นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ และนักธุรกิจเตือนคนอีสาน อย่าตื่นตระหนกกับการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐ "ภาษีทรัมป์" ภาคอีสานไม่ได้รับผลกระทบเยอะ แนะเตรียมปรับตัว
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจเตือนคนอีสาน อย่าตื่นตระหนกกับการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐ เหตุภาคอีสานไม่ได้รับผลกระทบเยอะ แนะเตรียมปรับตัวเพื่อหาตลาดใหม่และพึ่งพาตนเองแทนการส่งออก ในขณะที่แบงค์ชาติอีสานระบุอีสานได้รับผลกระทบแน่ในไตรมาส 2
จากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของอเมริกาที่อาจส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิถีชีวิตของชาวอีสาน และชาวไทยนั้น
รศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า นโยบายนี้มีที่มาจากการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่สะสมมานานหลายสิบปี เนื่องจากรายจ่ายมากกว่ารายได้ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าที่สูงกว่าการส่งออก หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ สูงถึง 120% ของ GDP และต้องจ่ายดอกเบี้ยถึง 20% ของรายได้รัฐบาล การขึ้นภาษีจึงเป็นกลยุทธ์เพื่อลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจากับประเทศต่างๆ โดยทรัมป์ตั้งอัตราภาษีสูงไว้ก่อนเพื่อต่อรองให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด
ผลกระทบต่อประเทศไทยและภาคอีสาน สำหรับประเทศไทย สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางพารา อาจเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นหากภาษีเพิ่มขึ้นจริง ผลกระทบต่อภาคอีสานอาจไม่รุนแรงนัก เนื่องจากสินค้าเกษตร เช่น ข้าวหอมมะลิและยางพารา มีคุณภาพสูงและมีคู่แข่งในตลาดโลกไม่มาก โดยเฉพาะยางพาราที่ผลิตจากเพียง 2-3 ประเทศ เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หากอัตราภาษีไม่แตกต่างจากคู่แข่งมาก ไทยยังคงแข่งขันได้
นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้ากลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง กล่าวว่า นักธุรกิจในอีสานกังวลกับความผันผวนของนโยบายนี้ แต่เห็นโอกาสในการปรับตัว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ปลาร้า หรืออาหารพร้อมทาน ที่มีศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีชุมชนเอเชียจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาการส่งออกวัตถุดิบ เช่น แป้งมันสำปะหลัง ควรเปลี่ยนมาเน้นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า
ส่วนการเตรียมรับมืออย่างไรนั้น
เกษตรกรและนักธุรกิจควรมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน รวมถึงพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อแข่งขันในตลาดโลก ให้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาการส่งออก และเน้นการบริโภคภายในประเทศ โดยวิกฤตครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้หาตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง หรือพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และนวัตกรรมอาหาร
“อย่าตื่นตระหนก แต่ต้องตื่นตัว ชาวอีสานไม่ควรตื่นตระหนกเกินไป เพราะอีสานมีจุดแข็งด้านการพึ่งพาตนเองและเกษตรกรรมที่ยั่งยืน วิกฤตที่ผ่านมา เช่น ต้มยำกุ้ง หรือโควิด-19 พิสูจน์แล้วว่าอีสานได้รับผลกระทบน้อยกว่าภาคอื่น เนื่องจากมีการพึ่งพาอุตสาหกรรมส่งออกต่ำ อย่างไรก็ตาม การเตรียมพร้อมรับมือด้วยการเพิ่มทักษะ พัฒนานวัตกรรม และหาตลาดใหม่ จะช่วยให้ชาวอีสานเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส”นายชาญณรงค์ กล่าว
ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เผยถึงผลกระทบเบื้องต้นที่เกิดขึ้นต่อการผลิตในภาคอีสาน จากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการตอบโต้ด้วยอัตราภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเริ่มมีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 2568 เมื่อมีการประกาศเก็บอัตราภาษีศุลกากรเพิ่มถึง 25% ต่อกลุ่มสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม นอกจากนี้ เรายังเห็นการปรับอัตราภาษีอีก 25% สำหรับกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนในวันที่ 26 มี.ค. 2568 และอัตราภาษีที่สูงถึง 37% สำหรับสินค้าจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568
โดยในช่วงเวลานี้ ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงถึง 18.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในปี 2567 ซึ่งคาดว่าภาคอีสานจะได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่ครอบคลุมเกษตรกรนับล้านครัวเรือน
จากการวิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 84,534 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีการส่งออกรวมกันมากกว่า 80% ในกลุ่มเทคโนโลยี อย่างเช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้าเกษตร เช่น ข้าว แป้งมันสำปะหลัง และยางพาราแปรรูป มีสัดส่วนเพียง 6%
สำหรับผลกระทบในระยะสั้น คาดว่าผลกระทบจะมีจำกัดในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ เนื่องจากผู้ค้านำเข้าสหรัฐฯ บางส่วนเร่งนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยก่อนที่จะมีการขึ้นภาษี ขณะที่ในระยะยาว หากไม่สามารถเจรจาต่อรองภาษีได้ ธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงจะมีผลกระทบต่ำ เช่น ข้าวหอมมะลิ ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าพรีเมียม
ในทางกลับกัน ธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับกลาง เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และแป้งมันสำปะหลัง คาดว่าจะได้รับผลกระทบปานกลาง ขณะที่ธุรกิจผลิตที่มีการแข่งขันสูงในตลาดจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า
ด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในขณะนี้ แรงงานในภาคอีสานกว่า 70,000 คนมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนในตลาดแรงงาน พร้อมกับการแข็งขันจากประเทศส่งออกอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่
ด้าน ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมดูแลตลาดและกลไกทางการเงินเพื่อลดผลกระทบที่สามารถเกิดขึ้นในอนาคต โดยการปรับตัวและการเตรียมความพร้อมของธุรกิจในภาคอีสานจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่การแข่งขันทางการค้ารุนแรงนี้