เกษตรยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิษณุโลกเปิดเวทีขับเคลื่อน “การทำนาเปียกสลับแห้ง” หวังลดคาร์บอนจากแปลงนา พัฒนาเกษตรกรรมไทยสู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด BCG และ Carbon Credit พร้อมสร้างเครือข่ายรับซื้อข้าวคาร์บอนต่ำ ดันข้าวไทยตีตลาดโลก
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องบุษราคัม โรงแรมไพลิน อำเภอเมืองพิษณุโลก ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานเปิดการประชุมสร้างการรับรู้และหารือแนวทางการทำนาแบบ “เปียกสลับแห้ง” เพื่อผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ หนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรสีเขียวของประเทศไทย ซึ่งจัดโดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก
ภายในงานมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมชลประทาน กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ข้าว ผู้ผลิตข้าวจากบ้านวังขวัญ อำเภอเนินมะปราง รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากหลายพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลก เข้าร่วมรับฟังข้อมูลและแนวทางการดำเนินงานอย่างคึกคัก สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของภาคเกษตรในการปรับตัวเข้าสู่ระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวในเวทีเสวนาว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้งไม่เพียงเป็นเทคนิคการเพาะปลูกที่ช่วยลดต้นทุนด้านน้ำและพลังงานเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของศาสตราจารย์ ดร.ทุมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมผ่านแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) และการสร้างมูลค่าจาก Carbon Credit เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
เวทีประชุมครั้งนี้นำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการและประสบการณ์จริงเกี่ยวกับการทำนาเปียกสลับแห้ง ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยมีเทน เพิ่มคุณภาพดิน และส่งเสริมการใช้ปุ๋ยแบบแม่นยำ ลดการพึ่งพาสารเคมี ทั้งยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้การจัดการวัสดุเหลือใช้ เช่น ฟางข้าว มาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทนหรือปุ๋ยชีวภาพในรูปแบบของไบโอชาร์
ด้านนายทศพร ปวเรศวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสตาร์อัลไลอัลซ์กรุ๊ป จำกัด ได้กล่าวว่า ข้าวคาร์บอนต่ำ ปลูกแล้วจะได้ผลผลิตข้าวมากกว่าปกติ และคำว่าคาร์บอนต่ำหมายถึงว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่างประเทศเน้นเรื่องนี้มาก วันนี้เราเองก็ควรต้องทำเพราะอนาคตถ้าเราไม่มีตัวนี้ การส่งข้าวออกต่างประเทศลำบากมาก เชื่อได้ว่าต่อไปข้าวไทยอาจจะขายได้ยากขึ้น โครงการข้าวคาร์บอนต่ำถือเป็นการช่วยส่งเสริมให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลิตที่ดีขึ้น เชื่อมั่นว่าเกษตรกรไทยสามารถผลิตข้าวคาร์บอนต่ำดีกว่าและได้มากกว่าประเทศอื่นๆ และสามารถที่จะให้ผู้ประกอบการซื้อข้าวคาร์บอนต่ำเพื่อไปลด Carbon Footprint (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) โดยข้าวคาร์บอนต่ำขอให้เป็นข้าวสายพันธุ์ไทยแท้ๆ ของเราซึ่งดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะปลูกเป็นข้าวนุ่มหรือข้าวแข็ง แล้วแต่กลุ่มตลาดที่ต้องการ วิธีการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำจะทำให้เราได้ผลผลิตเยอะขึ้น ข้าวมีคุณภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดแสดงบูธนิทรรศการจากภาคีเครือข่าย อาทิ บูธสาธิตเครื่องอัดเม็ดชีวมวลจากฟางข้าว เตาเผาไบโอชาร์ และบูธรับซื้อชีวมวลฟางข้าว รวมถึงการนำเสนอแนวทางการรับซื้อข้าวคาร์บอนต่ำจากกลุ่มโรงสีเครือข่ายในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจะเป็นช่องทางตลาดใหม่ที่สนับสนุนเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน
การประชุมในครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนผ่านสู่ “ระบบนิเวศการผลิตข้าวแบบยั่งยืน” ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตร เพิ่มมูลค่าผลผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเปิดโอกาสใหม่ในการเข้าถึงตลาดข้าวคุณภาพในระดับประเทศและสากล
การมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรในวันนี้ จึงนับเป็นแบบอย่างสำคัญของการขับเคลื่อนเกษตรกรรมไทยให้เติบโตบนพื้นฐานของสมดุล ความรับผิดชอบ และความยั่งยืนในระยะยาว
พิษณุโลก/ศริตวรรธน์ อัครชินพรรณ /0931311867