ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
No One is Too Small to Make a Difference
21 พ.ย. 2564

#CSRcontent โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

No One is Too Small to Make a Difference

เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) สาวน้อยนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 18 ปี ปลุกกระแส Greta Mania ทันทีที่เดินทางถึงกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ธันเบิร์กเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงลอนดอนมุ่งหน้าสู่กลาสโกว์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP 26 (COP:Conference of the Parties) ที่เปิดฉากขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2021 โดยเลือกที่จะไม่เดินทางโดยเครื่องบินเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ธันเบิร์กเคยขึ้นกล่าวสุนทรพจน์รณรงค์ลดโลกร้อนในหลายเวทีโลกด้วยถ้อยคำที่หนักหน่วง  เช่น ในการประชุม COP24 ปี 2018 ที่ประเทศโปแลนด์ เธอกล่าวว่า ชั้นบรรยากาศถูกสังเวยเพื่อคนรวยจะได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างหรูหรา และในปี 2019 ในการประชุม UN Climate Action Summit ในกรุงนิวยอร์ค เธอกล่าวว่า วิทยาศาสตร์ตอบชัดเจนมากว่า 30 ปี คุณกล้าดีมากที่ไม่ยอมให้ความสำคัญกับมันแล้วยังมาบอกว่าพวกคุณทำดีพอแล้ว ทั้งๆ ที่นักการเมืองยังไม่ได้ทำอะไรเลย ในปีนี้เธอไม่ได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวที COP 26 อย่างเป็นทางการ 

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะประมุขของสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงาน COP 26 ไม่ได้เสด็จมาร่วมประชุมด้วยปัญหาสุขภาพ หากแต่ทรงมีพระราชกระแสผ่านทางระบบออนไลน์แทน ก่อนนั้น CNN ได้รายงานวิเคราะห์พระราชดำรัสของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ ในประเด็นใหญ่ที่ทรงต้องการสื่อถึงชาวโลก เริ่มจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ประทานสัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ถึงการประชุมที่จะเกิดขึ้นว่า ผู้นำโลกเพียงแต่มาพูดคุยกันแต่จริงๆแล้วปัญหาจะต้องได้รับการลงมือแก้ไข ซึ่งข้าพเจ้าพยายามทำมาตลอด 40 ปี

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงตอกย้ำถึงสารนี้เมื่อตรัสถึงการประชุม COP26 ระหว่างเสด็จเมืองคาร์ดิฟฟ์เพื่อทรงเป็นประธานเปิดรัฐสภาเวลส์ว่า น่าหงุดหงิดที่ผู้นำโลกเพียงแต่พูดกันแต่ไม่ลงมือทำ และเจ้าชายวิลเลียม ทรงให้ความเห็นถึงกระแสนิยมที่มหาเศรษฐีทุ่มเงินมหาศาลไปกับการท่องเที่ยวอวกาศ แทนที่จะนำเงินและพลังงานเหล่านั้นมาใช้ให้ก่อประโยชน์กับโลก เจ้าชายวิลเลียมทรงริเริ่มให้มีรางวัลระดับโลก Earthshot Prize เพื่อจูงใจให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงและซ่อมแซมโลกใน 10 ปีข้างหน้า โดยประกาศรางวัลครั้งแรกในวันที่ 17 ตุลาคม 2021 Vinisha Umashankar ผู้เข้ารอบสุดท้ายรางวัล Earthshot Prize วัย 15 ปีจากอินเดีย ได้ขึ้นเวที COP 26 กล่าวเรียกร้องให้ผู้นำระดับโลก องค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม และผู้นำทางธุรกิจให้การสนับสนุนโครงการเพื่อซ่อมแซมโลก

