชน
นายสุริยา ห่วงถวิล ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดเขารวกพัฒนาก้าวไกล จ.ลพบุรี เกษตรกรผู้มีประสบการณ์และมีเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้บริการ เป็นหนึ่งในผู้ที่สมัครและกล่าวถึงระบบขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการทางการเกษตร (Agri Service Provider) ว่า ปัจจุบันตนเองมีเครื่องจักรกลทางการเกษตรพร้อมจะให้บริการกว่า 19 เครื่อง เช่น รถไถ รถแม็คโคร เครื่องหยอดเมล็ด เครื่องพ่นยา เครื่องปั่นไฟ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะให้บริการแก่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงและสมาชิกกลุ่ม และมองว่าระบบนี้ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงบริการทางการเกษตรได้ง่ายขึ้น แต่ยังช่วยให้ผู้ให้บริการวางแผนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถขยายฐานลูกค้าและเครือข่ายบริการได้ในอนาคต จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรทุกท่านมาใช้บริการ และสำหรับผู้ที่มีเครื่องมือทางการเกษตร ก็สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นผู้ให้บริการได้เช่นกัน
สำหรับการเข้าถึงข้อมูลผู้ให้บริการผ่านระบบขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการทางการเกษตร (Agri Service Provider) สามารถค้นหาข้อมูลผู้ให้บริการทางการเกษตรได้ทางแอปพลิเคชัน Agri Service Provide บนสมาร์ตโฟนระบบปฏิบัติการ Android และเว็บไซต์ระบบการขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการทางการเกษตร ซึ่งมีข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องจักรกลทางการเกษตร ที่ตั้ง และช่องทางการติดต่อของผู้ให้บริการ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรม เกษตรกรควรตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดและรอบคอบก่อนตัดสินใจ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