เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดเวทีถกแถลงนโยบายการสร้างโอกาสในเศรษฐกิจสูงวัย (silver economy) ‘ร่วมกันคิดค้นและออกแบบเศรษฐกิจ อาชีพและรายได้ เมื่อคนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย’ เพื่อให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) จากหลากหลายหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ อาทิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยพะเยา สมาคมเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา ฯลฯ ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางในการออกแบบนวัตกรรมต่อกรอบและขอบเขตประเด็นนโยบายสาธารณะเศรษฐกิจสูงวัย ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 – 28 พ.ย. 2568 นี้ ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี
น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สศช. ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นการสร้างโอกาสใน Silver Economy เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้เป็นไปเพื่อถกแถลงร่างเอกสารกรอบแนวคิดในการพัฒนาประเด็นนโยบายการสร้างโอกาสในเศรษฐกิจสูงวัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอประเด็นฯ ให้มีความครอบคลุมและรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยร่างดังกล่าวได้ผ่านการพัฒนาร่างเอกสารวิชาการ กระบวนการรับฟังความเห็นแบบมีส่วนร่วมและทบทวนเอกสาร จนเกิดเป็นขอบเขตการพัฒนาประเด็นใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุให้คงอยู่ในตลาดแรงงานและมีรายได้เพียงพอ 2. การสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ 3. การสร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมและเป็นมิตร ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น จังหวัด และประเทศชาติ 4. การสร้างการรับรู้และสื่อสารประชาสัมพันธ์ พร้อมกับข้อเสนอนโยบายที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน (Quick Wins)
น.ส.วรวรรณ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกหลายๆ เวที ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ เพื่อที่จะพัฒนา ปรับปรุง ข้อเสนอให้มีความรอบด้านมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น Silver Economy ในจังหวัดนำร่อง คือ จ.พะเยา เพื่อให้ได้ข้อเสนอระดับจังหวัด และทดลองดูว่า 4 ขอบเขตที่กำหนดไว้ สามารถนำไปปรับใช้ในเชิงพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งถือเป็นการทำกระบวนการขาขึ้นข้อเสนอเชิงนโยบาย ไปพร้อมๆ กับการวางแผนการขับเคลื่อนในพื้นที่ทันที โดยไม่ต้องรอเคาะมติเสร็จ แล้วค่อยมาเคลื่อนมติเหมือนในอดีต
ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หัวใจที่สำคัญของการจัดสมัชชาสุขภาพคือกระบวนการมีส่วนร่วม มีความเป็นระบบในขั้นตอนต่างๆ และต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะเป็นแนวทางและกระบวนกลางๆ ที่จะทำให้เกิดกระบวนการย่อยในเวทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาฯ จังหวัด สมัชชาฯ เฉพาะประเด็น หรือระดับเขต ขนาบข้างไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแต่ละเวทีก็จะสามารถเติมเต็มประเด็นซึ่งกันและกันได้
“การที่เราจะไปทำสมัชชาฯ ที่ จ.พะเยา เราก็ลองไปดูว่าที่นั่นเขาได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจสูงวัยกันไปบ้างแล้วหรือยัง และถ้ามีแล้วจะสามารถนำมาเชื่อมต่อกับข้อเสนอใหม่ทั้ง 4 แนวทางของสมัชชาฯ ระดับชาติได้มากน้อยแค่ไหน มีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เมื่อทำไปสักระยะหนึ่งก็อาจจะได้คำตอบว่าแล้วทางจังหวัดมีข้อเสนออะไรเพิ่มกลับมายังระดับชาติหรือไม่ ดังนั้นโดยทิศทางก็จะเป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นางมุกดา อินต๊ะสาร ประธานคณะทำงานเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา และประธานสมัชชาสุขภาพ จ.พะเยา กล่าวว่า จ.พะเยา มีความเข้มแข็งเรื่องการจัดทำกระบวนการสมัชาสุขภาพจังหวัดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อนมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยใช้พื้นที่ระดับตำบลเป็นฐาน มีความเป็นอิสระในการขับเคลื่อนตามบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ กระบวนเหล่านี้จึงถือเป็นฐานทุนที่แข็งแรงของ จ.พะเยา อย่างไรก็ดีหลังจากมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จ.พะเยาก็ได้ทำงานร่วมกับ สช. มาตลอด และล่าสุด สช. ก็ได้มาชักชวนให้ทำสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น Silver Economy ซึ่งปัจจุบัน จ.พะเยา มีสัดส่วนผู้สูงอายุเกือบ 30% ของประชากรทั้งหมดในจังหวัด จึงสนใจที่จะร่วมด้วย
“หากเจาะลงไปในหลายตำบล เราจะพบว่ามีผู้สูงอายุเกินกว่า 40% ขึ้นไป เราจึงเห็นว่ากระบวนการของ สช. เป็นสิ่งที่ดีที่จะได้เชิญภาคีเครือข่ายทุกฝ่ายในจังหวัด ทั้งภาควิชาการ ผ่านสถาบันการศึกษาอย่าง ม.พะเยา ภาคส่วนท้องถิ่น อย่าง อบจ.พะเยา ภาคประชาสังคมอีกมากมาย รวมไปถึงผู้ประกอบการภาคเอกชน เข้ามาระดมความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะใช้ในการพัฒนาและยกระดับสังคมสูงวัยในพะเยา และปลายทางที่เราอยากเห็น คือสิ่งที่เสนอไปได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการเป็นประธาน” นางมุกดา กล่าว
นางจุฑามาศ โมฬี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายสาธารณะภาคเหนือ สช. ในฐานะคณะทำงานฯ และเลขานุการร่วม กล่าวว่า กลุ่มที่เข้าร่วมในวันนี้ถือว่าเป็นกลุ่มไข่แดงที่มีบทบาทโดยตรงกับการพัฒนาประเด็นเศรษฐกิจสูงวัย ซึ่งถัดจากนี้จะมีการขยายวงรับฟังความคิดเห็นไปสู่ไข่ขาว ที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีการรับฟังความเห็นประเด็น Silver Economy ในระดับชาติช่วงเดือน ส.ค. 2568 ถัดจากนั้นในเดือน ต.ค. 2568 ก็จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับภาค ร่วมกับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายประเด็นพลังงานสะอาด ก่อนที่จะนำทั้งหมดเข้าสู่งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ต่อไป