ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
วว. โชว์ผลดำเนินงาน ปี 64
31 ธ.ค. 2564

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.)   โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  เผยผลการดำเนินงานปี 2564  ผลิตผลงานวิจัยพัฒนา องค์ความรู้นวัตกรรมใหม่ สามารถนำไปใช้ได้จริง และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 1,000 ราย  ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันผู้ประกอบการไทย คิดเป็นมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี รวมมูลค่าผลกระทบที่เกิดจากผลงานของ วว. มากกว่า 6,000 ล้านบาท  ย้ำเป้าหมายดำเนินงานในก้าวย่าง  60 ปี มุ่งเน้นตอบโจทย์ประเทศ  ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG  ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19  พร้อมปรับกลยุทธ์องค์กรนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น   

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา    เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ วว.  กล่าวว่า  วว. มุ่งดำเนินงานให้องค์กรเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยพัฒนาที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงบูรณาการ สร้างความมั่นคง  มั่งคั่ง  ยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำ เป็นองค์กรที่สามารถประยุกต์ใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ด้วยบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ และบริหารจัดการทันสมัย มีธรรมาภิบาล  โดยผลสำเร็จการดำเนินงานปี 2564  วิจัยพัฒนาผลงานเด่น  ที่ตอบโจทย์ ช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศเป็นรูปธรรม  สามารถนำไปใช้ได้จริง และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า  1,000 ราย  ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันผู้ประกอบการให้มีมาตรฐานการผลิตและคุณภาพ  สินค้าได้รับการยอมรับและสามารถแข่งขันได้ทันเทียมต่างประเทศ   คิดเป็นมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 1,500 ล้านบาท  รวมมูลค่าผลกระทบที่เกิดจากผลงานของ วว. มากกว่า 6,000 ล้านบาท ดังนี้

การสนองตอบนโยบาย BCG   อาทิ   1) จัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน BCG โดยจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน   (Community  Seed  Bank)   ณ สถานีวิจัยลำตะคอง  จังหวัดนครราชสีมา  มีศักยภาพอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืช  20-50  ปี  เก็บรักษาตัวอย่างเมล็ดพืชสูงสุด 10,000 ตัวอย่าง  มุ่งขับเคลื่อน  3  มิติ   คือ  สำรวจ-อนุรักษ์  วิจัย-นำไปใช้ประโยชน์และให้บริการชุมชน  2) พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีชีวภาพ  ได้แก่  นวัตกรรมน้ำตาลที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “น้ำตาลพาลาทีน” ให้แก่ บริษัทน้ำตาลราชบุรี  กำลังการผลิต 60 ตันต่อปี มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10 ล้านบาทต่อปี และมีแผนการส่งออกในอนาคต  3)  พัฒนาเทคโนโลยีสกัดโปรตีนเข้มข้นจากพืชฐานชีวภาพของไทยระดับห้องปฏิบัติการ  โดยร่วมกับบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สำหรับผลิตเป็นอาหารฟังก์ชั่นสู่เชิงพาณิชย์ (Plant  Based  Meat) ที่ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์เทียม 4) พัฒนาสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำถิ่น  โดยการทดสอบคุณภาพ  ประสิทธิภาพ  ส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนจังหวัดน่านผลิตสารสกัดสมุนไพรส่งให้บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด และนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรตรีผลา มีมูลค่าการตลาดประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี และยังส่งเสริมสมุนไพรอัตลักษณ์อื่นๆ เช่น ใบหมี่ และมะไฟจีน เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

 5) การพัฒนาไบโอเมทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง  เพื่อต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยและลดการนำเข้าเมทานอล 100%  โดยมีบริษัท BLCP นำผลงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการไปขยายผลและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ  6) การจัดการขยะชุมชนครบวงจรและสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ โดยขยายผลความสำเร็จจากโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ภายใต้ “ตาลเดี่ยวโมเดล”  เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ สระบุรี ชลบุรี เชียงราย และหนองคาย สร้างรายได้ให้หน่วยงานท้องถิ่นกว่า 10  ล้านบาทต่อปี พร้อมมุ่งขยายผลการดำเนินงานไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ  7) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไม้ดอกไม้ประดับ   รวมกลุ่มผู้ประกอบการได้จำนวน 124 กลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 90 ล้านบาทต่อปี  บูรณาการความร่วมมือภาครัฐ/เอกชนจังหวัดเลย จัดตั้ง “มาลัยวิทยสถาน” เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ตอบโจทย์ผู้บริโภค/ธุรกิจ รักษ์สิ่งแวดล้อม ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์   อาทิ   1) ผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมูลค่าข้าวไรซ์เบอรี่   ได้แก่  ไซรัปชนิดเข้มข้น  น้ำสัมสายชูหมัก  ไซเดอร์  สำหรับใช้เป็นส่วนผสมอาหาร  ผลิตภัณฑ์มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีสารสำคัญสูง “วิตามิน  E , B  , B 1  และสารต้านอนุมูลอิสระ” ปราศจากไขมันอิ่มตัว เหมาะเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภคสายสุขภาพ  2) “AcAnes” ผลิตภัณฑ์เจลชาเฉพาะที่จากสารสกัดผักคราดหัวแหวน    เป็นผลิตภัณฑ์เจลใสทาภายนอกที่ผ่านการประเมินความปลอดภัยต่อผิวหนังสัตว์ทดลอง ใช้ในการระงับความรู้สึก บรรเทาอาการเจ็บปวด  ทดแทนยาชาเฉพาะที่ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ในรูปแบบของยาฉีด 3) ต้นแบบบรรจุภัณฑ์สีเขียวจากชานอ้อย สำหรับให้บริการอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล   สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ  ช่วยลดขยะพลาสติก ลดเศษอาหารเหลือทิ้ง ลดการใช้น้ำและลดน้ำเสีย ผลิตภัณฑ์มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน สามารถบรรจุอาหารได้ทุกประเภท  4) ผลิตภัณฑ์ยางกันกระแทกจากยางพารา  มีคุณสมบัติเชิงกลและความยืดหยุ่นสูง  ทนทานต่อสภาพอากาศในสภาวะเร่งการเสื่อมอายุ ป้องกันการขูดขีด และอันตรายจากอุบัติเหตุต่างๆ จากยานพาหนะ  สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางพาราได้ประมาณ 3-4 เท่า ช่วยลดปริมาณการใช้สารปิโตรเคมีซึ่งมีปัญหาด้านการกำจัด/ทำลายและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

การดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล  ได้แก่   การดำเนินงานตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังโควิด-19 จำนวน 2 โครงการ ดังนี้  1) ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM)   เป็นคลังหัวเชื้อจุลินทรีย์กว่า 10,000  ชนิด ขยายการผลิตจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นได้ 25,000 ลิตรต่อปี พัฒนานวัตกรรมจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่โดดเด่นได้ 15 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพตามมาตรฐานของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกกับ อย. แล้ว 8 สายพันธุ์ และอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน 7 สายพันธุ์  พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เสริมโพรไบโอติก  ได้แก่  ไอศกรีม  นมอัดเม็ด ปลาร้าผง  น้ำพริกพร้อมทาน เครื่องดื่มชงเย็น  jelly  และพัฒนาอาหารเสริมสูตรฟังก์ชั่นสำหรับลดน้ำหนัก สร้างภูมิคุ้มกัน  ลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน  กระตุ้นการทำงานของสมอง และปรับสมดุล   รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมการยืด Shelf life ของโพรไบโอติกในผลิตภัณฑ์ต่างๆ  นวัตกรรมลดต้นทุนการผลิตโพรไบโอติกเพื่อการแข่งขันด้านราคากับสินค้านำเข้า  นวัตกรรม synbiotics และ post-biotics  เพื่อเสริมภูมิสุขภาพและป้องกันโรค NCDs  สร้างผู้ประกอบการได้ 41 ราย  ชดเชยการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์ 30%  ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ  380  ล้านบาท ผลกระทบทางสังคม 110  ล้านบาท

2) โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล    ประสบผลสำเร็จผลิตสารชีวภัณฑ์  จำนวน  5  สายพันธุ์   เป็นการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม ไม่มีสารพิษตกค้าง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภาคกลางตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และอยุธยา ส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม 370 ล้านบาท

