ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
กปม. แจง Shrimp Board อนุมัติ 2 โครงการ มอบ กรมการค้าภายใน “แก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ”
26 พ.ค. 2566

           ตามข่าวที่สื่อมวลชนได้มีการเผยแพร่ข่าว “ข้อเรียกร้องปัญหาราคากุ้งตกต่ำ สวนทางกับต้นทุนที่พุ่งต่อเนื่อง”  โดยกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ เรื่อง ราคากุ้งตกต่ำ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.30 น. ณ ศาลากลางจังหวัดกระบี่ 

           นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์  อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า ปี 2566 (เดือนมกราคม - เมษายน) ประเทศไทยมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงปริมาณรวม 70,839.16 ตัน โดยปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ร้อยละ 0.79)  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2566 ผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ ชริมพ์บอร์ด ได้จัดทำโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไม (ราคาปากบ่อ) หรือที่เกษตรกรรู้จักกันดีในชื่อ “โครงการประกันราคากุ้งขาวแวนนาไม” ซึ่งเป็นโครงการที่ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะรับซื้อผลผลิตกุ้งจากเกษตรกรในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่ชริมพ์บอร์ดประกาศ ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 และจะสิ้นสุดโครงการฯ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 โดยจากการประกาศราคาประกันของชริมพ์บอร์ดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้ว่าราคากุ้งจะลดลงในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากมีผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่ราคากุ้งปากบ่อยังคงสูงกว่าราคาประกันที่ชริมพ์บอร์ดประกาศไว้
          อย่างไรก็ตาม ชริมพ์บอร์ดได้ตระหนักถึงข้อกังวลของเกษตรกรในประเด็นราคากุ้งทะเลที่ลดต่ำลง ซึ่งมีเกษตรกรหลายพื้นที่ได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด โดยชริมพ์บอร์ดได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งมีอธิบดีกรมประมง ในฐานะประธานกรรมการ เป็นประธานการประชุมฯ เพื่อพิจารณาโครงการเร่งด่วนช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมการค้าภายในจัดทำโครงการ 2 โครงการ ดังนี้
           1) โครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยเชื่อมโยงการจำหน่ายกุ้งทะเลภายในประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายดูดซับผลผลิตกุ้งทะเลปริมาณรวม 5,000 ตัน ระยะเวลาดำเนินการ 2 เดือน เพื่อให้มีการบริโภคภายในประเทศ โดยรัฐช่วยชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรในอัตรากิโลกรัมละ 20 บาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการด้านการตลาดในอัตรากิโลกรัมละ 10 บาท โดยเสนอขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร กระทรวงพาณิชย์
          2) โครงการจัดหาปัจจัยการผลิตราคาถูก เพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร (โครงการระยะยาว)
นอกจากโครงการที่กล่าวมาข้างต้น กรมประมงยังได้มีการดำเนินโครงการและการส่งเสริมความรู้ให้แก่เกษตรกรในการลดต้นทุนการเลี้ยง เพื่อให้เกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงที่ลดลงและมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถประกอบกิจการการเลี้ยงกุ้งได้อย่างยั่งยืน อาทิ
          2.1 โครงการอาหารกุ้งทะเลธงเขียวเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลสำหรับบริโภคภายในประเทศ ปี 2566 โดยสนับสนุนเงินค่าอาหารกุ้งทะเล กิโลกรัมละ 2 บาท ให้กับเกษตรกรที่จ้างผลิตโดยใช้เงินทุนของตนเอง ซึ่งโครงการฯ อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
          2.2 โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน ปี 2564 โดยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน (Solar cell) การใช้เครื่องเติมอากาศอัจฉริยะ และการปรับปรุงบ่อเพื่อลดต้นทุนแฝงจากการเกิดโรค 
           2.3 การส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี โดยหน่วยงานของกรมประมงให้บริการหัวเชื้อจุลินทรีย์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่ และส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์จุลินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมในการดำเนินการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อแจกจ่ายให้แก่สมาชิกในสังกัด เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรโดยครอบคลุมทุกพื้นที่การเลี้ยงกุ้ง
           2.4. โครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 โดยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนปลอดดอกเบี้ย เพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ลูกพันธุ์ อาหาร และอื่น ๆ ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้น และเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร
          นอกจากนี้ กรมประมงยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีการวางแผนการผลิตเพื่อให้ได้กุ้งตรงตามขนาดที่ตลาดต้องการ และมีการบริหารจัดการผลผลิตให้เหมาะสมกับฤดูกาลผลิต เพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรสามารถลดความเสี่ยงของการประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...