บรรยากาศแห่งศรัทธาและความร่วมแรงร่วมใจอบอวลทั่ววัดแสงดาว เมื่อชาวบ้านทุกเพศทุกวัย พร้อมใจเข้าร่วมประเพณีกวนข้าวทิพย์ อันเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมพื้นบ้าน สู่เทศกาลสร้างสรรค์ที่สะท้อน Soft Power เชิงศาสนาและวัฒนธรรมครั้งสำคัญของพิษณุโลก
วันที่ 10 กรกฎาคม 2568 เวลา 13.00 น. ที่วัดแสงดาว ตำบลปากโทก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ร่วมกับชุมชนแสงดาว วัดแสงดาว และองค์การบริหารส่วนตำบลปากโทก ร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีกวนข้าวทิพย์ ภายใต้แนวคิด "การถ่ายทอดและพัฒนา Soft Power เชิงวัฒนธรรม"
ภายในงานเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความคึกคัก สนุกสนาน และอบอุ่นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ทุกคนต่างรวมพลังกันคนละไม้คนละมือ ด้วยแรงกาย แรงใจ และแรงศรัทธา เพื่อร่วมกันฟื้นฟูประเพณีอันทรงคุณค่านี้ให้กลับมาอีกครั้ง
ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กล่าวว่า สำหรับงานกวนข้าวทิพย์ที่จังหวัดพิษณุโลกนี้ มีจัดขึ้นบ้างเป็นครั้งคราว ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทางมหาวิทยาลัยได้เห็นต้นแบบจากจังหวัดสระบุรีที่มีการกวนข้าวทิพย์ทุกปีในวันวิสาขบูชา จึงมองว่าข้าวทิพย์ไม่ใช่แค่อาหารที่อิ่มท้อง แต่เป็นสิ่งที่มงคลแก่ตนเองและสามารถเชื่อมโยงกับพลังศรัทธาในชุมชนได้
ดังนั้น สำนักศิลปะและวัฒนธรรมจึงได้ศึกษากระบวนการกวนข้าวทิพย์อย่างละเอียด ตั้งแต่ความเป็นมา วิธีการเตรียมส่วนผสม ไปจนถึงขั้นตอนพิธีกรรม เพื่อให้การกวนข้าวทิพย์ในครั้งนี้สอดคล้องกับหลักประเพณีดั้งเดิม โดยเริ่มต้นถ่ายทอดลงสู่พื้นที่จริงผ่าน “ชุมชนแสงดาว” ซึ่งถือเป็นชุมชนต้นแบบแห่งแรก
เหตุผลที่เลือกชุมชนแสงดาว เพราะเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ และมีศักยภาพทางการท่องเที่ยว ซึ่งประเพณีกวนข้าวทิพย์จะช่วยดึงดูดคนภายนอกให้เข้ามาเยือน เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน และทำให้คนในพื้นที่รู้สึกภาคภูมิใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเอง
สำหรับชุมชนวัดแสงดาว ตำบลปากโทก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นชุมชนที่มีทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่โดดเด่น เป็นพื้นที่ใกล้ตัวเมืองที่ยังรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างชัดเจน จึงได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น อบต.ปากโทก ผู้นำท้องถิ่น โรงเรียน วัด และชาวบ้าน ร่วมจัดกิจกรรม "กวนข้าวทิพย์ เทศกาลศรัทธาสืบสานและสร้างสรรค์" เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยและสร้างเทศกาลทางศาสนาให้กลายเป็นอีกหนึ่งกลไกในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม
ผศ.ดร.ชุมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า เราคาดหวังว่าจะสามารถจัดงานนี้เป็นประจำทุกปี เพราะในอดีตชุมชนแสงดาวเคยมีประเพณีกวนข้าวทิพย์ แต่ด้วยวัตถุดิบที่ต้องใช้จำนวนมากและต้องการแรงคนจำนวนมาก จึงทำให้เกิดความยุ่งยากในยุคที่ผู้คนต่างต้องดิ้นรนกับชีวิตประจำวัน เราจึงพยายามฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งในวันนี้เราได้เห็นพลังความร่วมมือของคนในชุมชน ก็ยิ่งทำให้มั่นใจว่าเราจะสานต่อกิจกรรมนี้ต่อไป
โดยในมิติของมหาวิทยาลัยฯ ตั้งเป้าหมายให้กิจกรรมนี้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว โดยจะเริ่มจากการประคับประคองชุมชนให้สามารถจัดงานได้ด้วยตนเองในอนาคต และค่อย ๆ ถอยบทบาทออกเพื่อให้ชุมชนเป็นเจ้าภาพที่แท้จริง ซึ่งชุมชนแสงดาวจะเป็นต้นแบบของการดำรงไว้ซึ่งเทศกาลกวนข้าวทิพย์ และในปีถัดไป จะมีการขยายแนวคิดนี้ไปยังชุมชนวัดจันทร์ และชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดพิษณุโลกต่อไป
พิษณุโลก/ศริตวรรธน์ อัครชินพรรณ /0931311867