ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่องเที่ยว ย้อนกลับ
การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
20 ก.พ. 2566

ปัจจุบันกระแสเรื่องความยั่งยืนกำลังเป็นสิ่งที่นานาประเทศให้ความสำคัญ สำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 และกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนับเป็นกลไกสำคัญและมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ช่วยสร้างงานและกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นโดยตรง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทด้านส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญและส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(Sustainable tourism) มาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นไปตามวิสัยทัศน์ขององค์กรคือ “ททท. เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืน”

 

เดินหน้าขับเคลื่อนการท่องเที่ยวตามแผน BCG Economy Model

ททท. ร่วมมือกับสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (Thai Organic Consumer Association : TOCA) ดำเนินโครงการต้นแบบส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิดBCG Model : Organic Tourism โดยนำเรื่อง BCG Model มาเชื่อมโยงกับเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ตั้งแต่เกษตรกรจนถึงมือผู้บริโภค กล่าวคือด้าน Supply Side สนับสนุนการขยายเครือข่ายและยกระดับเกษตรกรไปสู่การเป็นเกษตรกรอินทรีย์ (Organic Smart Farmer)และพัฒนาระบบแพลตฟอร์ม เพื่อขยายช่องทางการเข้าถึงสินค้าอินทรีย์ที่น่าเชื่อถือในราคาที่เป็นธรรม ส่วนด้าน Demand Side ททท. ได้ดำเนินการขยายตลาดให้นักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคเกิดการรับรู้และส่งเสริมให้สนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวที่ดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของ BCG มากยิ่งขึ้นส่งผลให้เกิดความตระหนักและค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบในระยะยาว

 

“ปรับลด ชดเชย” นำท่องเที่ยวไทยคาร์บอนเป็นศูนย์

ททท. ได้พัฒนาธุรกิจและกิจกรรมท่องเที่ยวที่มีการจัดการด้วยแนวคิดการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) โดยพัฒนากิจกรรมต้นแบบภายใต้แนวคิด “ปรับ ลด ชดเชย” ได้แก่ “ปรับ” และพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนเป็นศูนย์ “ลด” ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ “ชดเชย” ผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยการจัดหาคาร์บอนเครดิต ซึ่งได้มาจากกิจกรรมฟื้นฟูและสร้างแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก โดย ททท. ได้คัดสรร 5 แหล่งท่องเที่ยว เพื่อนำเสนอต้นแบบของการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ได้แก่ 1. บ้านถ้ำเสือ จ.เพชรบุรี 2. บ้านริมคลองโฮมสเตย์ จ.สมุทรสงคราม 3.ไร่ใจยิ้ม จ.กาญจนบุรี 4. ฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง จ.นครราชสีมา และ 5. สวนส้มโอไทยทวี จ.นครปฐมนับเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยในตลาดโลก

          ทั้งนี้ ททท. ได้จัดทำคู่มือแนวทางการออกแบบและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบ E-BOOKโดยแสกน QR CODE

มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบในทุกมิติ

ททท. ได้ดำเนินการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism)มาอย่างต่อเนื่องและยังเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายหลักที่บรรจุไว้ในแผนตลาดการท่องเที่ยวของ ททท.เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างแท้จริง ผ่านการดำเนินโครงการ/ กิจกรรมต่าง ๆ ที่คำนึงถึงสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอาทิโครงการ 7 Greens” ซึ่งเป็นแนวทางในการท่องเที่ยวอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม นำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางตามได้(Green Heart/Green Logistics/Green Attraction/Green Activity/Green Community/ Green Service และGreen Plus)และ โครงการ “ลดโลกเลอะ” ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 รณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มุ่งให้เกิดการลดการสร้างขยะในแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพอันเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ยังสามารถคงความสมบูรณ์เอาไว้อันเป็นการนำการท่องเที่ยวไทยปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าสูงและยั่งยืน (High-Value & Sustainable Tourism) ได้ในอนาคต

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...