ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สปสช.เผย 1330 สายแน่น วอนลดโทรตามความคืบหน้า
08 มี.ค. 2565

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสถานการณ์ของสายด่วน สปสช. 1330 ว่า ขณะนี้มีปัญหาเรื่องการโทรไม่ติด เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 และประชาชนจำนวนมากโทรเข้ามากว่า 40,000-70,000 สาย/วัน จนเกินศักยภาพของระบบที่จะรองรับได้ทัน อีกทั้งมีผู้ติดเชื้อหลายรายที่ลงทะเบียนเข้าระบบการดูแลแบบ รักษาที่บ้าน (Home Isolation: HI) แต่ยังรอการตอบรับจากหน่วยบริการนาน
อย่างไรก็ดี ขณะนี้สายที่ติดต่อไม่ได้หรือสายหลุด (Abandon) เริ่มลดลงจาก 60% เหลือประมาณ 20% แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ สปสช. ต้องการให้สายที่หลุดลดลงน้อยกว่า 5% ดังนั้น ระหว่างนี้ขอความร่วมมือผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเพื่อนกับไลน์ สปสช. @nhso หรือ https://lin.ee/zzn3pU6 และระหว่างที่หน่วยบริการติดต่อมา ท่านที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย สามารถขอรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้านที่สถานพยาบาลตามสิทธิ หรือสถานพยาบาลภาครัฐใกล้บ้านก่อนได้
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข หากตรวจ Antigen Test Kit (ATK) แล้วขึ้น 2 ขีด ติดเชื้อโควิด-19 หากเป็นกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวเองที่บ้านหรือนโยบาย "เจอ แจก จบ" ของกระทรวงสาธารณสุขได้เลย โดยไปโรงพยาบาลตามสิทธิรักษา หรือสถานพยาบาลภาครัฐใกล้บ้านได้ แต่แนะนำให้โทรนัดหมายก่อน
"กรณียืนยันต้องการลงทะเบียนรักษาที่บ้าน ลงทะเบียนได้ตามระบบที่มีของแต่ละจังหวัด หรือกรณีไม่ทราบว่าแต่ละจังหวัดมีช่องทางการลงทะเบียนรักษาที่บ้านอย่างไร ก็ลงทะเบียนผ่านระบบของ สปสช. ทางสายด่วน 1330 กด 14 หรือที่เว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI หรือไลน์ สปสช. ได้เช่นกัน" นพ.จเด็จ กล่าว
ทั้งนี้ ระหว่างรอการรักษา ไม่ว่าจะเป็นลงทะเบียนแล้วแต่สถานพยาบาลยังไม่ติดต่อกลับ ท่านสามารถรักษาตัวเองตามอาการได้ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ แก้เจ็บคอ ลดน้ำมูก ดื่มน้ำมากๆ เป็นต้น
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลสายที่โทรเข้า พบว่ากว่า 50% เป็นสายจากผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ HI แล้ว โทรเข้ามาติดตามสอบถามความคืบหน้า เนื่องจากยังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยบริการหรือรอการตอบรับนานหลายวัน ทำให้คนไข้รายใหม่โทรไม่ติดหรือเข้าสู่การลงทะเบียนได้ช้า
"ในกรณีติดตาม ยังไม่ได้รับบริการจากหน่วยบริการนั้น สปสช. ได้รับเรื่องและส่งให้แต่ละหน่วยบริการทราบ ด้วยเหตุนี้จึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลงทะเบียนแล้ว ลดความถี่หรืองดเว้นการโทรติดตามความคืบหน้า จะช่วยลดจำนวนสายโทรเข้า 1330 ลงได้อย่างมาก และช่วยให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่สามารถโทรติด หรือลงทะเบียนเข้าระบบ HI ได้เร็วมากขึ้น" นพ.จเด็จ ระบุ
พร้อมย้ำว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลงทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะผ่านช่องทางสายด่วน ไลน์ เฟสบุ๊ก หรือการลงทะเบียนด้วยตัวเองผ่าน QR code ก็ตาม ข้อมูลจะถูกเก็บอยู่ในฐานข้อมูล และไม่ต้องกังวลว่าจะตกหล่นสูญหาย เพียงแต่ปัญหาการรอนาน หรือไม่มีหน่วยบริการตอบกลับ อาจเกิดจากขณะนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ มีมากจนเกินศักยภาพของหน่วยบริการที่จะรองรับได้หมด และต้องรอ discharge ผู้ป่วยเดิมในระบบออกไปก่อน จึงจะสามารถรับผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาดูแลได้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อหลายรายที่ต้องรอนาน
สำหรับในประเด็นดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขไม่นิ่งนอนใจ ได้ขยายศักยภาพหน่วยบริการรวมทั้งจัดระบบบริการอื่นๆ เป็นทางเลือกในการรองรับผู้ป่วย เช่น การจัดระบบ "เจอ แจก จบ" ให้ผู้ป่วยไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกใน 14 จังหวัดใกล้เคียง กทม. เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับการตอบรับเข้าสู่การดูแลแบบ HI จากหน่วยบริการในพื้นที่ โดยสามารถไปใช้บริการได้ทุกสิทธิ และไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนหน่วยบริการประจำกับโรงพยาบาลนั้นๆ
นอกจากนั้น ในวันนี้ทีมงานและจิตอาสาของ สปสช. จะลงพื้นที่จะนำยาฟ้าทะลายโจรไปกระจายให้แก่ชุมชนต่างๆ ใน กทม. กว่า 900 ชุมชน เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่มาก เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนไข้ที่ลงทะเบียนแล้วหน่วยบริการไม่ติดต่อกลับไปเกิน 5 วัน หากมีอาการเล็กน้อย สามารถประสานกับผู้นำชุมชนเพื่อรับยาฟ้าทะลายโจรได้ทันที
"เราเข้าใจดีว่า เมื่อลงทะเบียนไปแล้วไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยบริการ ทำให้ประชาชนมีความกังวลใจ และพยายามติดต่อสอบถามความคืบหน้าอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งต้องขออภัยที่ท่านไม่ได้รับความสะดวก อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในขณะนี้อยู่ในภาวะไม่ปกติและเกินศักยภาพที่ระบบสายด่วน 1330 จะรองรับการโทรได้หมด ดังนั้น สปสช. ขอความร่วมมือในการลดความถี่ หรืองดเว้นการโทรติดตามความคืบหน้า หากยังไม่มีหน่วยบริการตอบรับดูแลท่านเข้าสู่ระบบ Hl การลดความถี่หรืองดเว้นการโทรเข้ามาเพื่อสอบถามความคืบหน้า จะช่วยลดปริมาณสายเข้าในระบบและทำให้โทรติดได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาลงทะเบียนได้เร็วขึ้น ภาระงานของเจ้าหน้าที่ที่สายด่วนที่ต้องตอบคำถามเหล่านี้ ก็จะสามารถนำเวลาไปใช้ในการประสานหาหน่วยบริการให้แก่ท่านได้มากขึ้น" นพ.จเด็จ กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...