เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 ที่ปรับเพิ่มให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายวัน และได้รับครั้งละไม่เกิน 180 วัน จากเดิมได้รับในอัตราร้อยละ 50 ว่า เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ว่างงานจากการถูกเลิกจ้างได้รับประโยชน์ทดแทนเพียงพอต่อการดำรงชีวิตจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา
นางมารศรีกล่าวว่า ทั้งนี้ ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน นอกจากจะให้การดูแลลูกจ้างที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกรณีถูกเลิกจ้างแล้ว ยังครอบคลุมถึงการว่างงานจากกรณีลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างอีกด้วย โดยผู้ประกันตนที่ลาออกจากงานหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างรายวัน และได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วันต่อปีปฏิทิน ซึ่งการรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข คือ จะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน โดยมีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป พร้อมทั้งต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน https://unemploy.doe.go.th และรายงานตัวผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
“สปส.มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ด้าน ด้วยการให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกันตน และมองถึงประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ” นางมารศรี กล่าว