นอกจากนี้ วว. ได้ตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล  ในการให้บริการ LAB สกัด ทดสอบ วิเคราะห์ กัญชา/กัญชง สำหรับใช้ทางการแพทย์  เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ สร้างความมั่นคงด้านยาของประเทศ ป้องกันการผูกขาดทางด้านยารวมถึงการพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่มีอยู่ วว. ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทดสอบสาระสำคัญจากพืชสมุนไพร การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสุขภาพจากสารสกัดสมุนไพรที่ตอบโจทย์ดำเนินการเปิดห้องปฏิบัติการให้บริการสกัด ศึกษาประสิทธิภาพความปลอดภัย ตรวจวิเคราะห์ทดสอบสารสกัดจากกัญชา/กัญชงสำหรบใช้ทางการแพทย์ ครอบคลุม  5 ชนิดตัวอย่าง ได้แก่ พืชกัญชา ตำรับยาแผนไทย น้ำมันกัญชา สารสกัด ผลิตภัณฑ์ยาจากน้ำมันกัญชา ดำเนินงานภายใต้ระบบ ISO 17025

          บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร   เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค  วว. เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย  ให้บริการในรูปแบบ  One  stop  service   รวดเร็ว  ถูกต้อง  แม่นยำ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสารสกัดฟ้าทะลายโจร มอก.2928-2562  และมาตรฐานยาสมุนไพรไทย  Thai  Herbal  Pharmacopoeia : (THP) รวมถึงวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

บริการวิเคราะห์ ทดสอบ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า    ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง  วว.  พร้อมให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ และให้คำปรึกษาทางวิศวกรรม  โดยบุคลากรที่เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่า 10 ปี  ครอบคลุมงานวิเคราะห์ ทดสอบ  4 ด้านสำคัญ  คือ  งานบริการสนับสนุนการออกแบบสำหรับพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (BEV และ EV-BUS  งานทดสอบรับรองคุณภาพตามมาตรฐานและให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์   งานทดสอบต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีการทดสอบขนาดจริง  (4 Post  full  scale  vehicle  test) และงานพัฒนาฐานข้อมูลมาตรฐานและการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า  ศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งาน การบำรุงรักษาของยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อนำมาวิเคราะห์ทางสถิติด้านวิชาการ และเป็นฐานข้อมูลสำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

“...ผลการดำเนินงานของ วว. ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นนำวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม  เป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ที่สอดคล้องกับทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติ  วว. พร้อมเป็นกลไกบูรณาการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของประเทศ...” ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. กล่าว

 สำหรับก้าวต่อไปของ วว. ในปีที่ 60 ของการดำเนินงานองค์กรปี พ.ศ. 2565 นั้น ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  กล่าวว่า  วว. มุ่งมั่นผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ รองรับและช่วยฟื้นฟูผลกระทบอันเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19  นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐาน เป้าหมาย การดำเนินธุรกิจ  ตลอดจนขั้นตอนการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร  โดยนำหลักการ 3S+  ได้แก่ Sharing  Speed  Satisfaction และ Sustainability  เป็นกรอบการทำงานร่วมกัน รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการนำ 4 Guiding Principles เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของ วว. ได้แก่ Bio Based Research  วิจัยและพัฒนาบนฐานของทรัพยากรชีวภาพ  Appropriate Technology พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาและสนองตอบความต้องการของผู้ใช้งาน Total Solution Provider  การบริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจนสู่ระดับเชิงพาณิชย์อย่างครบวงจรจนถึงส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการทุกระดับ และ  Area  Based  มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ  โดย วว. ให้ความสำคัญกับการผนึกกําลังทํางานในรูปแบบ “จตุรภาคี” (Quadruple Helix) กับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน สังคม มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และเครือข่ายต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของเศรษฐกิจประเทศต่อไป

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  จาก วว.   ได้ที่   โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 อีเมล tistr@tistr.or.th  เว็บไซต์ www.tistr.or.th  Line@tistr  IG : tistr_ig

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...