กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและชาวสวนในจันทบุรีและภาคตะวันออกกว่า 1,000 คนรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อยื่นหนังสือการแก้ปัญหาการส่งออกทุเรียน
วันที่ 8 เมษายน 2568 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและชาวสวนในจันทบุรีและภาคตะวันออกนำโดยนายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญการเพาะปลูกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี และ เจ้าของเพจทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน พร้อมนายเฉลิมพล ศักดิ์คำ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองท่าช้างและชาวเกษตรกรสวนทุเรียนกว่า 1,000 คนรวมตัวกันเข้าพบนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อยื่นหนังสือให้ทางจังหวัดส่งไปยังกรมการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาในการส่งออกทุเรียน เพื่อสอบถามการแก้ปัญหา 3 เรื่องหลัก คือ
-การแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน
-การที่มีกลุ่มบุคคลนำทุเรียนประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย
-ปัญหาการส่งออกทุเรียนไทยไปต่างประเทศ
เนื่องจากที่ผ่านมา การแก้ปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เป็นรูปธรรมมากนัก โดยเฉพาะปัญหาทุเรียนอ่อนและทุเรียนสวมสิทธิ์ที่มีมากในขณะนี้ เนื่องจากหน่วยงานรู้ปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่มีการแก้ปัญหาชัดเจน จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่า ปัญหาทุเรียนอ่อนจะทำให้ราคาทุเรียนภาคตะวันออกดิ่งลงเหว และการนำทุเรียนเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทย อาจจะทำให้สวนในภาคตะวันออกถูกระงับ GAP เช่นเดียวกันกับที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพราะทุเรียนเพื่อนบ้านมีการปนเปื้อนแคดเมียมในเนื้อค่อนข้างมาก
โดยนายสัญชัย ระบุว่า มีการปล่อยข่าวและเรียกกลุ่มตนเองว่า ‘ม็อบทุเรียน’ ยืนยันว่า ไม่ใช่ม็อบทุเรียน แต่ให้เรียกว่า ‘ผู้ได้รับผลกระทบจากลูกหนาม’ ที่มารวมตัวกันเพราะเป็นความอึดอัดจากปัญหาที่เกิดขึ้น และความกังวลว่า ถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนกับการแก้ไข หรือการเตรียมการรองรับทุเรียนล็อตใหญ่ในภาคตะวันออกที่จะออกกลางเดือนเมษายน นี้ และชาวสวนมองว่าหากปล่อยไว้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทุเรียนแสนล้านของประเทศไทยจะกระทบหนักเป็นลูกโซ่ นายสัญชัย เปิดเผยว่า สมัยเมื่อครั้งนายสุธี ทองแย้ม เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี มีการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาใช้ควบคู่ในการแก้ปัญหาทุเรียนทั้งทุเรียนอ่อนและทุเรียนสวมสิทธิ์ เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคหรือกฎหมายพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง และมีการออกคำสั่งทางปกครองหากล้ง หรือผู้ประกอบการใดจำหน่ายทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนสวมสิทธิ์ ก็จะตรวจสอบทุกขั้นตอนในล้งอย่างละเอียด เช่น ตรวจสอบแรงงาน / ตรวจหาสารเสพติด เป็นต้น ทำให้แก้ปัญหาทุเรียนได้ผลดีเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันนายสุธีฯ ยังทำให้เจ้าหน้าที่ทีมเล็บเหยี่ยวฯ และเจ้าหน้าที่จาก สวพ.6 รวมถึงเกษตรจังหวัดฯ ทำงานอย่างเข้มแข็ง เพราะเมื่อเกิดปัญหากับผู้ปฏิบัติงาน ‘นายสุธี’ จะออกหน้ารีบแทนทุกครั้ง นายสัญชัย ระบุว่า หากผู้เกี่ยวข้องทำงานอย่างเข้มแข็ง เชื่อว่า จะแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนทุเรียน และทุเรียนสวมสิทธิ์ในภาคตะวันออก ขณะนี้ได้
ขณะเดียวกันทางกระทรวงเกษตรฯ โต้ ไม่จริง แล็บทดสอบทุเรียนถูกระงับหมด ยันมีเพียงพอรองรับการส่งออก โดยเมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกระแสข่าวในสื่อโซเชียลที่ระบุว่า ห้องปฏิบัติการของไทยที่จะตรวจรับรองสาร Basic Yellow หรือ BY2 ในทุเรียนสด ก่อนส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ถูกระงับจนไม่เหลือแล็บใช้ในการตรวจรับรองแล้วนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดย น.ส.นฤมล สงวนวงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ขณะนี้ยังมีห้องปฏิบัติการที่สามารถทดสอบ BY2 และแคดเมียมก่อนการส่งออก ได้จำนวน 4 แห่ง และได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนใหม่ไปกับสำนักงานศุลกากรจีน หรือ GACC อีก 5 แห่งเรียบร้อย แล้ว รวมทั้งมีการขอให้ GACCพิจารณาอนุญาตให้ห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง สามารถกลับมาทดสอบได้อีกครั้งด้วย”กระทรวงเกษตรฯ ขอยืนยันกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทุกรายว่า ห้องปฏิบัติการยังเพียงพอและสามารถรองรับผลผลิตที่จะออกมาจำนวนมากในช่วงเดือน พ.ค.นี้อย่างแน่นอน โดยผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบรายชื่อห้องปฏิบัติการทดสอบ BY2 และแคดเมียมในทุเรียนส่งออกไปจีนได้ที่เว็บไซต์ของกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืชhttps://www.doa.go.th/psco/?page_id=5691#
ทั้งนี้ นายเอกภาพ กล่าวว่า ขอให้เกษตรกรรับฟังข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯเป็นหลัก เนื่องจากว่า ข้อมูลในสื่อออนไลน์อาจจะมีความคลาดเคลื่อนจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเป็นวงกว้างได้ และ รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่อง.
สมนึก วิสุทธิ์ จันทบุรี 0913908888
.