ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ACT ทวง ปปง.ฟื้นมาตรการสอบ นักการเมือง-ขรก. ป้องฟอกเงิน
17 เม.ย. 2568

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ออกโรงทวงคืนมาตรการ PEP จาก ปปง.  สอบเส้นทางเงินบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง หลังพบแอบโละทิ้งปี 63 ลั่นปีนี้ต้องพร้อมใช้

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2568 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ร้องเรียน “กมธ.ป้องกันการฟอกเงินฯ” ขอตรวจสอบสถานะ “มาตรการ PEP” หรือ “บุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง” หลังพบความจริงถูก “ปปง.” ยกเลิกตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้การตรวจสอบเส้นทางเงินสกปรกและการตรวจจับคนโกงทำได้ยาก ด้าน “ปปง.” เผยพร้อมทำทุกอย่างให้กลับมาถูกต้องภายในกลางปี 2568 นี้

โดยนายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวทางหนึ่งในการป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่มีประสิทธิผล ได้แก่ การใช้มาตรการทางกฏหมาย ล่าสุด เฉพาะกฎหมายฟอกเงินยังติดขัดเรื่องมาตรการ PEP (Politically Exposed Persons) ในประเด็นการนิยาม “บุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง” ที่จะบังคับใช้กับคนที่เป็นนักการเมือง เจ้าหน้าที่ระดับสูง ศาล องค์กรอิสระ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ ทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรฯจึงได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป้องกันการฟอกเงินฯ) ขอตรวจสอบโดยหลังจาก กมธ.ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.พบว่า เคยมีการใช้ในปี 2556 แต่มีการยกเลิกในปี 2563 จริง

“ปปง. ได้ให้คำมั่นสัญญากับองค์กรฯว่า พร้อมทำทุกอย่างให้กลับมาถูกต้องภายในกลางปี 2568 นี้ เพราะได้ศึกษาเตรียมพร้อมแล้ว” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวและว่า มาตรการดังกล่าวกำหนดให้ธนาคารและผู้ประกอบธุรกิจบางประเภท เช่น ที่ปรึกษาการลงทุน ร้านค้าทองคำ ฯลฯ ต้องตรวจสอบพฤติกรรมการเงินของบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง หากพบกรณีต้องสงสัยให้รายงานต่อ ปปง. ทันที ข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นหลักฐานการเงิน (Digital Footprint) ที่สามารถใช้สืบสาวเส้นทางของเงินตรวจสอบย้อนหลัง เป็นหลักฐานดำเนินคดีฟอกเงินและคดีอาญาได้

“มาตรการนี้ชี้เป้าได้เลยว่า ในแต่ละวันรัฐมนตรี อธิบดี ทหาร ตำรวจคนไหนมีเงินโอนเข้าออกบัญชีธนาคารนำเงินไปลงทุน หรือซื้อขายทรัพย์สินราคาแพงอะไร ที่ไหนบ้าง แน่นอนว่า เงินบาปจากส่วย สินบน ซื้อขายตำแหน่ง ค้าแป้ง ค้ามนุษย์ ฯลฯ แม้จะจ่ายกันเป็นเงินสด สุดท้ายก็ต้องนำเข้าบัญชีธนาคารก่อนโอนกระจายให้ผู้อื่นเป็นทอดๆ ไป จะเปลี่ยนเป็นเงินคริปโต ซื้อทองคำ หรือสุดท้ายเมื่อเปลี่ยนเงินคริปโตเป็นเงินสดก็ต้องเข้าบัญชีธนาคารอยู่ดี” นายมานะ กล่าว

นายมานะ กล่าวด้วยว่า ผลจากการยกเลิกมาตรการนี้ ทำให้ธนาคารไม่ต้องตรวจสอบ PEP ที่เป็นคนไทยอีกต่อไป คงไว้แต่การตรวจสอบ PEP ที่เป็นคนชาวชาติเท่านั้น ต่อข้อสงสัยว่าทำไมระหว่างปี 2556 – 2563 ที่มีใช้มาตรการนี้ กลับไม่ปรากฏการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายฟอกเงินเลย อาจเพราะมาตรการนี้เป็นเรื่องใหม่และผู้มีอำนาจจงใจให้กฎหมายมีช่องโหว่ด้วยการไม่กำหนดให้ชัดเจนว่า บุคคลในตำแหน่งใดบ้างที่จะต้องถูกตรวจสอบ ที่แย่กว่านั้นคือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต่างเกรงใจไม่กล้าตรวจสอบคนมีอำนาจในรัฐบาล ทำให้บุคคลอื่นที่มีตำแหน่งสูงๆ พลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย

ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวอีกว่า องค์กรฯมั่นใจว่า หากใช้มาตรการตรวจสอบพฤติกรรมการเงินของ ปปง. ควบคู่การตรวจสอบบัญชีทรัพย์ฯ ของ ป.ป.ช. และการตรวจสอบการเสียภาษีรายได้ประจำปีของกรมสรรพากรจะทำให้การตรวจจับคนโกงมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรฯ หวังเห็นผลสัมฤทธิ์ตามที่ปปง.ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้

อนึ่ง เมื่อเร็วๆนี้ มีการเผยแพร่ดัชนีความเสี่ยงด้านอาชญากรรมทางการเงินและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นใน 177 ประเทศทั่วโลก พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 127 ได้คะแนน 2.53 คะแนน ทั้งนี้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่เรียกว่ากำลังปฏิรูปมาตรการ (Reactive Reformers) ซึ่งทางบริษัท Secretariat ผู้จัดทำและเผยแพร่ ระบุว่าประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้มีคุณลักษณะ 4 ประการคือ 

1.การบังคับใช้และการกํากับดูแลที่อ่อนแอ 
2.กรอบการกํากับดูแลที่ไม่สอดคล้องกัน 
3.ความโปร่งใสทางการเงินที่จํากัด และ 
4.มาตรการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (AML) ที่ล้าสมัย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...