ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ผู้ว่าฯ กทม. : จากอดีตถึงปัจจุบัน
08 พ.ค. 2565

เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์

ผู้ว่าฯ กทม. : จากอดีตถึงปัจจุบัน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ มาถึงตอนนี้คงยังไม่ถึงวันเลือกตั้งผู้ว่า กทม.และสมาชิกสภา กทม.อีกห้าสิบคนนะครั[ แต่ก็น่าจะเป็นที่สนใจกันทั้งประเทศไม่น้อยกว่าเลือกตั้งระดับชาติ พูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ครั้งนี้ ก็อยากจะเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังเรื่องในอดีตของการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.สักครั้ง ก่อนจะได้ทราบว่าใครจะเป็นผู้ว่า กทม.คนใหม่ในปี 2565 นี้นะครับ

ย้อนไปในอดีต ผู้ว่า กทม.เป็นข้าราชการการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา ซึ่งในช่วงปี 2516 ถึงปี 2518 มีผู้อยู่ในตำแหน่งนี้สี่ท่านคือ นายชำนาญ ยุวบูรณ์ นายอรรถ วิสูตรโยธาภิบาล นายศิริ สันตะบุตร และนายสาย หุตะเจริญ ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 จึงมีการเลือกตั้งครั้งแรก และมีการกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งสี่ปี ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเกิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2518

ปรากฎว่า นายธรรมนูญ เทียนเงิน ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. แต่นายธรรมนูญอยู่ไม่ครบเทอมเนื่องจากเกิดความขัดแย้งรุนแรงทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จนนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ตัดสินใจใช้มาตรา 21 แห่งรัฐธรรมนูญ 2519 ปลดนายธรรมนูญออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2520

ต่อมารัฐบาลกลับไปใช้รูปแบบการแต่งตั้งตามเดิม จึงมีผู้ว่าฯ มาจากการแต่งตั้งอีก 4 คน คือนายชลอ ธรรมศิริ นายเชาวน์วัศ สุดลาภา พลเรือเอกเทียม มกรานนท์ และนายอาษา เมฆสวรรค์ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2528 สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารกรุงเทพมหานคร 2528 กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นครั้งที่สองในปี 2528 คนกรุงเทพฯ จึงเลือกพลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 พลตรีจำลองอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระสี่ปี ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 ปรากฎว่าในวันที่ 7 มกราคม 2533 พลตรีจำลองได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ อีกครั้ง แต่ก่อนครบวาระพลตรีจำลองได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2535 กทม.จึงมีการเลือกตั้งใหม่ ชาวกรุงเทพฯได้เลือก ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นผู้ว่าฯ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2535 ซึ่ง ร.อ.กฤษฎาท่านนี้เคยเป็นรองผู้ว่าสมัย พลตรี จำลอง แต่ในการลงเลือกตั้งครั้งนั้น ร.อ.กฤษฎาลงสมัครโดยไม่สังกัดกลุ่มใดครับ ร.อ.กฤษฎาอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระสี่ปี

ต่อมาได้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2539 นายพิจิตต รัตตกุล ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ และอยู่จนครบวาระสี่ปีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543  ผู้ว่าฯ ที่ได้รับการเลือกตั้งคนต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 คือนายสมัคร สุนทรเวช ครบวาระสี่ปี คนต่อมานายอภิรักษ์ โกษะโยธิน พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2547 นายอภิรักษ์ก็อยู่ในตำแหน่งครบสี่ปีเช่นกัน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ได้เข้ามามีบทบาททั้ง กกต.กลางและ กกต.กทม.จากเดิมที่เป็นหน้าที่ของปลัดกรุงเทพมหานคร ครั้งนั้นมีกติกาเพิ่มขึ้นมากมาย ไม่ว่าการกำหนดหน่วยเลือกตั้ง ข้อห้ามหาเสียง มีการให้ใบแดงหากมีการฝ่าฝืน หากพบหลักฐานคลุมเครือและมีเหตุน่าเชื่อถือจะให้ใบเหลือง

นอกจากนี้ การนับคะแนนจากที่เคยนับที่หน่วยเลือกตั้งและส่งผลคะแนนมาให้ที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ โดยให้ปลัด กทม.เป็นผู้ประกาศผลให้เปลี่ยนเป็นนับคะแนนรวมที่เขตปกครอง แล้วนำผลแต่ละเขตไปรวมที่ศาลาว่าการ กทม.เพื่อประกาศผล จากนั้นจึงส่งผลคะแนนให้ กกต.กลางประกาศผลเป็นทางการ ส่วนค่าใช้จ่ายผู้สมัครแต่ละคนเดิมประเมินให้คนละไม่เกิน 21 ล้านบาท เพิ่มเป็น 37ล้านบาท

ต่อมาการเลือกตั้งวันที่ 5 ตุลาคม 2551นายอภิรักษ์ได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง แต่อยู่ไม่ครบวาระเพราะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดีจัดซื้อรถ เรือดับเพลิง จากนั้นได้มีการเลือกตั้งวันที่ 11 มกราคม 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกอยู่ในตำแน่งตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2552 ถึง 9 มกราคม 2556 และประกาศลาออกก่อนครบวาระสี่ปีเพียงวันเดียวเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ และวันที่ 3 มีนาคม 2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ก็อยู่ในตำแหน่งไม่ครบวาระต้องพบกับข้อหาทุจริตโครงการติดตั้งอุโมงค์ไฟ กทม.

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯชั่วคราว ออกคำสั่งให้พักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ไว้ก่อนโดยไม่พ้นจากตำแหน่ง และวันเดียวกันมีคำสั่งแต่งตั้ง พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่า ฯ กทม. โดยกำหนดให้ดำรงตำแหน่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือ คสช.มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ครับวันนี้ปี่กลองเลือกตั้งผู้ว่า ฯและสมาชิกสภา กทม.ดังขึ้นอีกครั้งหลังจากเงียบหายไปนาน ส่วนที่ว่าผู้สมัครผู้ว่าฯครั้งนี้ซึ่งมีถึง 31 คน นับว่ามากสุดเท่าที่เคยมีมา และ สก.อีกเกือบสี่ร้อยคน กับผู้มีสิทธิลงคะแนนสี่ล้านกว่าคนใครจะเลือกใครคงทราบกันในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นะครับ ขอให้เลือกคนดีๆ มีวิสัยทัศน์ มีแนวคิดแก้ปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมานานอย่างเป็นรูปธรรม สำคัญซื่อสัตย์ครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...