ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
16 ม.ค. 2566

ปรากฎการณ์ทางการเมืองท้องถิ่นในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้ ต้องยอมรับว่า คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาถึง 1,386,215 คะแนน สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้ง ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ใครบ้างละที่จะถูกคัดสรรให้มานั่งในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพราะนั่นหมายถึงคนที่จะมาเป็นมือเป็นไม้ในการทำงานให้กับผู้ว่าฯ ชัชชาติ และคน กทม.

และคน กทม.ก็ได้รองผู้ว่าฯ กทม. มา 4 คน ได้แก่1. รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล2. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวะชช และ 4. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ ที่คนหลังนี้เองที่อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ฉบับนี้จะพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จัก

 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ หรือคุณศา ที่เราจะเรียกขานในครั้งนี้ กล่าวได้ว่า แค่เริ่มนั่งในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลันก็สร้างสถิติใหม่ขึ้นในทันที เพราะได้กลายเป็นรองผู้ว่าราชการ กทม.ที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ และกำลังจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนากทม.ให้ดียิ่งขึ้น โดยคุณศานนท์ได้รับหน้าที่ให้ดูแลด้านการศึกษา สังคม และงานพาณิชย์

คุณศานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ในครอบครัวที่ประกอบธุรกิจร้านวัสดุก่อสร้างเป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่5 ก่อนจะไปเทียบเข้าศึกษาปริญญาตรีวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสาเหตุที่เรียนศาสตร์นี้เนื่องจากเป็นคนชอบเลข ชอบการคำนวณ ประกอบกับไม่ได้เป็นคนสนใจด้านชีวะ จึงลงเอยที่วิชานี้

คุณศานนท์รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวกับ อปท.นิวส์ว่า เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เรียนจบมัธยม 5 ก่อนจะไปเทียบเข้าศึกษาปริญญาตรีวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสาเหตุที่เรียนศาสตร์นี้เนื่องจากเป็นคนชอบเลข ชอบการคำนวณ ประกอบกับไม่ได้เป็นคนสนใจด้านชีวะ จึงลงเอยที่วิชานี้

นอกจากนั้นในช่วงปี 4 ปีการศึกษา ปี 2553 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ก่อนที่จบมาจะไปทำงานบริษัทของสหรัฐอเมริกา Procter & Gamble ประมาณ 5 ปี ตำแหน่ง purchasing ดูแลโรงงานที่ไทยสิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ด้วยประสบการณ์จากการทำงาน ทำให้ได้เห็นวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย ประกอบกับมีความสนใจอยากเปิดธุรกิจของตนเอง พร้อมกับต้องการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไปพร้อมๆ กันต่อมาจึงได้ทำธุรกิจOnce Again Hostelขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ทำบริษัทดังกล่าวแล้ว

โดย Once Again Hostelเป็นโมเดลธุรกิจในรูปแบบ “ธุรกิจเกื้อกูล”โดยทุกจุดในการทำธุรกิจต้องเกื้อกูลถึงคนทั้งห่วงโซ่ เริ่มตั้งแต่การตี “ห่วงโซ่คุณค่า” ของธุรกิจทั้งหมดออกมา ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมบำรุง กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโฮสเทล อาหาร การเดินทาง การรักษาสิ่งแวดลล้อม กระทั่งเรื่องการก่อสร้าง รวมถึงการที่ธุรกิจสามารถไปมีส่วนร่วมกับชุมชนได้ เช่น การจ้างงาน การส่งเสริมธุรกิจที่มีอยู่ในชุมชน จนถึงการมี “ผลประโยชน์ร่วมกัน”ซึ่งเหตุที่ผู้มีตำแหน่งงานในบริษัทต่างชาติที่มีฐานการเงินที่มั่นคง หันเข็มมาทำธุรกิจเพื่อสังคม

คุณศานนท์ เล่าให้ฟังว่า“ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ถือเป็นเด็กกิจกรรมคนหนึ่ง ซึ่งตอนที่เพิ่งจบมาใหม่ๆ เป็นช่วงเดียวกับที่มีน้ำท่วมในปี 2554 ทำให้เห็นถึงปัญหาของประเทศที่แสดงถึงความไม่ยั่งยืน ในเวลานั้นงานอาสาสมัครก็มีเยอะ แต่ไม่ค่อยยั่งยืน ตอนทำงานที่บริษัทต่างประเทศได้ประมาณ 2 ปี รู้สึกว่าตัวเองน่าจะทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากกว่านี้จึงเกิดปณิธานอยากทำงานเพื่อสังคม จนได้มีโอกาสไปรู้จักธุรกิจเพื่อสังคมที่มีหลักคิดในการทำงานเพื่อคนอื่นได้ และยังมีรายได้เพื่อตนเองได้ด้วย จึงทำให้เลือกทำงานประจำ 5 วัน และช่วงวันเสาร์ - อาทิตย์ ก็ไปทำงานเพื่อสังคม และต่อมาลาออกจากบริษัทต่างประเทศและได้มาทำธุรกิจเพื่อสังคม”

ทั้งนี้คุณศานนท์เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Sataranaเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องการพัฒนาเมือง กลุ่มเมล์เดย์ ผู้ออกแบบปรับปรุงป้ายหยุดรถเมล์รูปแบบใหม่ Trawell Once Again Hostel ย่านประตูผี, Luk Hostel ย่านเยาวราช และ Locall.bkkแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ครอบคลุมพื้นที่ร้านอาหารในย่านเสาชิงช้า-ประตูผี, เยาวราช และนางลิ้นจี่

