ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
กาญจนบุรี - กรมชลประทาน จัดกิจกรรมตรวจติดตามโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์
16 พ.ค. 2568

 เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี เพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุนเพื่อบรรเทาภัยแล้งให้พื้นที่ในเขต อ.บ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ และจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทานครอบคลุม  414,000  ไร่

จากกรณีกรมชลประทาน ได้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้า PFWFT JV ประกอบด้วย บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ฟลัดเวย์ จำกัด บริษัท วิศวชาญ 2002 จำกัด บริษัท ฟรอนเทียร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ส จำกัด และบริษัท ธูว์ บราเดอร์ พาทเมอร์ จำกัด ให้ดำเนินงานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ตามสัญญาเลขที่ จ.46/2566 (สพด.) ลงวันที่ 15 กันยายน 2566 ระยะเวลาในการดำเนินงาน 720 วัน โดยกิจการร่วมค้า PPWFT JV ได้เริ่มปฏิบัติงานตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2566 และสิ้นสุดอายุสัญญาในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2568 ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดวันนี้ 16 พ.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมอาคาร 50 ปี เขื่อนแม่กลอง สำนักงานชลประทานที่ 13 ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี นายพิเชษฐ รัตนปราสารทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม เป็นประธานตรวจติดตามโครงการ งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ครั้งที่ 2 
โดยมีนายวิทยา  แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวต้อนรับคณะสื่อมวลชน มีนายสุพัฒน์  ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 13 นายประศาสน์ สุขอินทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกาญจนบุรี นายธนากร ตันติกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กลอง นายสันติศักดิ์ ศรีวารินทร์ ผู้อำนวยการส่วนแผนงาน นายสรณคมน์ ช่างวิทยาการ หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 13 รวมถึงผู้บริหารกรมชลประทานคณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังการบรรยายภาพรวมและความก้าวหน้าของโครงการ ส่วนบริษัท กิจการร่วมค้า PFWFT JV ได้กล่าวสรุปถึงความก้าวหน้าการสำรวจ ออกแบบโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม เปิดเผยภายหลังว่าด้วยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีแนวคิดที่จะพัฒนาแหล่งน้ำโดยการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มาช่วยเหลือพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา อำเภอเลาขวัญ อำเภอบ่อพลอย อำเภอหนองปรือ และอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งช้ำซากและขาดแคลนน้ำ จึงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2564 และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในขั้นตอนถัดไป ทางกรมชลประทาน จึงได้ว่าจ้างกลุ่มผู้ให้บริการออกแบบ ซึ่งเรียกว่า “กิจการร่วมค้า PFWFT JV” ให้ดำเนินการ สำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี 

สำหรับโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี มีวัตถุประสงค์ต่างๆ ดังนี้  1) เพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุนเพื่อบรรเทาภัยแล้งให้พื้นที่ในเขตอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา    และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี 2) จัดหาแหล่งน้ำเพื่อพื้นที่การเกษตร 414,000  ไร่ 3) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียง ตามนโยบายของรัฐบาล และ  4) ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานของราษฎร โดยการส่งเสริมให้ราษฎรในท้องถิ่นมีอาชีพการเกษตรกรรมที่มั่นคง 

องค์ประกอบของโครงการประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักได้แก่  1) ระบบอุโมงค์และอาคารประกอบ อุโมงค์ผันน้ำขนาด 4.20 เมตร ความยาวประมาณ 20.521 กิโลเมตร จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู ที่มีความจุประมาณ 1.77 ล้าน ลบ.ม.ด้วยอัตราการผันน้ำ 12.00 ลบ.ม./วินาที 
2)ท่อส่งน้ำ MP2-บ่อพักน้ำหลุมรัง ประกอบด้วย ท่อส่งน้ำ MP2 ส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำอีซู ไปยังบ่อพักน้ำหลุมรัง เป็นท่อเหล็กเหนียว ขนาด 2.50 เมตร ความยาว 11.42 กิโลเมตร อัตราการผันน้ำ 12.00 ลบ.ม./วินาที บ่อพักน้ำหลุมรัง ขนาดพื้นที่ 778 ไร่ ความลึกน้ำ 13.00 ม. ความจุที่ระดับเก็บกัก 4.23 ล้าน ลบ.ม. (+124.00 ม.ร.ท.ก.)  
3)ระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ ท่อส่งน้ำสายหลัก MPL ส่งน้ำจากบ่อพักน้ำหลุมรังไปยังคลองส่งน้ำสายหลัก (MC) เป็นท่อเหล็กเหนียวขนาด  2.00 เมตร จำนวน 2 แถว ความยาว 6.705 กิโลเมตร   อัตราการผันน้ำ 10.00 ลบ.ม./วินาที เชื่อมต่อด้วยคลองส่งน้ำสายหลัก (MC) ความยาวรวม 90.80 กิโลเมตร  ช่วง กม.0+000 ถึง กม.90+800 เป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ความกว้างท้องคลอง 3.00 เมตร ความลึก 2.30 เมตร ลาดด้านข้าง 1-1.5 เมตร อัตราการส่งน้ำ 10.00 ลบ.ม./วินาที เขตคลองประมาณ 40.00-50.00 เมตร ไปยังพื้นที่รับประโยชน์ฝั่งซ้ายของคลองลำตะเพิน และพื้นที่ต้นน้ำสาขาของแม่น้ำท่าจีน โดยมีท่อส่งน้ำสายซอย และท่อส่งน้ำสายแยกซอยรวม 72 สาย ความยาวรวม 467.18 กิโลเมตร ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 414,000 ไร่ ในเขตอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี 

ถามว่าโครงการจะแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างไรนั้นคำตอบคือการสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี กรณีโครงการแล้วเสร็จจะสามารถนำน้ำต้นทุนจากเขื่อนศรีนครินทร์ได้ประมาณปีละ 378 ล้าน ลบ.ม. มายังพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะทำให้พื้นที่การเกษตร จำนวน 414,000 ไร่ ในเขตอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี มีน้ำต้นทุนมาเสริมเพื่อใช้สำหรับการเกษตรตลอดทั้งปี รวมทั้งมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคอีกด้วย       

โดยการสำรวจออกแบบ จะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2568  โดยกรมชลประทานต้องมีขั้นตอนการขออนุมัติงบประมาณจาก ครม. ซึ่งไม่สามารถระบุระยะเวลาที่แน่ชัดได้ ในระหว่างขออนุมัติอาจมีการดำเนินการเรื่องการเวนคืนจัดหาที่ดิน 1-2 ปี ในส่วนของการก่อสร้างระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี


ถามว่าคนในพื้นที่สามารถช่วยสนับสนุนโครงการนี้ได้อย่างไร เพื่อให้โครงการนี้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ตอบว่า การสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของโครงการ  การมีส่วนร่วมของประชาชนช่วยให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือที่ดีระหว่างทุกฝ่าย

ดังนั้น ควรจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและร่วมตัดสินใจในกระบวนการต่าง ๆ ของโครงการ โดยการหารือร่วมกันเมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างจะช่วยสร้างความเข้าใจและความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนตลอดไป
   ////////////////////////////////////////////////////////////// 
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 พฤษภาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...