ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.พรรคพลังท้องถิ่นไทย ผู้ปฏิรูปกระจายอำนาจของประเทศไทย
16 พ.ย. 2564

“ชีวิตผมมาไกลเกินฝันแล้ว” นี่คือวลีเด็ดของเด็กบ้านๆคนหนึ่งที่มุ่งมั่น ค้นหาตัวเองด้วยการแสวงหาความรู้เพื่อถีบตัวเองไปสู่ชีวิตที่ดีและทำตัวให้เป็นประโยชน์กับสังคม ทุกวันนี้ชีวิตเขาทุ่มเทอย่างเดียวคือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ท้องถิ่นมีความก้าวหน้า พัฒนาไปสู่ชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน และตลอดชีวิตก็ทำมาตลอด และจะทำต่อไป ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) พรรคพลังท้องถิ่นไทย อดีตเด็กวัด พัฒนากร อาจารย์มหาวิทยาลัยสู่นักการเมือง บุคคลผู้ปฏิรูปวงการปกครองท้องถิ่นของประเทศไทยโดยเฉพาะการกระจายอำนาจ เพื่อการจัดการตนเองของชุมชน

  • จากเด็กบ้านนอกสู่นักพัฒนาชุมชน

“ชีวิตวัยเด็กผมเป็นลูกชาวสวน คนบ้านๆ อยู่ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช จำได้ว่า วัยเด็กไม่มีรองเท้าใส่ ต้องสลับกับพี่สาวและน้องชาย ต้องตื่นตี4 ตามพี่สาวไปกรีดยางเพราะพ่อขู่บอกว่าจะไม่ให้เรียนหนังสือ จะให้ทำสวน เลี้ยงวัว เลี้ยงควายที่บ้าน คนบ้านๆจะคิดแบบนั้น ผมมาเรียนชั้นม.ศ.3 ที่โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษาเป็นโรงเรียนคริสต์ อยู่ในเมืองนครศรีฯ แต่มาเป็นเด็กวัดประดู่พัฒนาราม อยู่วัดนานจนสอบนักธรรมเอกได้ หลังจากนั้นสอบเข้าโรงเรียนฝึกหัดครูนครศรีฯตอนนี้คือมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีฯ ยุคนั้นจบวุฒิ ปกศ.สูง จากนั้นเข้ากรุงเทพฯ ก็มาอยู่วัดเบญจมบพิตรอีกแล้วสอบเรียนต่อเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร คณะศึกษาศาสตร์ แต่เรียนที่วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐมจนจบมาเป็นครูสอนโรงเรียนเอกชนอยู่2ปี” อาจารย์โกวิท เล่าถึงความหลังในอดีต พร้อมกับบอกต่อไปว่า

ส่วนการเริ่มต้นชีวิตการทำงาน อาจารย์โกวิทย์ เล่าว่า เริ่มไปสอบรับราชการที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สอบผ่านได้บรรจุเป็นข้าราชการไปทำงานครั้งแรกที่จังหวัดลำปางอยู่ประจำศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการฯเขต5 อยู่ได้ไม่นานย้ายกลับมาเป็นนักพัฒนาชุมชน อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เป็นอยู่ประมาณ3ปี ก็ถูกย้ายขึ้นมาประจำที่จังหวัดอยุธยา พอดีช่วงนั้นอยากเรียนต่อจึงขอลามาเรียนปริญญาโทที่คณะสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบมากลับไปทำงานที่เก่าขยับขึ้นเป็นนักวิชาการพัฒนาชุมชน กองวิจัยและประเมินผลนั่งอยู่2ปีที่กรมได้ทุนขอลาศึกษาต่ออีกครั้งไปเรียนระดับปริญญาเอกที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในสาขาพัฒนาชนบท กลับมารับใช้ราชการที่เดิมแต่นั่งเป็นนักวิชาการฯที่กองฝึกอบรม ในช่วงรับราชการได้ทุนไปฝึกอบรมระยะสั้นๆเช่น ได้ทุนรัฐบาลเนเธอแลนด์ไปฝึกอบรมด้านการเป็นวิทยากรและได้ทุนจากเยอรมัน คอนราดอเดนาวร์ไปอบรมด้านการปกครองท้องถิ่นจนได้ประกาศนียบัตรด้านการปกครองท้องถิ่นกลับมาด้วย