Paris Agreement หรือข้อตกลงปารีส ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการจัดการปัญหาโลกร้อน 195 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม COP21 ที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 ตกลงกันว่า ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มมากกว่า 2 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยจะพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสให้เร็วที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะทางสภาพภูมิอากาศอันจะส่งผลให้ประชากรโลกเกือบ 1 พันล้านคนได้รับผลกระทบ ประเทศต่างๆ จะพยายามลดการปลดปล่อยคาร์บอนจนสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 การประชุม COP26 จะมีการกำหนดแผนและมาตรการเพื่อต่อยอดจากข้อตกลงปารีส รวมถึงเรื่อง climate justice การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานของความเป็นธรรม โดยที่ประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งไม่ได้เป็นผู้ปล่อยคาร์บอนส่วนใหญ่ในอดีต กลับได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก จึงควรได้รับความช่วยเหลือทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่สร้างมลภาวะสู่โลกมากกว่า 

 

ประเทศไทยมีการดำเนินการตามพันธกรณีข้อตกลงปารีส และกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน  20% จากระดับปกติ (ใช้ปี 2005 เป็นเกณฑ์ฐาน) ภายในปี  2030 ขณะที่ปี 2019  ประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 17% จากระดับปกติ ในเวที COP26 นายกรัฐมนตรีไทยได้แสดงเจตจำนงในการยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ และทุกวิถีทางเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 

สอดคล้องกับช่วงเวลาที่โลกจดจ่อกับการแก้ปัญหาโลกร้อน สามหน่วยงานของไทย ได้แก่ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจและประเทศไทย

TEI เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ร่วมขับเคลื่อนในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลอันจะนำ

ไปสู่คาร์บอนสุทธิในอนาคต TBCSD เกิดจากการรวมตัวกันของภาคธุรกิจ เป็น Regional Network ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) สำหรับ ก.ล.ต. กำหนดให้ประเด็นความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเรือธงของแผนยุทธศาสตร์องค์กรที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bio-Circular-Green Economy) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) 

Bill Gates ผู้สามารถเชื่อมโยงความคิดฝันสู่โลกความจริงและขับเคลื่อนการกระทำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยิ่งใหญ่ เมื่อเขาก่อตั้งมูลนิธิ Bill & Melida Gates ก็เอาจริงกับโครงการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อมและตั้งเป้าว่า จะหาทางแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศให้ได้ โดยมองเป้าหมายสูงสุดของการลดคาร์บอนที่ Net Zero ในปี 2050 เท่านั้น ไม่ใช่สร้างและยึดเป้าหมายระหว่างทาง เขามีความเห็นว่า แก่นของการดำเนินการเพื่อลดคาร์บอนได้เล็กน้อยเช่นภายในปี 2030 จะแตกต่างจากการดำเนินการเพื่อให้ไปถึง Net Zero อย่างสิ้นเชิง และการลดอย่างไม่ถูกต้อง อาจขัดขวางไม่ให้ไปถึงศูนย์ได้ด้วยซ้ำ Bill Gates ยอมรับว่า เขาเป็นนักธุรกิจที่ไปไหนมาไหนด้วยเครื่องบินส่วนตัวและทิ้งร่องรอยคาร์บอนไว้ แต่หนทางแก้วิกฤตโลกร้อนต้องอยู่รอดและเติบโตได้เองตามระบบอุปสงค์อุปทานแห่งตลาด ไม่ใช่การกุศล ไม่ใช่การเสียสละที่ต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบกินน้อยใช้น้อย เขาหวังให้ความกรีนเป็นแมส เป็นเทรนด์ที่จะเติบโตต่อไปในโลกทุนนิยม ไม่ใช่เฉพาะของกลุ่มคนรักษ์โลก ดังนั้น นโยบายจากรัฐบาลจึงสำคัญมาก เขาได้แนะวิธีดำเนินการเพื่อแก้วิกฤตสำหรับแต่ละภาคส่วนไว้อย่างชัดเจน ด้วยความเชื่อว่า เราช่วยกันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเครื่องมือที่เรามีอยู่ หากไม่มีก็คิดค้นขึ้นมาใหม่ และถ้าทำได้เร็วพอ เราก็จะรอดพ้น

วันนี้ สิ่งที่เยาวชนอย่าง เกรตา ธันเบิร์ก พยายามผลักดัน กลายเป็นวาระสำคัญของโลกที่ผู้นำต้องกำหนดเป้าหมายและคุยกันอย่างจริงจัง

No One is Too Small to Make a Difference

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...