ส่อง “กรมอุทยานฯ” เร่งใช้ระบบ “E-Ticket”
หวังเป็น “พระเอก” กอบกู้ชื่อเสียงอุทยาน
ช่วงที่ผ่านมาเหมือนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช งานจะเข้าหนัก โดยเฉพาะการกล่าวถึงการทำงานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จนเกิดเป็นประเด็นที่บานปลายไปถึงการจัดเก็บรายได้ที่ไม่โปร่งใส
เนื่องจากกรมอุทยานฯ เป็นหน่วยงานที่ถูกจับตามองในเรื่องของการโปร่งใสในการทำงานอยู่เดิม ...
แม้เจ้ากระทรวงจะพยายามยามเปลี่ยนตัวผู้บริหารที่มีภาพลักษณ์ที่เรียกว่าใสซื่อมือสะอาด เอาจริงเอาจังกับการทำงานที่ตรงไปตรงมา ผิดว่าไปตามผิด อย่างนายอรรถพล เจริญชันษา มาเป็นอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แทนคนเก่าที่มีประเด็นเรื่องซื้อขายตำแหน่งเพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ของกรมฯ ให้ดีขึ้นแล้วก็ตาม
ขณะที่อุทยานแห่งชาติฯ ทั่วประเทศ มีพื้นที่ครอบคลุมมากกว่า 73 ล้านไร่ หรือประมาณ 23 % ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งหมดกว่า 44.9 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางบก 130 แห่ง อุทยานแห่งชาติทางทะเล 26 แห่ง และอุทยานแห่งชาติทางทะเล บนบกกว่า 1.1 ล้านไร่ และพื้นที่น้ำกว่า 3.1 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 73 % ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้งหมด
แน่นนอนที่สุด เมื่อกรมอุทยานฯ มีพื้นที่ที่ต้องดูแลอย่างกว้างขวาง ก็จะนำมาซึ่งช่องโหว่ของการดูแล โดยเฉพาะเรื่องของการจัดเก็บรายได้ของกรมอุทยานฯ หลายฝ่ายจึงมองว่า การนำระบบ E-ticket เข้ามาใช้จะเป็นทางออกที่ดีของเรื่องนี้
โดยหากดูจากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวและการจัดเก็บรายได้ของอุทยานแห่งชาติ พบว่า ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2567 - 20 เมษายน 2568 มีนักท่องเที่ยวเข้าอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศจำนวน 11.74 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.36% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และสามารถจัดเก็บรายได้ 1,551.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6%
สำหรับเรื่องการนำระบบ E-ticket เข้ามาใช้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า กรมฯ ได้เร่งขับเคลื่อนระบบ E-Ticket ทั้งระบบให้แล้วเสร็จและพร้อมใช้งานในฤดูกาลท่องเที่ยวหน้า ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 15 ตุลาคม 2568 เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการจัดเก็บรายได้ จึงดูเหมือนว่า ระบบ E-Ticket จะเป็นพระเอกหลักของเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการจัดเก็บค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1) การจ่ายด้วยเงินสดให้เจ้าหน้าที่ที่หน้าด่านทางเข้าอุทยานแห่งชาติ และ 2) การจองเข้าและจ่ายผ่านระบบ E-Ticket ในอุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากและจัดเก็บเงินค่าเข้าอุทยานแห่งชาติได้สูง
แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางบก 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติเอราวัณ, อุทยานแห่งชาติทางทะเล 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เริ่มใช้ระบบ E-Ticket มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 ซึ่งระบบ E-Ticket ถูกพัฒนามาจาก Application QueQ ที่ใช้สำหรับจองคิวเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่กำหนดไว้ในแต่ละพื้นที่ (CC) ที่มีการใช้งานมาตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มเปิดการท่องเที่ยวในรูปแบบที่ต้องมีการป้องกันและการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ จึงมีความคุ้นชินในการใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าว เมื่อปรับมาใช้เป็นระบบ E-Ticket ที่สามารถจองและจ่ายเงินล่วงหน้าได้
โดยที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะชน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บเงินรายได้ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทั้งอ่าวมาหยา เกาะปอดะ เกาะไม้ไผ่ เกาะพีพีดอน และเกาะพีพีเล เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด ปีที่แล้ว (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567) มีนักท่องเที่ยวมากถึง 1.9 ล้านคน และมีสถิติการจัดเก็บเงินรายได้สูงสุด เป็นจำนวนมากกว่า 629 ล้านบาท
และเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนเงินรายได้ที่จัดเก็บได้จากอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ พบว่า อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากถึง 10.3% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และจัดเก็บเงินได้กว่า 28.5% ของรายได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ผลการใช้งานระบบ E-Ticket ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เนื่องจากไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต หรือสัญญาณที่มีไม่เสถียร โดยปัจจุบัน ระบบ E-Ticket สามารถใช้งานได้เฉพาะ Mobile application เท่านั้น จำเป็นต้องใช้สัญญาณโทรศัพท์ในการเชื่อมต่อออนไลน์ ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นเกาะกลางทะเล มีสภาพภูมิประเทศที่ไม่สามารถตั้งเสาสัญญาณหรืออุปกรณ์เพื่อการสื่อสารได้ทั้งในด้านเทคนิคของระบบสื่อสาร และความคุ้มค่าในการลงทุน จึงไม่มีผู้ให้บริการโทรคมนาคมเข้ามาดำเนินการ เช่นที่อ่าวมาหยา ซึ่งมีระบบ E-Ticket รองรับ แต่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องใช้วิธีการเก็บเงินสดนั่นเอง