  • จากชีวิตราชการสู่อาจารย์รั้วมหาวิทยาลัย

อาจารย์โกวิทย์ บอกว่า “ผมจำได้ช่วงนั้นเป็นข้าราชการซี7ระดับหัวหน้างานตัดสินใจขอโอนมาเป็นอาจารย์ และไม่รู้ว่าทำไมไปเชียงใหม่สมัครเป็นอาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ แล้วคุณสมบัติต้องจบปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ครั้งนั้นมีผู้สมัคร9คน เอาแค่คนเดียว แต่โชคช่วยยังไงไม่ทราบผมได้ลำดับที่1 สอนที่นั่นอยู่3ปี แต่ภารกิจของผมก็อยู่กับการรณรงค์เรื่องท้องถิ่น พอดีได้มีโอกาสร่วมงานกับกลุ่มสตรีพัฒนาสตรี ก็เน้นให้ผู้นำสตรีได้มีโอกาสเป็นผู้บริหารในท้องถิ่น ตอนนั้นเรื่องหลักคือสภาตำบล ผมต้องการที่จะเสนอให้สภาตำบลเป็นนิติบุคคล แต่ต่อมามีการยกฐานะเป็นอบต.และขับเคลื่อนเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงอีกด้วย อยู่เชียงใหม่3ปีเต็ม ใจจริงอยากย้ายมาสอนแถวกรุงเทพฯเพราะครอบครัวไม่ได้มาด้วย”

อาจารย์โกวิทย์ บอกว่า “บังเอิญวันหนึ่งเดินเข้าไปธรรมศาสตร์ พบอาจารย์วุฒิสารถามผมว่า พี่โกไม่สนใจมาเป็นอาจารย์สอนที่คณะสังคมสงเคราะห์หรือ แล้ววันนั้นก็สมัครวันสุดท้ายด้วย ผมรีบทันทีเพราะจะได้อยู่ใกล้ครอบครัว โชคดีอีกครั้ง วันนั้นมีคนเข้าสอบ28คน ผมสอบได้ลำดับที่1 ดีใจสุดๆเพราะภรรยาท้องอยู่ด้วย ตั้งแต่ปี2538จนถึงปัจจุบัน ก็ฝังตัวเองเป็นอาจารย์ที่นี่มาตลอด เริ่มจากเป็นอาจารย์ประจำ เป็นรองคณบดีฯ ไปเป็นหัวหน้าภาควิชาพัฒนาชุมชน ขึ้นเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร และได้รับการแต่งตั้งเป็นคณบดี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ นั่งอยู่ในตำแหน่งประมาณ4ปี ชีวิตผมผ่านประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานสำคัญของประเทศมา3แห่ง คือ กรมการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลังสุด”

  • สายบุ๋นเจอนักเลงโต ชัช เตาปูน แบบงงงง

ส่วนการเข้าสู่แวดวงการเมือง อาจารญ์โกวิทย์ บอกว่า “หลายคนถามเป็นอาจารย์มาทั้งชีวิตมาอยู่กับ ท่านชัช เตาปูน(ชัชวาลล์ คงอุดม)ได้อย่างไร ผมเองแรกๆก็งงตัวเอง แต่ตอนนี้เข้าใจมากว่าผมมาถูกทางแล้ว เรื่องมีอยู่ว่าสมัยที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนบทความเรื่องชุมชนท้องถิ่นในหนังสือผู้จัดการรายวันภาคเหนือ คอลัมน์ทางสองแพร่ง พอดีย้ายลงมาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ขอเอ่ยชื่อคุณรุ่งเรือง กิจปรีชากุล บก.สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์คุยกับผมว่าจะชวนมาเขียนบทความ ผมเองตอบตกลง แต่ขอแค่ตั้งชื่อคอลัมน์เอง ผมตั้งคอลัมน์ประจำว่า “ประชาคมท้องถิ่น” ตรงนี้ตีความหมายนิดว่า ท้องถิ่นทุกรูปแบบถ้าเข้มแข็งจะต้องอยู่ในรูปของประชาคมท้องถิ่นนั่นเอง”

อาจารย์โกวิทย์ บอกต่อว่า ช่วงนั้นประมาณปี2539 เพิ่งเกิดท้องถิ่นใหม่ๆคืออบต. และเป็นอาจารย์สอนด้วย เขียนบทความไปด้วย โดยไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของหนังสือ และไม่เคยรู้จักหรือเจอชัช เตาปูน ที่หลายคนบอกว่า เป็นนักเลง ผมเขียนบทความอยู่นานในสยามรัฐฯ มีอยู่วันหนึ่งทีมงานสยามรัฐไปสัมมนาที่จังหวัดลำพูน ซึ่งถูกเชิญไปด้วย และก็เป็นวันที่เจอชัชเตาปูน ตัวเป็นๆครั้งแรก ซึ่งครั้งแรกนั่งรับประทานอาหารคนละโต๊ะ แต่ท่านชัช บอกว่ามานั่งด้วยกันสิ ก็รู้จักกันที่นี่ ก็แนะนำตัวตามปกติ ความคิดที่เคยได้ยินมีคนบอกว่า ชัช เตาปูนเป็นนักเลง นักการพนัน เจ้าพ่อบ่อนแต่ทุกอย่างเปลี่ยนความคิดผมไปทั้งหมดเมื่อผมได้มาพบชัชวาลล์หรือชัช เตาปูนและได้คุยกัน ที่ทราบจากปากท่านชัชเองอย่างหนึ่งคือท่านช่วยเหลือชาวบ้าน สร้างงานสร้างอาชีพ ส่งเสริมให้ทุนให้กับนักเรียน นักศึกษา คนยากจนมีการศึกษา แค่นี้ผมก็เข้าใจแล้ว

  • สัจจะนักเลง มียิ่งกว่านักการเมือง

“ผมเองไม่ได้สนใจการเมืองเท่าไหร่แต่สิ่งที่ศึกษามาตลอดคือการพัฒนาชุมชน เรื่องของท้องถิ่น ตรงนี้ถ้าใช้การเมืองเป็นแรงผลักดันก็จะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ในช่วงที่ท่านชัชลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผมได้มีโอกาสไปช่วยให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ เช่นได้เสนอโครงการสัมมนานักข่าวท้องถิ่นในภูมิภาค ให้มีคอลัมน์ท้องถิ่นในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งต่อมามีหนังสือฉบับอื่นๆนำไปเสนอเรื่องท้องถิ่นมากขึ้น ครั้งหนึ่งท่านชัชเป็นส.ว.และบอกว่าให้ผมไปนั่งเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว เป็นตำแหน่งทางการเมืองมีเงินเดือนให้ด้วย ผมบอกว่าผมเป็นอาจารย์มีเงินเดือนแล้ว ให้คนอื่นก็ได้ ท่านชัชบอกนึกถึงผมคนแรก แต่ผมได้ปฏิเสธไป”อาจารย์โกวิทย์ เล่นให้ฟังช่วงหนึ่ง พร้อมกับบอกต่อไปว่า

สิ่งที่พิสูจน์ต่อมาว่ามาถูกทางแล้วคือ ชัช เตาปูน ต้องการตั้งพรรคการเมืองส่งผู้สมัครเลือกตั้งในการเลือกตั้งล่าสุดปี2562 ได้บอกให้อาจารย์โกวิทย์ช่วยเขียนแผนยุทธศาสตร์ของพรรค ซึ่งครั้งนั้น อาจารย์โกวิทย์ก็ได้ช่วยทำแผนยุทธศาสตร์พรรคด้านการกระจายอำนาจให้ โดยในแผนยุทธศาสตร์หัวใจหลัก อาจารย์โกวิทย์ บอกว่า มีเรื่องเดียวคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการทำการเมืองให้โปร่งใสสุจริต จึงเป็นหัวใจของพรรคพลังท้องถิ่นไทยจนถึงขณะนี้พร้อมกับกล่าวว่า

“วินาทีตัดสินใจของผมที่มาเข้าสู่การเมืองเป็นส.ส.ของพรรคคือการแลกกับสัจจะของท่านชัชซึ่งผมไม่ผิดหวัง ช่วงหนึ่งมีการไปหาเสียงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผมเองลงไปด้วย ท่านชัชได้พูดจากปากครั้งแรกกับอาจารย์นิยม กำแหง อดีตส.ส.นครศรีฯ พรรคกิจสังคมของหม่อมคึกฤทธ์ ผมเองก็รู้จักและเคารพอยู่แล้ว ท่านชัชได้พูดบนเวทีว่าผมจะเอาโกวิทย์มาลงส.ส.บัญชีรายชื่อเบอร์2

“ยังจำแม่น แกพูดภาษานักเลงว่า กูหนึ่ง มึงสอง ตอนนั้นผมเองยังไม่ได้ลาออกจาก2ตำแหน่งใหญ่คือคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มันบีบหัวใจเหลือเกิน สุดท้ายผมลาออกจากราชการ แล้วมาลงสมัครเลือกตั้งวันสุดท้ายพรรคท่านชัช บัญชีรายชื่อลำดับที่2 และได้เป็นส.ส. ตรงนี้ผมพูดได้เลยว่านักเลงอย่างชัช เตาปูนมีสัจจะกว่านักการเมือง”

