ตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรรวมตัวที่กระทรวงการคลัง ค้านนำเข้าเครื่องในหมูจากสหรัฐ เป็นเครื่องมือเจรจาลดภาษี หวั่นกระทบอาชีพ-สุขภาพคนไทย
วันนี้ (10 เม.ย.) ที่กระทรวงการคลัง กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจากทั่วประเทศกว่า 1,000 ราย นำโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รวมตัวกัน เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยและคัดค้านกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติพิจารณานำเข้าเครื่องในสุกรจากสหรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาที่สหรัฐปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ประเทศไทยถึง 36% โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มเกษตรกรได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อทำเนียบรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา
การรวมตัวในวันนี้มีจุดประสงค์เพื่อขอความเห็นใจจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ปกป้องอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยจากการถูกกระทบจากการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐ ซึ่งอาจถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการเจรจาทางการค้า โดยทางสมาคมฯ ได้นำเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา
นายสิทธิพันธ์ กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สนับสนุนการนำเข้าพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ประเทศไทยยังขาดแคลน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง ซึ่งจะสามารถเพิ่มดุลการค้าให้กับสหรัฐ ได้ถึงปีละ 84,000 ล้านบาท และน่าจะเป็นทางออกที่ดีในการเจรจาครั้งนี้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ในประเทศ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากว่าการนำอุตสาหกรรมสุกรและห่วงโซ่การผลิตที่มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทไปแลก
นอกจากนี้ ปัจจุบันปริมาณผลผลิตเนื้อหมูในประเทศอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค หากมีการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐเพิ่มเติม จะทำให้ปริมาณสินค้าล้นตลาด ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด เช่นเดียวกับสถานการณ์หมูเถื่อนที่เคยเกิดขึ้นอย่างหนักในปี 2564
ประเด็นสำคัญอีกประการที่กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรเน้นย้ำคือ ความแตกต่างด้านมาตรฐานการผลิต โดยสินค้าสุกรและเครื่องในจากสหรัฐฯ อาจมาจากฟาร์มที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งขัดต่อกฎหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุขของไทย ที่ห้ามใช้และห้ามปนเปื้อนสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์สุกร แม้ว่าจะมีข้ออ้างว่ามีการเลี้ยงที่ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในสหรัฐฯ แต่กฎหมายของสหรัฐ เองก็ไม่ได้ห้ามการใช้สารดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทยในระยะยาว
“หากผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์หรือเครื่องในที่มีสารตกค้างดังกล่าว จะมีผลต่อระบบประสาทและหัวใจ เป็นความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ และแม้จะนำเข้ามาเพื่อผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ก็ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพสัตว์เลี้ยง และเกิดข้อจำกัดในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปตามมา” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จึงได้รวมตัวกันเพื่อขอความเห็นใจจากรัฐบาล ให้ปกป้องอาชีพของเกษตรกรและสุขภาพของประชาชนชาวไทย โดยเรียกร้องให้ยกเลิกการเสนอนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐโดยทันที
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า อาชีพการเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นอาชีพหลักที่เกษตรกรใช้เลี้ยงครอบครัวมาหลายชั่วอายุคน แม้จะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มาโดยตลอด แต่เกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐก็มุ่งมั่นพัฒนาการผลิตเนื้อหมูคุณภาพ ปลอดภัย เพื่อผู้บริโภคชาวไทย