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ธุรกิจเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise เป้าหมายสำคัญคือ การนำกลไกลทางธุรกิจมาขับเคลื่อนเพื่อขยายผลกระทบทางสังคมซึ่งธุรกิจเพื่อสังคมสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมได้หลายรูปแบบ อาทิ นำเครื่องมือด้านการท่องเที่ยวช่วยพัฒนารายได้ให้ชุมชน แทนที่จะตอบโจทย์ความสำเร็จให้กับเจ้าของเพียงอย่างเดียว แต่นำกำไรตรงนั้นไปขยายผลให้เกิดการท่องเที่ยวในชุมชนมากขึ้น คนทำงานก็ได้เงิน ขณะที่กำไรที่เหลือไปทวีคูณให้ทางสังคมอีกทางหนึ่ง

“ตอนที่ผมมาทำธุรกิจเพื่อสังคม ก็มีความสนใจในการพัฒนาเมืองซึ่งผมมองว่าน่าจะมีวิธีพัฒนาเมืองในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม เช่น การท่องเที่ยวชุมชน ปรับแนวคิดเป็นการท่องเที่ยวชุมชนในเมืองได้หรือไม่ หรือเรื่องขนส่งสาธารณะ จะพัฒนาผ่านธุรกิจเพื่อสังคมได้หรือไม่ ซึ่งได้ทดลองทำมาตลอด 8 ปี”คุณศานนท์ บอกเพิ่มเติม ด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่น แล้วเรียนรู้ที่จะพัฒนา

ด้านสาเหตุที่ได้มาเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนากรุงเทพฯ ในฐานะรองผู้ว่าฯ นั้น คุณศานนท์ บอกว่า เนื่องจากตัวเขาและคุณชัชชาติเองก็เรียนจบมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเหมือนกัน เลยทำให้มีโอกาสได้รู้จักกัน ขณะเดียวกัน ตัวเขาและคุณชัชชาติก็มีความสนใจด้านสังคมและการพัฒนาเมืองเหมือนกัน ประกอบกับช่วงที่คุณชัชชาติกำลังทำนโยบาย ได้มีโอกาสมาเยี่ยมบริษัทของเขา

“คุณชัชชาติมีความสนใจที่จะพัฒนาเมือง โดยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การลงทุนในเส้นเลือดใหญ่ แต่มุ่งพัฒนาในเส้นเลือดฝอย ซึ่งก็ตรงกับที่ผมมีความสนใจเรื่องคน เรื่องชุมชน จึงเกิดเป็นความร่วมมือกัน และก็ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยและเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนับแต่นั้นมา”

คุณศานนท์ บอกกับเราว่า หนึ่งในผลงานที่ต้องการผลักดันคือเส้นเลือดฝอยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างเช่น Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) แพลตฟอร์มที่รับแจ้งร้องเรียนด้านปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาถนนไม่เรียบ ปัญหาฟุตบาท ปัญหาต้นไม้โดนตัด ปัญหาทางเท้าหาบเร่แผงลอยฯลฯ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในอดีตการร้องเรียนปัญหาแต่ละครั้งยังไม่มีเจ้าภาพในการรับเรื่องแก้ปัญหา ทำให้ เช่น เรื่องป้ายรถแมล์บนฟุตบาท ก็ต้องติดต่อถึง 13 หน่วยงาน อาทิ ขสมก.  ติดต่อ รถเมล์ รถร่วม ติดต่อตำรวจ เป็นต้น ดังนั้น Traffy Fondue จึงเป็นเครื่องมือที่เข้ามาแก้ไขในจุดนี้ โดยไม่ว่าปัญหาใดก็ตามทางเขตในแต่ละพื้นที่ต้องเป็นผู้รับเรื่องก่อน และเขตมีหน้าที่เป็นhost ว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดที่ต้องดูแลแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ Traffy Fondue ยังให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ได้ เช่น ทางเขตแจ้งว่าได้มีการแก้ไขแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข กด reopenก็สามารถให้ดาวได้ ให้คะแนนเขตได้ ให้คะแนนผู้ว่าได้ เป็นการให้อำนาจในการตรวจสอบและคัดกรองการทำงานของหน่วยงานราชการให้กับประชาชน

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้บอกแนวคิดที่น่าสนใจด้วยว่า หัวใจสำคัญของการสร้างความสำเร็จให้กับตตัวเขา คือการตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด หากเป็นเอกชนก็ต้องทำให้เต็มที่ และต้องรู้ถึงความหมายของสิ่งที่ทำ ตัวอย่างเช่น คนทำความสะอาดหรือเป็นแม่บ้านในโรงแรม มองว่าเขาไม่ได้เป็นคนทำความสะอาด แต่จริงๆ แล้วเขากำลังทำให้นักท่องเที่ยวมีความสุขมากที่สุดที่ได้มานอนโรงแรม ดังนั้นการทำให้รู้ความหมายของงานที่ตัวเองทำ จะทำให้เข้าใจและมีความตั้งใจในการทำงานมากขึ้น

“อย่างแต่ก่อน ผมอาจจะอยู่ในบทบาทของธุรกิจเพื่อสังคม แต่เมื่อได้เป็นรองผู้ว่าฯ วันนี้ก็ยังทำเรื่องเดิม คือการพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นที่ทำมาตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา เพียงแค่ปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้น แต่ความหมายในเป้าหมายไม่เคยเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราต้องพัฒนาตนเอง คือต้องเข้าใจว่าตนเองทำอะไรอยู่ และสิ่งนั้นมีความหมายอย่างไรต่อชีวิตตนเอง ดังนั้นการรู้ความหมายในสิ่งที่ทำจะสร้างเสริมพลังและความตั้งใจให้ดียิ่งขึ้น” นาย ศานนท์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...