ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
เกียรติพงษ์ เพชรศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2
18 ส.ค. 2566

“น้ำ” ถือเป็นเลือดหล่อเลี้ยงสำคัญของเกษตรกรในการทำเกษตรกรรมต่างๆ มากมาย รวมไปถึงการใช้อุปโภค/บริโภคของประชาชนก็จำเป็นต้องมีการใช้ “น้ำ” เช่นกัน ถึงกระนั้น น้ำยังคงเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติทำให้หลายๆ ครั้ง ปริมาณน้ำต้องพึ่งพิงกับสภาพแวดล้อมและฤดูกาล เช่น ช่วงที่ฤดูฝน มีฝนตกบ่อยทำให้เกิดภาวะในบางพื้นที่ หรือในบางพื้นที่มีอากาศแห้งและมีฝนตกน้อย ทำให้เกิดฤดูแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม หรือแม้กระทั่งใช้อุปโภค บริโภค

ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงต้องมีหน่วยงานในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อประชาชน รวมไปถึงการพัฒนาชลประทานหรืออ่างเก็บน้ำไว้สำหรับรองรับน้ำที่มากเกินไป ซึ่งพันธกิจใหญ่นี้ต้องพึ่งผู้มีประสบการณ์และความสามารถที่มีหัวจิตหัวใจพร้อมบริการประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ อปท.เชิญเป็นแขก ฉบับนี้จึงขอนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ “เกียรติพงษ์ เพชรศรี” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 หรือ “คุณพงษ์” หนึ่งในผู้มีประสบการณ์ทำงานสร้างแหล่งน้ำให้พี่น้องประชาชนมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ด้วยหัวใจที่รักในการทำงานและพร้อมอุทิศตนเพื่อประชาชน

เกียรติพงษ์ เพชรศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 กล่าวว่า ตัวเขาเป็นคนใต้ เกิดที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร รับการศึกษาที่เรียนวิทยาลัยเทคนิคชุมพร สาขาช่างก่อสร้าง ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ก่อนที่จะมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคนิคดุสิต จนเข้าปี 2527 ก็ได้เข้าสอบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ซึ่งก็ได้ทำงานกรมชลประทานในปีถัดมา ในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่อุทกวิทยา 1 กองอุทกวิทยา และได้เรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา ที่มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

โดยสาเหตุที่ “คุณพงษ์” เลือกรับการราชการ เนื่องจากปี 2527เป็นช่วงที่มีนักเรียน นักศึกษาตกงานเป็นจำนวนมาก ประกอบกับได้มาเรียนต่อที่ กรุงเทพฯเลยใช้โอกาสนี้สอบ กพ. ซึ่งมีคนเข้าสอบเป็นจำนวนมากแต่รับจริงๆ เพียงแค่
หลักร้อยคนเท่านั้น ซึ่งตอนนั้นตัวเขาก็หวังเพียงแค่ให้มีงานทำเท่านั้น เพราะไม่มีตัวเลือกมากนัก เนื่องจากมีคนจบใหม่เยอะแต่งานน้อย 

ต่อมาทางสำนักงาน ก.พ. ได้เปิดสอบตำแหน่งนายช่างโยธา ซึ่งก็สอบได้และทำให้ได้ดำรงตำแหน่ง นายช่างโยธา กองก่อสร้างโครงการย่อย ในปี 2530 ก่อนที่ต่อมาในปี 2531 ได้ย้ายไปทำงานนายช่างโยธาที่จังหวัดชัยนาท ที่ฝ่ายก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็กที่ 7 สำนักงานชลประทานที่ 7 นอกจากนี้ก็ได้มีโอกาสไปทำงานในอีกหลายจังหวัด อาทิ สุพรรณบุรี อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานก่อสร้างชลประทานขนาดเล็ก โดยคุณพงษ์ เล่าอีกว่า

“ปี 2553 ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายช่างชลประทานอาวุโสและช่วงปลายปี 2553 ก็ได้เลื่อนขั้นให้ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสำนักงานชลประทานที่ 3 ที่จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นผู้อำนวยการครั้งแรก ซึ่งทำงานได้ประมาณ 2 ปีกว่า เป็นเวลาเดียวกับทางกรมชลประทานได้ตั้ง กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ในปี 2554 หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ผมได้มาอยู่สังกัดกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางอีกรอบหนึ่งทำงานอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก

“ถึงปี 2555 ต่อมาก็ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานขนาดกลางที่ 8 เขตจังหวัดสุรินท์,ศรีสะเกษ,บุรีรัมย์ และจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเวลานั้นกรมชลประทานกำลังพัฒนาแหล่งน้ำ ทำให้กรมชลประทานมีความต้องการจะหาแหล่งน้ำหรือพื้นที่ชลประทานเพิ่ม ผมจึงได้รับมอบหมายจากกรมฯ ให้ทำงานในอีกหลายจังหวัดเช่น กรุงเทพฯ,ปทุมธานี,นนทบุรีและนครปฐม ทำอยู่ 4 ปี”

คุณพงษ์ บอกต่อว่า เมื่อเข้าสู่ปี 2560 ช่วงที่ท่านสัญชัย เกตุวรชัย ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน คุณพงษ์ก็ได้รับความไว้ใจจากกรมชลประทาน ให้ดำรงตำแหน่ง เลขานุการกรม หลังจากได้เข้าสู่ตำแหน่งก็ทำคุณประโยชน์ให้กับกรมฯหลายเรื่อง เป็นอยู่ประมาณ 5 ปี ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งโยกย้าย เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 เขตจังหวัดลำปาง,น่าน,พะเยา และเชียงราย

โดยการดำรงตำแหน่งเลขานุการกรม ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนมีหน้าที่เปรียบเสมือนแม่บ้านของกรม มีหน้าที่วางแผน บริหารจัดการ จัดระบบงาน อำนวยการวาระงานของผู้บริหารประสานราชการระหว่างหน่วยงานในสังกัดและภายนอก จัดพิธีต่างๆ ดูแลความปลอดภัย ความสะอาด ความเรียบร้อยของพื้นที่ ดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์ให้แก่กรมกำกับ ดูแล ส่งเสริม ตรวจสอบ ควบคุม ปรับปรุงแก้ไข ให้คำปรึกษาหารือ ริเริ่มและปรับปรุงแก้ไขการบริหารงานให้ผลดี ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญในงาน ปกครองบัญชา กำกับดูแลตามหลักคุณธรรม ให้มีการบูรณาการงานระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากโดยส่วนตัวแล้วเป็นผู้ที่ใฝ่เรียนรู้  มีอุปนิสัยอ่อนโยน  ปรับตัวได้ดี สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ ได้ผลดี 

หลังจากนั้น คุณพงษ์ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2ซึ่ง คุณพงษ์ ได้สร้างผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจให้กับตนเองเอาไว้มากมาย อาทิ การอำนวยการ ติดตาม ควบคุม สั่งการ ให้คำแนะนำ โครงการก่อสร้างฝายทุ่งส้านพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ลักษณะโครงการฝายคอนกรีตล้วนปนหินใหญ่  สันฝายยาว 12 เมตร สูง 3 เมตร ระบบส่งน้ำยาว 3,240 เมตรโครงการทำนบดินห้วยป่าดำพร้อมระบบส่งน้ำและแก้มลิงหนองผาพร้อมอาคารประกอบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย สร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน จำนวน 282 ครัวเรือน 739 คน พื้นที่รับประโยชน์ในช่วงฤดูฝน จำนวน 450 ไร่ และในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 100 ไร่

โครงการฝายหลวงพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นแหล่งน้ำให้กับราษฎร พื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 1,200 ไร่และ โครงการก่อสร้างฝายทุ่งโป่งพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านโป่ง อำเภองาว จังหวัดลำปาง เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรของราษฎร จำนวน 2 หมู่บ้าน รวม 341 ครัวเรือน ประชากรรวม 1,168 คน สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูฝนได้ประมาณ 1,000 ไร่โครงการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยาประกอบด้วยงานขุดลอกตะกอนดิน 0.857 ล้านลูกบาศก์เมตร งานก่อสร้างอาคารรับน้ำเข้า จำนวน 5 แห่ง งานท่อลอดถนน จำนวน 9 แห่ง และงานขุดลอกคลองระบายรอบกว๊านพะเยา 0.24 ล้านลูกบาศก์เมตร

โครงการพัฒนาหนองเล็งทราย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ประกอบด้วยงานขุดลอกตะกอนดิน0.98 ล้านลูกบาศก์เมตรและทำนบดินถนนระยะทาง 2.2 กม. เมื่อดำเนินการเสร็จทุกแผนงานจะสามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ถึง 10,000 ไร่โครงการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงรายประกอบด้วยงานขุดลอกตะกอนดิน 2 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 1,430 ไร่ พร้อมก่อสร้างอาคารระบายน้ำ 2 แห่ง ฝายทดน้ำและระบบส่งน้ำ ความยาว 11 กม. พื้นที่รับประโยชน์ 2,400 ไร่ และด้านการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ภายในพื้นที่จังหวัดลำปาง น่าน พะเยา เชียงราย ได้อย่างดี กล้าตัดสินใจ ทำให้ไม่เกิดภาวะน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำ

