ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ราชินีซีเอสอาร์
02 มิ.ย. 2565

#CSRconten tโดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

ราชินีซีเอสอาร์

สุภาพสตรีที่มีบทบาทโดดเด่นในระดับโลก ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี(CG) ที่ขอกล่าวถึงอย่างยกย่องและเป็นแบบอย่างในวันนี้ บารอนเนส เวอร์มา : Baroness Verma นักธุรกิจหญิง นักการเมืองและสมาชิกสภาขุนนาง (House of Lords) ที่ได้รับการแต่งตั้งตั้งแต่ปี 2006 เธอได้ทําหน้าที่สำคัญในพรรคอนุรักษ์นิยม สหราชอาณาจักร ทั้งในบทบาทรัฐมนตรีและฝ่ายค้าน ในช่วงที่ดำรงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศ (Minister for International Development) เธอเสมือนเป็นผู้นำโลกในเรื่องการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง บารอนเนส เวอร์มา ยังดำรงตำแหน่งประธาน UN Women UK องค์กรระดับโลกที่ทํางานเพื่อสนับสนุนให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นได้จริงในทุกด้าน ทุกระดับ ตั้งแต่โครงการระดับรากหญ้าที่มีผู้หญิงและเด็กหญิงที่เปราะบางที่สุด ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยรัฐบาลออกแบบนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ

เราได้พบเธอในเวทีสัมมนาและงานมอบรางวัล Golden Peacock Award ด้าน CSR, CG และ Sustainability  หลายเวทีที่จัดในประเทศอังกฤษ โดย Institute of Directors, India ทุกครั้ง บารอนเนส เวอร์มา จะขึ้นเวทีพร้อม Speech ที่ไพเราะสละสลวยแต่ทรงพลังที่สุด เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระที่ต้องการสื่ออย่างชัดเจน การมองโลกในแง่บวก แรงบันดาลใจ และความพยายามให้ mission possible  

สัมผัสได้ว่า บารอนเนส เวอร์ม่า ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนจากหลากหลายเชื้อชาติ พื้นที่ พื้นเพ เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปสู่สาธารณะ ควบคู่ไปกับการผลักดันแนวคิดด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้เข้าไปอยู่ในจิตสำนึก กระทั่งจิตวิญญาณ อีกทั้ง มีความสนใจในเรื่องความหลากหลาย ปัญหาทางเพศ การต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติ การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและกิจการระหว่างประเทศ ในปี 2011 เธอได้รับรางวัลจากประธานาธิบดีอินเดีย ในนามของรัฐบาลอินเดีย ยกย่องความสําเร็จในด้านการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมส่งเสริมเกียรติยศและศักดิ์ศรีของอินเดีย และผลประโยชน์ของชาวอินเดียโพ้นทะเล 

บารอนเนส เวอร์มา เกิดที่เมืองอมฤตสาร์ รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย ครอบครัวย้ายมาอยู่ที่เมืองเลสเตอร์ สหราชอาณาจักร ตั้งแต่เธออายุ 1 ขวบ เธอศึกษาด้านจิตวิทยาและธุรกิจ โดยเริ่มต้นธุรกิจแฟชั่นของตัวเองครั้งแรกในปี 1978 เมื่ออายุ 19 ปี และเปลี่ยนธุรกิจเป็นภาคบริการสังคมในปี 2000 ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางในประเทศอินเดีย ถึงกับมีคำพูดว่า เป็นการสูญเสียของอินเดีย แต่เป็นกําไรของสหราชอาณาจักร

ในเวทีสัมมนาด้าน CSR มีหลายกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโครงการ CSR ที่ได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐแล้วภาคเอกชนนำมาปฏิบัติ จนเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างกว้างขวาง และกลายเป็น case study ที่แพร่หลายออกไปยังประเทศอื่น ยกตัวอย่างเช่น “The Neem Project” Neem หรือสะเดาในอินเดียเป็นต้นไม้วิเศษที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เพื่อช่วยชุมชนเกษตรกรรม นายกรัฐมนตรี Shri Narendra Modi มีนโยบายในปี 2015 ให้ปุ๋ยยูเรียทั้งหมดที่ขายในอินเดียจะต้องเคลือบสะเดา 100% บริษัทปุ๋ยจึงจําเป็นต้องจัดหาน้ำมันสะเดาสําหรับการเคลือบซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการนําเข้า อย่างไรก็ตาม บริษัท GNFC หรือGujarat Narmada Valley Fertilizers and Chemicals Ltd. ซึ่งเป็นองค์กรการค้าที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินเดีย ได้เป็นผู้นําในการแก้ปัญหา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการจัดหาน้ำมันสะเดาแทนการนำเข้า

  

The Neem Project  จึงเกิดขึ้นเป็นโครงการทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องกับคนยากจนในชนบทกว่า 450,000 คน เป้าหมายคือการใช้โครงการ Neem เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้สําหรับกลุ่มชายขอบ โดยมุ่งเน้นเป็นพิเศษในการเสริมสร้างพลังอํานาจของผู้หญิง ทำให้มีการรวมกลุ่มกันเก็บรวบรวมเมล็ดสะเดาให้โครงการ Neem Project ยังส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่างเช่น สบู่ แชมพู สารกําจัดศัตรูพืช Neem ที่สามารถขายได้ โครงการ Neem ทั้งหมดจึงมีศักยภาพยั่งยืนทางการเงินและมีจุดเด่น คือกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่า การศึกษาการประเมินผลกระทบโดย UNDP แสดงให้เห็นว่านอกเหนือจากจุดมุ่งหมายเดิมแล้ว โครงการ Neem ยังช่วยชุมชนอีกหลายด้าน เช่น การฝึกอบรมทักษะให้กับผู้หญิงในชนบท รายได้เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก การเพิ่มบทบาทในการตัดสินใจให้ผู้หญิงในครัวเรือน การลดความรุนแรงในครอบครัว และการเปลี่ยนแปลงจากผู้รับค่าจ้างรายวันเป็นผู้ประกอบการในชนบท เมื่อเทียบกับธุรกิจปุ๋ยและเคมีของ GNFC รายได้ที่เกิดจาก Neem Project ถือว่าไม่มีนัยสําคัญ หากแต่Neem Project กําลังสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือผลกระทบเชิงบวกต่อชีวิตของผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ GNFC จึงมีความทะเยอทะยานที่จะปรับขนาดโครงการทั่วประเทศอินเดีย รวมถึงการส่งเสริมให้องค์กรอื่นที่คล้ายคลึงกันนํารูปแบบของพวกเขามาใช้

บารอนเนส เวอร์มา กล่าวว่า “ฉันอยากมีชีวิตในที่สาธารณะมาตลอด ฉันดูอินทิราคานธีตอนเด็กๆ และเห็นผู้หญิงเข้มแข็งที่ยอดเยี่ยมคนนี้ และเธอก็เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันสนใจการเมือง เมื่ออายุ 11 ปี ฉันเขียนเรียงความเรื่อง ฉันอยากเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดีย”

ขอแค่บุคคลสาธารณะมีความจริงใจและจริงจังที่จะเปลี่ยนแปลง อะไรก็สำเร็จ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...