แต่ปัจจุบันกรมอุทยานฯ ได้พัฒนาและเร่งนำระบบ E-ticket มาใช้ให้ทันในวันที่ 15 ตุลาคม 2568 นอกจากยังจะเป็นระบบช่วยอำนวยความสะดวกการจองเข้าใช้บริการต่างๆ ที่มีภายในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้กับนักท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส การเก็บรายได้อุทยานแห่งชาติได้อีกด้วย
สำหรับเรื่องของหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินของอุทยานแห่งชาติในปีงบประมาณ 2568 ได้อนุมัติโครงการที่ต้องใช้จ่ายเงินอุทยานแห่งชาติไปแล้ว วงเงิน 2,181,811,892.32 บาท (99.19 % ของงบประมาณทั้งหมด) เป็นโครงการที่ออกแผนปฏิบัติการไปแล้ว 73 โครงการ ในวงเงิน 2,173,204,892.32 บาท และอยู่ระหว่างออกแผนปฏิบัติการอีก 2 โครงการ วงเงิน 8,607,000.00 บาท
โดยเงินอุทยานแห่งชาติจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ประเภท ก ร้อยละ 5 จำนวน 102.23 ล้านบาท เป็นเงินที่ต้องให้แก่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลท้องที่ที่เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ ประเภท ข ร้อยละ 20 จำนวน 316.59 ล้านบาท เป็นเงินงบบริหารจัดการที่จัดสรรคืนให้แต่ละอุทยานแห่งชาติไม่เกิน 30 ล้านบาท/ปี/แห่ง ประเภท ค ร้อยละ 60 จำนวน 1,222.44 ล้านบาท เป็นเงินงบบำรุงรักษา ใช้สำหรับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และประเภท ง ร้อยละ 15 จำนวน 540.55 ล้านบาท เป็นเงินงบสำรอง ใช้สำหรับกรณีจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน
สำหรับ 73 โครงการที่ได้รับอนุมัติ วงเงิน 2,173.20 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 1,497.67 ล้านบาท (14 โครงการ) และรายจ่ายตามภารกิจ 675.54 ล้านบาท (59 โครงการ) โดยรายจ่ายประจำประกอบด้วย เงินที่ให้แก่เทศบาลและ อบต. เงินที่จัดสรรคืนให้อุทยานแห่งชาติ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการอุทยานแห่งชาติและบริการนักท่องเที่ยว โครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป้องกันรักษาป่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบลาดตระเวน เชิงคุณภาพ (SMART Patrol) โครงการนักเรียน นักศึกษา ช่วยปฏิบัติงานอุทยานแห่งชาติ โครงการอุทยานแห่งชาติสีเขียวและโครงการจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่า
ส่วนรายจ่ายตามภารกิจ ประกอบด้วย การจัดซื้อครุภัณฑ์และติดตั้งทุ่น การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก การขยายเขตไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภค การเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันรักษาป่า สวัสดิการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า การแก้ไขปัญหาช้าง การศึกษาวิจัย การฝึกอบรม และโครงการอื่นๆ เช่น การผลิตสื่อจัดพิมพ์หนังสือ การดูแลอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แม่ข่าย และการบำรุงรักษาระบบ E-Ticket และระบบจองที่พัก
นอกจากนี้ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังได้ปรับอัตราเงินสวัสดิการสำหรับเจ้าหน้าที่ให้สูงขึ้นและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเพิ่มอัตราการช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตจากการปะทะ ต่อสู้ ลาดตระเวน หรือถูกสัตว์ป่าทำร้าย จากเดิม 500,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท และกรณีเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ จากเดิม 400,000 บาท เป็น 500,000 บาท
รวมถึงปรับเพิ่มอัตราช่วยเหลือกรณีบาดเจ็บทุพพลภาพหรือพิการสูญเสียอวัยวะทั้งสองข้าง จากเดิม 300,000 บาท เป็นสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท และกรณีสูญเสียอวัยวะข้างเดียว เป็นสูงสุดไม่เกิน 600,000 บาท เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 18,533 คน เป็นข้าราชการ 534 ราย ลูกจ้างประจำ 359 ราย พนักงานราชการ 5,771 ราย ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน 757 ราย บุคคลภายนอกที่ได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติงาน 3,388 ราย และการจ้างเหมาพนักงาน 7,724 ราย ซึ่งนอกจากสวัสดิการจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ แล้ว ยังมีกองทุนจากหน่วยงานอื่นที่ให้การช่วยเหลือ และสวัสดิการด้านทุนการศึกษาสำหรับบุตรเจ้าหน้าที่ด้วย
หากพิจารณาแบ่งประเภทโครงการตามเป้าประสงค์ที่จะดำเนินการ จะพบว่า โครงการที่ได้รับเงินอุทยานแห่งชาติเพื่อไปดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีสัดส่วน ดังนี้ 1. เงินประเภท ก. ให้เทศบาลและ อบต. 4.70% 2. เงินประเภท ข คืนกลับไปให้อุทยานแห่งชาติ 14.57% 3. เงินสมทบงบประมาณปกติ 39.26% 4. การจัดซื้อครุภัณฑ์/ติดตั้งทุ่น 26.59% 5. การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก 0.66% 6. การขยายเขตไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภค 0.38%
7. การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันรักษาป่า 0.88% 8. ค่าตอบแทนงาน SMART และสวัสดิการเจ้าหน้าที่ 7.62% 9. การแก้ไขปัญหาช้าง 2.77% 10. การศึกษาวิจัย 0.71% 11. การฝึกอบรม 0.57% 12. โครงการนักเรียน นักศึกษา ช่วยปฏิบัติงาน 0.87% 13. โครงการอื่นๆ 0.42%