ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
CSR แบบหมอหมอ
08 พ.ย. 2564

#CSRcontent โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

CSR แบบหมอหมอ

 

  • IFMSA-Thailand ร้องเรียน ส.ส. ให้ตรวจสอบปัญหาการฆ่าตัวตายของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเรื้อรังจากภาระงานของแพทย์ที่มากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต
  • เปิดแผน ‘เยาวชนเอเชียแปซิฟิก’ พลิกเกมรุกกลับต้านบริษัทบุหรี่ เห็นว่าพวกตนกำลังตกเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่
  • IFMSA-Thailand รวมเยาวชนจิตอาสาช่วยผู้ป่วยโควิด-19 และใช้นวัตกรรมติดตามช่วยเหลือผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่มีอาการไม่มากด้วย CovidSelfCheck หรือเพื่อนช่วยเช็ค ผ่านช่องทางไลน์ออฟฟิศเชียล (Line OA)  

ข่าวการทำงานเพื่อสังคมของนิสิตนักศึกษาแพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศในรูปแบบหลากหลาย ทำให้ต้องตามไปทำความรู้จักกับ IFMSA (International Federation of Medical Students’ Association) องค์กรแพทย์นานาชาติ ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันขององค์กรนิสิตนักศึกษาแพทย์ในแต่ละประเทศ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับนิสิตนักศึกษาแพทย์ในเวทีนานาชาติ และเป็นพื้นที่สำหรับเรียนรู้และพัฒนาซึ่งกันและกัน

IFMSA มีการประชุมครั้งแรกในปี 2494 โดยประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตก 10 ประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิก 140 องค์กร จาก 129 ประเทศ ดำเนินกิจกรรมทั้งด้านวิชาการ วัฒนธรรม และการรณรงค์ด้านสาธารณสุขที่ตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ตามคำขวัญที่ว่า Think Globally, Act Locally สำหรับสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย หรือ IFMSA-Thailand ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 เพื่อเป็นตัวแทนของนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทยใน IFMSA และเป็นสะพานเชื่อมสู่ประชาคมโลก นำความรู้และประสบการณ์จากภายนอกมาทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมและวงการแพทย์ไทย และในปีนี้  IFMSA-Thailand ได้นำเสียงเยาวชนสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 14 ด้วยความเชื่อว่า นโยบายสร้างได้

“พลังพลเมืองตื่นรู้ สู้วิกฤตสุขภาพ” ท่ามกลางวิกฤตสุขภาพที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน นโยบายที่ดีถือเป็นแกนกลางสำคัญในการบริหารจัดการวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ สมาชิก IFMSA-Thailand จึงอยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติสุขภาวะของผู้คนในสังคมผ่านกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชนผ่านกิจกรรมหลากหลาย เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 ตัวแทน IFMSA-Thailand และเพื่อนๆ เครือข่ายเยาวชน คนรุ่นใหม่จากพื้นที่ต่างๆ ได้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นในการออกแบบกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อขยายการมีส่วนร่วมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

อาจนับได้ว่าปี 2564 การมีส่วนร่วมของเยาวชนมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะของภาคเยาวชนได้เดินหน้าคู่ขนานไปพร้อมกันกับกระบวนการหลักของสมัชชาสุขภาพ ก่อนจะไปบรรจบกันในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (NHA) ประจำปี 2564 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 โดยข้อเสนอเหล่านี้จะถูกนำไปผนวกรวมกับร่างมติที่มาจากกระบวนการสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศเพื่อการถกแถลง ปรับแก้ไขร่างมติในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป ระเบียบวาระของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 14 มี 3 วาระ ได้แก่ 1. การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19 2. การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม และ  3. การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ
 

ในประเด็นที่ 1 ทีมงานจาก IFMSA-Thailand มีบทบาทในการทำโครงการ “Youth Engagement for Environmental Policy” หรือ YEEP! เเข่งขัน Pitching Challenge เพื่อเสนอข้อพัฒนานโยบายด้านสุขภาวะสิ่งเเวดล้อม สำหรับเสียงของเยาวชนโดยเฉพาะ โดยข้อเสนอของเยาวชน 10 ทีมสุดท้าย จะถูกรวบรวมเข้าสู่การถกแถลงในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อาทิ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากภาคการท่องเที่ยว โดยใช้มาตรการทางภาษี ระบบเทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชัน การแก้ไขปัญหาขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยด้วยการผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกจากการบริการเดลิเวอรีด้วยการใช้ภาชนะใช้ซ้ำ หรือโครงการมัดจำกล่องข้าว เป็นต้น   

ในประเด็นที่ 2 ทีมงานให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อการถกแถลงและรับฟังข้อแนะนำ โดยได้เปิดการเสวนาออนไลน์และมีการจัดประกวดบทความในเรื่องดังกล่าว ในประเด็นที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจของประชาชน ทีมงานได้จัดโครงการแข่งขัน การประกวดสื่อสุขภาพ การจัดการการสื่อสารในยุค COVID-19 ในหัวข้อ "ฉันจะหยุด Fake News ได้อย่างไร?”  โดยมีตัวแทนจาก สช. และ  Anti-Fake News Center Thailand ร่วมเป็นกรรมการด้วย ผลงานชนะเลิศสื่อ infographic ชื่อว่า "ส่งต่อ Fake news = ส่งต่อเชื้อโรค"  โดยนำเสนอวิธีการหยุดวัฏจักรข่าวปลอมด้วย 3 C ได้แก่

1. Credit เช็คก่อนรับ ดูความน่าเชื่อถือของผู้ส่งสาร แหล่งข่าวและการอ้างอิง ก่อนจะรับสารใดๆ
2. Criticize คิดก่อนเชื่อ วิเคราะห์ข้อมูลอย่างถี่ถ้วน เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายแหล่งข่าว หากไม่มั่นใจ ให้สอบถาม
3. Convey ชัวร์ก่อนแชร์ ก่อนส่งต่อข่าวสารใด ควรมั่นใจแล้วว่า ข้อมูลมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และมีความทันสมัย

ผลงานนี้ให้แนวคิดว่า เราไม่สามารถควบคุมผู้ไม่หวังดีที่ปล่อยข่าวปลอม เพื่อหาผลประโยชน์ ยอดวิว หรือยอดไลค์ ได้ แต่เราซึ่งเป็นผู้รับสารทุกคน สามารถควบคุมและร่วมมือกันยับยั้งข่าวลวงได้

บทบาทของนิสิตนักศึกษาแพทย์ในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและเชื่อมโยงกับเวทีโลก เป็น CSR ที่ได้ประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและสังคมอย่างแท้จริง สังเกตได้ว่า เยาวชนจะมุ่งไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเพื่อให้มีผลกระทบในวงกว้าง เลือกประเด็นที่คมและคุ้มค่ากับการทำงาน บูรณาการเชื่อมโยงทั้ง สุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมและเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

นางสาวรินทร์ อินทโรดม นิสิตแพทย์ปี 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในผู้ที่อาสาทำงานใน IFMSA-Thailand มีความสนใจเรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและการเจริญพันธุ์ : Sexual and Reproductive Health and Rights (SRHR) เธอได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทน Liaison Officer for SRHR including HIV and AIDS (LRA) โดยให้ความสำคัญกับการวางนโยบายที่ดี ทันสมัย พูดแทนทุกคนได้ และมาจากบุคคลที่หลากหลายทางเพศและถิ่นกำเนิด การสร้างการยอมรับในนโยบายร่วมกัน การใช้เครือข่ายภายนอกช่วยยกระดับองค์กรของไทย การหาที่นั่งในเวทีโลกให้สมาชิกใหม่เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มประสบการณ์ อันจะทำให้องค์กรของไทยมีบุคลากรที่เข้มแข็ง และสามารถยืนหยัดในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

                ใครที่คิดว่า หมอเรียนหนัก คงไม่มีเวลาทำ CSR คงต้องคิดใหม่

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...