ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
พลโท จเรศักณิ์ อานุภาพ สมาชิกวุฒิสภา
04 ก.ย. 2566

สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในการดูแลและควบคุมการใช้งานกฎหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ทั้งการติดตามและเสนอแนะเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และร่วมรับฟังแผนปฏิบัติราชการของจังหวัดที่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงรับฟัง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคกับการบริหารราชการของจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำท้องที่ และข้อเสนอแนะจากพี่น้องประชาชนในด้านต่างๆ

                ด้วยเหตุนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่าง สมาชิกวุฒิสภา จึงต้องเป็นผู้ที่เข้าใจความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริงและรับฟังปัญหาประชาชน พร้อมกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้กลไกวุฒิสภา เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ฉบับนี้ จึงขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับพลโท จเรศักณิ์ อานุภาพ สมาชิกวุฒิสภา หรือคุณ เรในวัน 71 ปี ผู้ที่ทำงานราชการมาทั้งชีวิตและยังเป็นผู้ดูแลพร้อมรักษาสามเสาหลักของประเทศไทยมาตลอดชีวิต

โดย พลโท จเรศักณิ์ อานุภาพ สมาชิกวุฒิสภา เล่าว่า เดิมมีพื้นเพอยู่อำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี และย้ายตามคุณพ่อซึ่งรับราชการทหารที่ย้ายมาประจำการที่กรุงเทพฯ สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯรุ่นที่ 23 อีกทั้ง ยังได้ศึกษาอีกหลายหลักสูตร อาทิ วุฒิการศึกษา ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ ปริญญาโทศิลปศาสตร์มหาบันฑิต ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ,วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรปี 254,หลักสูตร การบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน (ปรม.15/สถาบันพระปกเกล้าฯ),หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ปปร.21/สถาบันพระปกเกล้าฯ)

โดยเข้ารับราชการครั้งแรกได้บรรจุเป็นในตำแหน่งรองหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษของกองรบพิเศษ (พลร่ม) ที่ 2 จังหวัดลพบุรีทำงานด้านรอยต่อระหว่างพื้นที่ภาคอีสานตอนบน และรอยต่อประเทศ สปป.ลาวซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาด้านความแตกแยกด้านแนวความคิดกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจากนั้นได้มีโอกาสเป็นนักบินที่ศูนย์การบินทหารบกจังหวัดลพบุรี ศึกษาได้ 1 ปีก็ได้ไปทำงานทั่วประเทศ เช่น อำเภออรัญประเทศ (เมื่อ พ.ศ. 2536) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

หลังจากนั้นไปปฏิบัติการบินที่จังหวัดน่าน และต่อด้วยการไปปฏิบัติงานประจำที่พื้นที่ภาคใต้เป็นเวลา 1 ปีเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ รวมถึงสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานีจังหวัดกระบี่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา รวมไปถึงทางอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ก่อนจะปฏิบัติทางการบินต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคอีสาน ณ จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหารและได้มีโอกาสไปช่วยภาคพื้นสนับสนุนในการปราบปรามยาเสพติด กองกำลังขุนส่า ที่จังหวัดเชียงรายอีกด้วย

หลังจากนั้นได้ศึกษาโรงเรียนเสนาธิการทหารบกก่อนกลับมาทำงานที่ศูนย์สงครามพิเศษหรือหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษในปัจจุบันโดยไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในตำแหน่งผู้พันได้รับหน้าที่ดูแลรอยต่อระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว นับตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย รวมไปถึงจังหวัดเลยและต่อมาได้เป็นผู้การกรมฯภารกิจรับผิดชอบดูแลกองพันและกรมฯ กล่าวได้ว่าหน่วยรบพิเศษมีภารกิจ เกาะติดพื้นที่ในเรื่องของการข่าว เรื่องการเตรียมมวลชน การรักษามวลชน การสร้างกองกำลัง เป็นการเตรียมด้านความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่ ก่อนเกษียณได้ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกเป็นระยะเวลา 4 ปี

สำหรับเส้นทางสายการเมือง พลโท จเรศักณิ์ อานุภาพ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีหน้าที่ในการพิจารณากฎหมาย การควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหาร พิจารณาในการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งและองค์กรอิสระ รวมไปถึงพิจารณาเรื่องของการเห็นชอบของรัฐบาลในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ ในระยะเวลา 5 ปี ที่ได้ดำรงตำแหน่ง สนช. ได้ร่วมกันออกกฎหมายเป็นจำนวนมาก ประมาณ 400 กว่าฉบับ เป็นการปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น อีกทั้งยังได้ถูกคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการคมนาคม และก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

“หลังจากที่ได้ปฏิบัติหน้า สนช. เป็นระยะเวลา 5 ปี และได้รับการตั้งแต่งให้ดำรง สว.ทำให้มีความเข้าใจในกระบวนการทำงานการพิจารณา การแก้ไขกฎหมาย ที่ต้องสอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นการใช้ประโยชน์จากกฎหมายที่ดิน อาทิ การพิจารณาที่ดินปะเภท ส.ค.1-น.ส.3 ต่างๆพื้นที่ ส.ป.ก. ในการจัดสรรพื้นที่ให้พี่น้องเกษตรกร รวมถึงผู้ที่อยู่อาศัยอยู่เขตป่าไม้และเขตอุทยาน ที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่ดินของนิคมสร้างตนเอง ซึ่งต้องตรวจสอบการใช้กฎหมายของกรมที่ดิน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะถือเป็นประเด็นสำคัญในการดูแลการใช้กฎหมาย และมีส่วนสำคัญต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน”

พลโท จเรศักณิ์ กล่าวอีกว่า นอกจาก สว. จะมีหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยกลไกวุฒิสภาโดยไม่ก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายบริหารสว. ยังใช้กลไกการทำงานของวุฒิสภาลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากพี่น้องประชาชน ซึ่ง พลโท จเรศักณิ์ ได้รับหน้าที่ดูแลพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสกลนคร จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด

โดยได้มีการดำเนินโครงการมาแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบันลงพื้นที่มาแล้วมากกว่า 60 ครั้ง

โดยมีเป้าหมายเพื่อพบพี่น้องประชาชน ว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร ได้รับการบริการจากภาครัฐอย่างไร รวมถึงตรวจสอบข้อกฎหมาย และรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะของประชาชนเข้าสู่ส่วนกลางที่มีประเด็นต่างๆ มากกว่า 1,200กรณี สามารถจำแนกได้หลายประเด็นเช่น1. การแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ หน่วยงานรัฐ 2. ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เนื่องจากจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีภูมิศาสตร์ที่ไม่ค่อยอุ้มน้ำ เมื่อฝนตกมากน้ำก็จะท่วม พอหมดฝนก็จะแล้งทันที 3. ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและได้รับการพัฒนาอย่างมาก แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงได้รับการร้องเรียนเสมอมา 4.ปัญหายาเสพติดซึ่ง สว. มีหน้าที่ในการติดตามการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ตามกลไกวุฒิสภา

นอกจากนั้น ประเด็นกังกล่าวแล้ววุฒิสภา ยังได้ติดตามการแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตร ปัญหาความต้องการปัจจัยการผลิต  เช่น ที่ดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และเงินทุน โครงการต่างๆ จากภาครัฐที่ลงไปในพื้นที่ เช่น โครงการจัดหาแหล่งน้ำ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ รวมไปถึง พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยจากหน่วยงานภาครัฐว่ามีการช่วยเหลืออย่างไร มีการชดเชยเพียงหรือไม่อย่างไร อีกด้วย และจากการทำงานอย่างต่อเนื่องของวุฒิสภา ในการติดตามการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนทำให้ปัญหาต่างๆ ในหลายประเด็นได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว เช่น กรณีการขอให้ออกโฉนดที่ดินในพื้นที่อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนครจำนวน 42 แปลง สามารถดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

กรณีโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วมุก บ้านสมสะอาด หมู่ 1 ตำบลกุดแข้ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ปัจจุบันได้รับงบประมาณ เรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ2566 และกรณีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเกิ้ง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซ้ำซาก ทำให้ตัวอาคาร อุปกรณ์สำนักงาน และอุปกรณ์การแพทย์เสียหายปัจจุบันได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุน เพื่อดำเนินการซ่อมแซมบูรณะอาคาร และปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว และในส่วนของครุภัณฑ์การแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามได้สั่งการให้ดำเนินการจัดหาทดแทนด้วยงบค่าเสื่อมของปี 2567 เรียบร้อยแล้ว พลโท จเรศักณิ์ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

จะเห็นได้ว่า จากการทำงานที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างมากมาย ได้ทำงานขึ้นเหนือล่องใต้มาทั่วประเทศ สิ่งที่เป็นที่ทำให้พลโท จเรศักณิ์ ผ่านมาถึงจุดนี้ได้ มาจากแนวคิดและอุดมการณ์ยึดมั่นในความอดทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับอุปสรรคปัญหาในการทำงานที่เกิดขึ้นและวิธีรับมือ พลโท จเรศักณิ์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า

“การรับมือกับอุปสรรค เราต้องมุ่งมั่นในสิ่งที่เรายึดถือว่าสิ่งที่เราทำต้องถูกต้องตามข้อกฎหมายและมีคุณธรรม จริยธรรม อีกทั้งใช้หลักทางการศาสนาในการหาความจริง โดยใช้อริยสัจ 4 เพื่อหาต้นตอของปัญหานั้นมาจากอะไร แล้วมีทางแก้ไขอย่างไร เราจึงค่อยหาเส้นทางว่าจะเดินไปต่ออย่างไร สำหรับอุปสรรคปัญหาของการทำหน้าที่ให้สมาชิกวุฒิสภา 1.ต้องมีการทบทวนบทบาทหน้าที่ 2.อำนาจ 3. ข้อจำกัดอำนาจหน้าที่ และสื่อไปยังพี่น้องประชาชนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง โดยตนเองต้องตระหนักในด้านจริยธรรม คุณธรรม ในการทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมอย่างเต็มกำลังความสามารถ”

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...