จากการที่ได้ปฏิบัติงานในสายงานก่อสร้างมาเป็นเวลากว่า 30 ปี และการได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง และผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลาง ซึ่งปฏิบัติงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นภารกิจหลักของกรมชลประทาน ทำให้มีความรู้ความสามารถในด้านของการพัฒนาแหล่งน้ำ การควบคุมการก่อสร้าง อ่าง เขื่อน ฝาย ตลอดจนการให้คำปรึกษา แนะนำ แก้ไขปัญหาในกระบวนการก่อสร้าง การบริหารสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง มีความสามารถ
ในด้านการทำการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยการสร้างเครือข่าย และการเจรจาไกล่เกลี่ย  ซึ่งการดำเนินการกำกับ ติดตามงานจำเป็นต้องเข้าไปยังพื้นที่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นงานที่มีระยะเวลาในการดำเนินการทำให้ต้องมีการเรียนรู้ ต้องมีความยืดหยุ่น มีทักษะการฟัง ทักษะการเจรจาต่อรอง ทักษะการประเมินความเสี่ยง มีวิสัยทัศน์ เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันรอบตัว ต้องวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคที่เป็นอุปสรรคของหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่เพื่อให้สามารถการสั่งการ  ควบคุม กำกับดูแลตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนการทำงานย่อมพบเจอปัญหาหรืออุปสรรคอยู่เสมอ ซึ่งเรื่องนี้คุณพงษ์บอกว่าในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างได้อยู่ในเหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554 ซึ่งตัวเขาและทีมงานได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาภัยจากทางน้ำ จนกระทั้งต่อมา กรมฯ ได้มีนโยบายในการพัฒนาแหล่งน้ำ จึงได้เกิดกองพัฒนาแหล่งน้ำขึ้นมา หรือแม้กระทั้ง ตอนที่ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 ก็พบอุปสรรคหรือความท้าทายอยู่เนืองๆ ถึงกระนั้นทาง
กรมชลประทานก็ได้ดำเนินการแก้ไขมาโดยตลอด อาทิ ปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้ง ซึ่งตลอดมา ทางกรมชลประทานได้บริหารจัดการอย่างประณีตเพื่อให้เกิดความสมดุล ให้ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้งานของประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารน้ำให้ไม่มากเกินไปจนกลายเป็นปัญหาน้ำท่วมในอนาคตได้

“บ่อยครั้งเจอปัญหาของความไม่เข้าใจระหว่างหน่วยงานและประชาชน บางครั้งอาจเพราะขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งตัวผมและทางกรมฯ ได้มีการลงพื้นที่เพื่อไปทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น หรือบางครั้ง อาจเจออุปสรรคป่าไม้หรือ อุทยาน ก็ต้องไปทำความเข้าใจโดยยึดโยงกับกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อทำให้ถูกต้องถามกฎหมาย”คุณพงษ์ กล่าวอย่างหนักแน่น

เมื่อพูดถึงอุดมการณ์และแนวคิดที่พาคุณพงษ์ให้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไรนั้น คุณพงษ์ บอกทิ้งท้ายว่า หัวใจสำคัญที่พาให้ตัวเขามาถึงจุดนี้ คือความใจสู้ และการทำงานลักษณะนี้ต้องมีใจรักในการทำงาน มีใจที่จะอุทิศให้ชาติบ้านเมือง และประชาชน ตั้งใจทำงานเต็ม 100% รวมไปถึงต้องมีใจสู้กับอุปสรรคปัญหาที่จะเกิดขึ้นที่สำคัญต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใสซึ่งหากมีองค์ประกอบสิ่งเหล่านี้แล้ว เมื่องานสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ จะทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ เช่น ได้เห็นชาวบ้านมีน้ำใช้ ทำไร่ ทำนา ก็ทำให้คุณพงษ์ภาคภูมิใจ ซึ่งจากการทำงานที่มุ่งมั่นยึดในหลักการ และโปร่งใสนี้เอง ทำให้ผู้บริหารไว้วางใจและมอบหมายงานให้ตนเองได้ทำภารกิจเพื่อประชาชน

ด้านวิธีรับมือกับอารมณ์เมื่อเจอกับปัญหาคุณเกียรติพงษ์ เผยเคล็ดไม่ลับว่า ตัวดขาเป็นคนไม่ค่อยเครียด เนื่องจากเป็นคนปลงได้กับทุกเรื่อง ประกอบกับเป็นคนชอบพระ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นคนยึดหลักคำสอนของ สัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้คุณพงษ์ นำคำสอนยึดถืออยู่ในใจอยู่เสมอ ในการพยายามทำให้จิตใจให้โปร่งใส เมื่อตัวเองได้เป็นพี่ใหญ่ ก็ได้นำคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า มาสอนน้อง ๆ ในหน่วยงานโดยหลักคำสอนนั่นคือ พรหมวิหาร 4 คือ 1. เมตตา 2. กรุณา 3. มุทิตา 4. อุเบกขา

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...