ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
กทม. รับฟังข้อเสนอจาก กมธ. การเมืองฯ เดินหน้าศึกษาปรับ พ.ร.บ. กรุงเทพฯ
01 พ.ค. 2568
กทม. รับฟังข้อเสนอจาก กมธ. การเมืองฯ เดินหน้าศึกษาปรับ พ.ร.บ. กรุงเทพฯ ปลดล็อกอำนาจ-เพิ่มการมีส่วนร่วมประชาชน 
 
(1 พ.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ต้อนรับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจัดทำข้อเสนอในการยกระดับการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลขน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนำโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ เข้าพบเพื่อหารือถึงแนวทางการยกระดับการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร 
 
นายพริษฐ์ฯ เปิดเผยภายหลังการหารือว่า ถึงแม้ว่าชาวกรุงเทพฯ จะสามารถเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้โดยตรง แต่จะเห็นว่าหลายปัญหาที่ชาวกรุงเทพฯ เผชิญอยู่คือ ปัจจุบันผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งอาจไม่มีอำนาจในการแก้ไข เช่น เรื่องระบบขนส่งสาธารณะ จราจร สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานบางส่วน วันนี้จึงมีการหารือแนวทางการปรับปรุงการบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้เป็นประโยชน์กับชาวกรุงเทพฯ มากขึ้น ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการได้ศึกษาเรื่องนี้และได้สื่อสารกับ กทม. อย่างต่อเนื่อง มีการประชุมครั้งแรกตั้งแต่กลางปี 67 มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญปลายปี 67 พอต้นปี 68 ก็มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอโดยละเอียด จนถึงวันนี้ได้จัดทำข้อเสนอที่ค่อนข้างจะครบถ้วนแล้ว จึงได้นำข้อเสนอต่าง ๆ มารับฟังความเห็นและแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมกับคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร 
 
สรุปสั้น ๆ ข้อเสนอแบ่งเป็น 3 หมวด ด้วยกัน ข้อที่หนึ่ง คือ การปลดล็อกให้ กทม. มีอำนาจในการแก้ปัญหาให้ชาวกรุงเทพฯ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการจัดทำบริหารสาธารณะ การหารายได้เข้ามาเพิ่มเติมโดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งส่วนกลางเพียงอย่างเดียว หรืออำนาจที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร เป็นต้น ข้อที่สอง คือ การปรับโครงสร้างให้ กทม. มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น รูปธรรมคือการเสนอให้แบ่งการปกครองท้องถิ่นออกเป็น 2 ชั้น ซึ่งชั้นบนคือ ชั้น กทม. ที่มีผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนชั้นล่างที่เสนอคือ อาจเป็นรูปแบบที่เล็กกว่า กทม. ไม่ว่าจะเป็นเขตหรือกลุ่มเขตที่มีผู้บริหารและสมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งเช่นกัน ส่วนข้อที่สาม คือ การเปิดกว้างให้ประชาชนในกรุงเทพฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน กทม. ได้มากขึ้น อาทิ การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติสามารถทำได้ผ่านช่องทางออนไลน์ การเพิ่มช่องทางในการเข้าชื่อเพื่อเสนอการทำประชามติ รวมถึงการทำให้ข้อมูลของ กทม. เปิดเผยอย่างโปร่งใสมากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเสนอแนะการจัดทำงบประมาณได้มากขึ้น ขอขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ที่ได้ให้ข้อเสนอและความเห็นเพิ่มเติม ซึ่งจะประกอบเป็นรายงานและนำเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดสมัยประชุมช่วงกลางปี
 
นายพริษฐ์ฯ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้แนวทางในการแก้ไขพระราชบัญญัติจะแบ่งเป็น 2 แทรก คู่ขนานกัน ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ทางกรรมาธิการจะจัดทำเป็นรายงานข้อเสนอโดยละเอียดเข้าที่ประชุมสภาฯ ประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม หลังจากนั้นจะเป็นสิทธิ์ของพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่สามารถเสนอร่างของแต่ละพรรคเข้ามาได้ ส่วนอีกช่องทางหนึ่ง คือ ช่องทางของฝ่ายบริหาร กทม. จัดทำร่างของตนเสนอไปที่กระทรวงมหาดไทย และเสนอต่อไปที่คณะรัฐมนตรี ถ้าพูดถึงกรอบระยะเวลา ถ้ามีแค่ร่างจากพรรคการเมือง และ ส.ส. อาจจะเข้าคิวและใช้เวลานานกว่าจะมีการพิจารณาเสร็จ แต่ถ้ารัฐบาลกลาง และ กทม. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มีการทำงานร่วมกันระหว่าง กทม. และกระทรวงมหาดไทย ทำให้มีร่างของ ครม. ถูกเสนอเข้ามาในสภาฯ โดยเร็ว จะทำให้การพิจารณามีความรวดเร็วมากขึ้น และมีโอกาสที่จะมี ร่าง พ.ร.บ. กทม. ฉบับใหม่ออกมาทันสภาฯ ชุดนี้
 
ด้าน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ของกรุงเทพมหานคร พื้นฐานหลักมาจากปี 2528 ปัจจุบันบริบทเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว สิ่งที่คณะกรรมาธิการมีความเห็นส่วนใหญ่ก็คล้ายคลึงกัน มีการให้ความเห็นไปหลายประเด็น เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี หัวใจสำคัญคือทำอย่างไรให้การบริหารเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น กรุงเทพมหานครอาจจะมีทรัพยากรจำกัด ทำอย่างไรจะเป็นการตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพ หลายข้อมีความเห็นตรงกัน เช่น การแบ่งเมืองเป็น 2 ชั้น เพื่อให้มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ซึ่งมหานครทั่วโลกก็เป็นแบบนั้น ในแง่ของการปรับปรุงอำนาจ เช่น การจราจร กทม. ดูเฉพาะฟุตบาท ส่วนบนถนนเป็นของตำรวจ ทำให้การจัดการบางทีไม่มีประสิทธิภาพ คิดว่าจะต้องมีการคุยกันอีก และ กทม. จะต้องประกอบร่าง พ.ร.บ. นำเสนอกระทรวงมหาดไทยคู่ขนานไปด้วย เผื่อจะเร่งรัดให้รัฐบาลเห็นความสำคัญและนำไปสู่ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะทำให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น
 
#กทม #บริหารจัดการดี #แก้พรบกรุงเทพ
--------------------------------
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...