  • ความภาคภูมิใจ/ปฏิรูปท้องถิ่นสู่การพัฒนายั่งยืน

อาจารย์โกวิทย์ บอกด้วยว่า ความจริงมีความภูมิใจหลายอย่าง ทุกอย่างจะทำเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและมีการพัฒนาการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ถ้าบอกว่าสมัยที่อยู่ธรรมศาสตร์ได้ผลักดันให้มีศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเป็นครั้งแรกประมาณปี2538 สมัยที่อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นอธิการ อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รองอธิการฯได้ชวนให้ทำเรื่องนี้ในฐานะที่ดูแลศูนย์ท้องถิ่น และอาจารย์โกวิทย์ก็เป็นคนแรกที่ได้รวบรวมนักวิชาการด้านท้องถิ่นมารวมกัน แล้วเริ่มวางยุทธศาสตร์ในการผลักดันเรื่องของท้องถิ่นร่วมกัน มีอาจารย์จากหลากหลายสถาบัน นิด้า เชียงใหม่ จุฬา ครั้งนั้นได้ขับเคลื่อนในเรื่องของการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง มีการเชิญผู้นำท้องถิ่นมาร่วมเสวนา ประชุม พูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง

“จำได้มี ภิญโญ ตั๊นวิเศษ บังอร วิลาวัณย์ ชาตรี อยู่ประเสริฐ สุรชัย แซ่ด่าน ช่วงนั้นมีการขับเคลื่อน รณรงค์ เคลื่อนไหวในเรื่องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง แล้วบังเอิญท่านอุดร ตันติสุนทร อดีตรัฐมนตรี ส.ส.และส.ว.จังหวัดตากได้ชวนผมให้มาเป็นกรรมการมูลนิธิฯและที่ปรึกษาให้มาช่วยเป็นที่ปรึกษาของมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผมทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เขียนข่าวสาร วารสารอบต.อีกทางหนึ่งด้วย และผมเองยังมีตำแหน่งนายกสมาคมนักพัฒนาชุมชนสังคมท้องถิ่นคนแรกที่รวบรวมนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่สำคัญผมได้เขียนหนังสือเรื่อง การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น ประมาณปี2553 หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลมากในช่วงนั้น และยังมีตำราอีก2เล่มที่กลายเป็นตำราเรียนในระดับปริญญาโท ชื่อการปกครองท้องถิ่น และการปกครองท้องถิ่นไทย”

อาจารย์โกวิทย์ เล่าให้ฟังด้วยว่า แล้วสิ่งที่เราได้ขับเคลื่อนกันก็สำเร็จ เพราะช่วงนั้นรัฐบาลทักษิณ เป็นนายกฯได้ผลักดันให้เป็นกฎหมายเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงนำไปบังคับใช้กับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี นายกอบต. นายกอบจ. ถือเป็นความภูมิใจแรก อีกความทรงจำของอาจารย์โกวิทย์คือ การส่งเสริมให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีความรู้สูงขึ้น ขณะที่หลายคนมองว่าผู้นำท้องถิ่นมีการศึกษาน้อย ควรต้องเพิ่มความรู้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอบต.

“ผมขอเอ่ยนามอาจารย์ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อน คือ อาจารย์โคริน เฟื่องเกษม อดีตคณบดีฯคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อาจารย์ไพศาล สุริยะมงคลอาจารย์พีรสิทธ์ คำนวณศิลป์ จากนิด้า ได้ทำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ ด้านท้องถิ่นศึกษาระดับปริญญาโท โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งผมเป็นผู้เขียนตำราและสอนไปด้วย ช่วงนั้นเดินทางสอนบรรยายผู้นำท้องถิ่นตามศูนย์ภูมิภาค อย่างทางใต้สอนที่ภูเก็ต ตรัง สุราษฎร์ฯ ทางภาคเหนือที่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก ในระดับปริญญาตรีจะใช้สถาบันราชภัฎ ยังมีเรื่องของธรรมาภิบาลท้องถิ่นที่ผมได้ผลักดันทั้งการทำวิจัยเรื่องธรรมาภิบาลท้องถิ่นอีกด้วย นี่ก็อีกความภูมิใจของผม”

“ทุกวันนี้ผมสนุกกับงาน เพราะผมคิดว่า ชีวิตผมมาไกลเกินฝันแล้ว สำหรับลูกคนบ้านๆโดยเฉพาะความภาคภูมิใจและดีใจสุดๆกับการได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็น “ศาสตราจารย์” และ “นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช”อาจารย์โกวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...