ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
โครงการที่จอดเรือพัทยาใต้ ปล่อยร้างนานกว่า 17 ปี ความบกพร่องของการวางแผน ระบบบริหารจัดการหรือความล้มเหลวในการใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท
16 พ.ค. 2568

 ขณะที่ปัจจุบันเมืองพัทยา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ กำลังเร่งพัฒนาเป็นอย่างมาก ด้วยความหวังที่จะฟื้นการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจอันดับต้นๆของประเทศให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนัก รวมไปถึงภาพของนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก อย่าง จีน และรัสเซีย ฯ ที่มีจำนวนการเดินทางมาน้อยลงหรือหายไปจากหลายปัจจัย ด้วยเหตุนี้การขายภาพลักษณ์ด้านการพัฒนาและความเติบโตของเมืองพัทยาจึงถูกเผยแพร่ออกไปจากสื่อในหลายหนทาง รวมไปถึงโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่าง “เพจสายตรงนายกเบียร์” ด้วยหวังส่งผ่านภาพความพร้อมของการรองรับนักท่อง เที่ยวให้กระจายไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ อาทิ การพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ ซึ่งถือเป็นท่าเรือหลักในการเดินทางท่องเที่ยวทางทะเล ที่พบว่ายังมีเพียงท่าเรือแห่งนี้ที่เหมือนจะที่แห่งเดียวที่ยังมีภาพความคึกคักจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศใช้สัญจรในการเดินทาง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวไปพักผ่อนยังพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะล้าน ค่าเฉลี่ยวันละกว่า 10,000 คน โดยระบุว่าเมืองพัทยามีการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาเพื่อรองรับอย่างเต็มระบบในงบประมาณจำนวนหลายสิบล้านบาท ทั้งการพัฒนาท่าเทียบเรือใหม่ โครงหลังคาป้องกันแดดและฝน การเพิ่มศักยภาพด้วยการติดตั้งโป๊ะรองรับเรือท่องเที่ยวจำนวนถึง 6 ท่า หรือการตั้งงบประมาณล่าสุดในการพัฒนาระบบหห้องน้ำสาธารณะ ที่เป็นปัญหามานานหลายปี และอื่นๆ โดยขายภาพความเป็นเมืองต้นแบบ “ด้านอารยะสถาปัตย์”     

 ภาพเหล่านี้อาจทำให้สังคมหลงลืมโครงการระดับอภิมหาโปรเจค อย่าง โครงการก่อสร้างที่จอดเรือพัทยา ที่เมืองพัทยาได้รับงบประมาณจัดสรรจากภาครัฐจำนวน 735 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการก่อสร้างใน 2 โครงการหลัก ทั้งส่วนของที่จอดรถยนต์แบบอัตโนมัติบนดินและใต้ดิน ในพื้นที่กว่า 8,000 ตารางเมตร ซึ่งสามารถรองรับการจอดรถได้ถึง 417 คัน และที่จอดเรือแบบไฮโดรลิก ที่สามารถรองรับเรือท่องเที่ยวได้กว่า 360 ลำ บริเวณท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งทั้ง 2 โครง การก่อสร้างแล้วเสร็จไปตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2556 เพื่อใช้ในการรองรับการจอดยานยนต์ของนักท่องเที่ยว และเรือนำเที่ยวทุกประเภท แต่กลับพบว่าจนถึงเวลานี้ยังเหลือเพียงโครงการที่จอดรถอัตโนมัติเท่านั้นที่ยัง คงเปิดให้บริการได้ ขณะที่โครงการที่จอดเรือพัทยากลับไม่สามารถใช้งานใดๆได้หลังจากรับมอบงานจากผู้รับเหมา ทำให้ปัจจุบันท่าเรือแห่งนี้มีสภาพทรุดโทรม ผุพัง ไร้การดูแลรักษา 
 สำหรับโครงการที่จอดเรือพัทยาใต้ ตั้งอยู่บริเวณท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ได้กลายเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่  ที่แม้จะใช้งบประ มาณกว่า 345 ล้านบาทในการก่อสร้าง แต่โครงการนี้กลับไม่สามารถใช้งานได้จริง และถูกปล่อยทิ้งให้เสื่อมสภาพมานานกว่า 17 ปี โดยโครงการนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2551 มีเป้าหมายเพื่อรองรับเรือท่องเที่ยวจำนวนมาก และแก้ไขปัญหาการจอดเรือที่ไม่เป็นระเบียบบริเวณท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย

ซึ่งเมืองพัทยาได้ว่าจ้างภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการก่อสร้างในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ความล้มเหลวของโครงการเริ่มส่อแววขึ้น ตั้งแต่การพัฒนาระบบไฮดรอลิกที่ใช้ในการจอดเรือ ที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง หรือเปิดใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบไฮดรอลิกที่ออกแบบมาเพื่อยกเรือขึ้นจากน้ำนั้นไม่สามารถรองรับการใช้งานจริงได้ ทำให้ผู้ประกอบการเรือสปีดโบ๊ตกว่า 1,000 ลำไม่สามารถนำเรือเข้าจอดได้ตามที่ตั้งใจไว้ ขณะ ที่อีกปัจจัยที่ระบุว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการที่จอดเรือไม่สามารถใช้การได้ คือ ปัญหาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เนื่องจากระบุว่าหลังก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานไปแล้ว ในปี 2558 ได้เกิดปราฏการณ์ “พายุหว่ามก๋อ” ได้พัดถล่มพื้นที่พัทยาใต้ ส่งผลให้โครงสร้างของโครงการได้รับความเสียหายอย่างหนัก

โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งถูกตะกอนทรายทับถมและกัดเซาะจนไม่สามารถใช้งานได้ และเป็นเหตุให้ปัญหานี้ถือเป็นกรณีหลักที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงการ แม้ต่อมาเมืองพัทยาจะพยายามแก้ไขปัญหาโดยการฟ้องร้องผู้ออกแบบโครงการต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ผลการพิจารณาของคดีระบุว่าไม่ใช่ความผิดของผู้ออกแบบ โดยเมืองพัทยาต้องรับผิดชอบเอง เรื่องนี้จึงทำให้สังคมมองว่าเป็นโครงการที่ขาดการวางแผนและการศึกษาความเหมาะสมอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการหลายรายที่ให้ความเห็นว่าก่อนดำเนินโครงการ เมืองพัทยาควรมีการศึกษาความเหมาะสมและสอบถามความคิดเห็นของผู้ใช้งานจริงก่อนว่าการจ้างบริษัทเอกชนมาออกแบบและลงมือก่อสร้างนั้นสามารถใช้งานจริงได้หรือไม่หรือมีความเหมาะสมเพียงใด การขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการไม่ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริง จนถึงปัจจุบันโครงการนี้ยังคงถูกปล่อยทิ้งไว้ในสภาพชำรุดทรุดโทรม และกลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวในการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่


  โครงการที่จอดเรือพัทยาใต้ เป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในการวางแผนและบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ ขาดการศึกษาความเหมาะสม ขาดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความเสียหายของโครงการ และถือเป็นบท เรียนสำคัญที่ควรจะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการอื่น ๆ ในอนาคต เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 พฤษภาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...