ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
ข้อคิดเห็นจากนายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนต่ออีเว้นท์"สวัสดี หนีห่าว"
04 มิ.ย. 2568

ความคิดเห็นจากนายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย–จีน ต่องาน “สวัสดี หนีห่าว” การจัดอีเวนท์ …..ที่ยิ่งทำยิ่งมีผลกระทบ

โดย นายกำพล มหานุกูล นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย–จีน

แคมเปญเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 50 ปี ไทย-จีน “สวัสดี หนีห่าว” (Sawasdee Nihao) มีพิธีเปิดแคมเปญนี้วันที่ 29 พฤษภาคม 2568 ณ Centara Grand & Bangkok Convention Centre CentralWorld กรุงเทพมหานคร โดยถือเป็นแคมเปญด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติและภูมิภาค ทั้งในแง่การตลาด ความร่วมมือภาคธุรกิจ และการสร้างภาพลักษณ์ประเทศในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน โดยมีคนสำคัญจากทั้งสองประเทศเข้าร่วม อาทิ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย และ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เหล่าเซเล็บ อินฟลูเอนเซอร์ของจีนมากมาย

แต่ในช่วงหนึ่งของพิธีเปิด ซึ่งท่านเอกอัครราชทูตกำลังกล่าวปาฐกถานโยบายด้านการท่องเที่ยว กลับเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้ร่วมงานจำนวนไม่น้อย “ตื่นตะลึง” เมื่อฉากหลังบนจอขนาดใหญ่ปรากฏภาพ “แผนที่ประเทศจีน” ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีการระบุถึงดินแดนจีนบางส่วน เกาะไหหลำ เขตปกครอง ดินแดน และหมู่เกาะต่าง ๆ ซึ่งโดยหลักการทางภูมิรัฐศาสตร์และจุดยืนของจีน ถือเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่สำคัญ รวมถึงไม่มีการปรากฏ “เส้นประ” ซึ่งใช้ระบุอาณาเขตในทะเลจีนใต้ตามแผนที่จีนอย่างเป็นทางการ

แม้เหตุการณ์นี้อาจดูเล็กน้อยในสายตาของบางคน แต่มันสะท้อนความประมาทร้ายแรงที่อาจส่งผลกระทบทางการทูตได้ โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับ “อธิปไตย” ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลจีน เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศไทยในยามนี้

การแสดงแผนที่ประเทศใดประเทศหนึ่งในการประชุมหรือเวทีระหว่างประเทศ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมันไม่ใช่เพียงการนำภาพขึ้นจอเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับจุดยืนของรัฐ การยอมรับในอธิปไตย และการตีความทางการเมืองโดยผู้ชมทั้งภายในและต่างประเทศ

กรณีแผนที่จีนที่ปรากฏไม่ครบถ้วน จึงอาจถูกตีความได้ว่า “ผู้จัดงานได้ละเลยในรายละเอียดสำคัญ” หรืออาจ “กระทบความรู้สึก” ของประชาชนจีนที่เฝ้าติดตามงานนี้ผ่านสื่อสารมวลชนและโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรงของแคมเปญนี้เอง

ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชนและความสัมพันธ์ไทย–จีน ผมเห็นว่า บทเรียนจากเหตุการณ์นี้มีค่ามาก และควรใช้เป็นโอกาสในการปรับปรุงกระบวนการจัดงานระหว่างประเทศในอนาคต โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางการทูต การแสดงสัญลักษณ์แห่งรัฐ เช่น ธงชาติ แผนที่ ดินแดน หรือภาพสื่ออื่น ๆ ที่มีความหมายทางการเมือง ควรต้องมี “กระบวนการกลั่นกรอง” อย่างเข้มงวด และอาจพิจารณาจัดตั้งทีมที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตรวจสอบอย่างเป็นระบบ

สิ่งสำคัญคือ “ความเข้าใจทางวัฒนธรรมและการเมือง” ต้องไปควบคู่กับ “ความสร้างสรรค์ทางการตลาด” เราไม่อาจส่งเสริม Soft Power ได้อย่างยั่งยืน หากยังละเลยรายละเอียดที่สำคัญของมิตรประเทศ

ในท้ายที่สุด ผมขอชื่นชมเจตนาดีของรัฐบาลและผู้จัดงานในการผลักดันความร่วมมือไทย–จีนผ่านกิจกรรมขนาดใหญ่เช่นนี้ ซึ่งสะท้อนศักยภาพและความตั้งใจของประเทศไทยในเวทีระหว่าง

ประเทศ แต่ขอให้เหตุการณ์เล็ก ๆ อย่างกรณีแผนที่ในงาน “สวัสดี หนีห่าว” กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่เราจะระมัดระวังมากขึ้น และยกระดับมาตรฐานการจัดงานให้สอดคล้องกับความซับซ้อนของภูมิรัฐศาสตร์โลกในยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 กรกฎาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
17 ก.ค. 2568
การแพทย์เป็นหนึ่งในระดับความสำคัญของการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษยชาติ ซึ่งนอกจากตัวนายแพทย์ผู้ทำการรักษาแล้ว อุปกรณ์ทางการแพทย์แน่นอนย่อมมีความสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งในยุคสมัยใหม่นี้ด้วยแล้ว อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้พัฒนาไปได้รวดเร็วยิ่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยเรา...