BDI เผยตลาด บิ๊กดาต้าและเอไอไทย ยังโตไม่สุด มูลค่าตลาด 2 ปี แตะ 3.78 หมื่นล้าน ชี้กำลังคนด้าน Data Science - Data Engineering ยังขาดแคลนพร้อมแนะ 4 ทางลัดปั้นไทยสู่ Data Driven Nation
ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDIกล่าวว่า รายงานการสำรวจวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (Environmental Scanning) ด้านอุตสาหกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนภาพรวม แนวโน้ม และทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อนำ Big Data และ AI ไปใช้ให้เกิดมูลค่าสูงสุด
โดยจะครอบคลุมทั้งในมิติการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือการต่อยอดโอกาสทางการตลาด โดยผลสำรวจจะเป็นแนวทางสำคัญในการให้ภาครัฐใช้กำหนดแนวนโยบาย และมาตรการสนับสนุนที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมเสริมสร้างความพร้อมการนำเทคโนโลยี AI และ Big Data ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมดิจิทัลให้เติบโตในระยะยาว
การสำรวจครั้งนี้ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม Big Data และกว่า 264 รายทั่วประเทศ มีการแบ่งหมวดหมู่ผู้ประกอบการออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ การจำแนกตามประเภทธุรกิจหรือภารกิจ และจำแนกตามประเภทเทคโนโลยี
ซึ่งจากผลสำรวจ พบว่า มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 37,814 ล้านบาท โดย Big Data Services ครองสัดส่วนสูงสุดที่ 19,923 ล้านบาท คิดเป็น 52.7% ของมูลค่ารวมทั้งหมด
สะท้อนถึงแนวโน้มธุรกิจในไทยให้ความสนใจและใช้บริการวิเคราะห์ข้อมูล ขณะที่รองลงมา คือ Big Data / AI Software มีมูลค่า 8,057 ล้านบาท ตามมาด้วย ด้าน AI Services มีมูลค่า 5,160 ล้านบาทและ Big Data / AI Hardware มีมูลค่า 4,674 ล้านบาท
นอกจากนี้ BDI ได้ขยายการสำรวจเบื้องต้นไปยังด้านแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม Big Data และ AI ระหว่างเดือนสิงหาคม – ธันวาคม 2567 พบว่า มีบุคลากรรวมกว่า 32,000 คน ซึ่งแรงงานที่อยู่ในสายเทคโนโลยีสารสนเทศประมาณ 16,000 คน แบ่งออกเป็นพนักงานด้าน Big Data ประมาณ 14,500 คน และพนักงานด้าน AI ประมาณ 700 คน ขณะที่ตำแหน่ง Big Data / AI / IT Project Manager มีเพียงประมาณ 800 คน
สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของบุคลากรระดับบริหารที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูล และความต้องการทักษะด้าน Data Science และ Data Engineering ที่ยังขาดแคลน ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว
ธีรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังได้มีการคาดการณ์อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม Big Data และ AI ในประเทศไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 7-8% ต่อปี สะท้อนถึงความตื่นตัวของตลาด และศักยภาพของผู้ประกอบการในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน อย่างไรก็ดี ยังประเมินว่าประเทศไทยยังมีพื้นที่และโอกาสสำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรม Big Data และ AI
BDI มุ่งมั่นผลักดันการใช้Big Data และ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระดับประเทศ พร้อมเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ระยะ3 ปี (พ.ศ. 2568-2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ Data-Driven Nation โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ Big Data และ AI ผ่านการพัฒนาบุคลากร และกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ-หน่วยงานต่าง ๆนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย