ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่องเที่ยว ย้อนกลับ
ททท.กาญจนบุรี ขอชวนไปชมภาพแห่งความศรัทธาของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมอญ
10 เม.ย. 2566

ททท.กาญจนบุรี ขอชวนไปชมภาพแห่งความศรัทธาของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมอญ กับพิธีสรงน้ำผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ และพระเดินบนหลังคน ในงานประเพณีสงกรานต์ ของชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญบ้านวังกะ วันที่ 13-18 เมษายน นี้ ที่วัดวังก์วิเวการาม และบริเวณเจดีย์พุทธคยา อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ที่วัดวังก์วิเวการาม หรือวัดหลวงพ่ออุตตมะ จะกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายมอญแห่งอำเภอสังขละบุรี ซึ่งถือว่าเป็นงานบุญงานใหญ่ประจำปีอีกงานหนึ่ง

สำหรับการจัดงานในปีนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 – 18 เมษายน 2566 โดยในช่วงเย็นวันที่ 13 เมษายน จะมีพิธีสวดพระพุทธมนต์เย็น วันที่ 14-16 เมษายน ชาวมอญผู้สูงอายุจะไปถืออุโบสถศีล และนอนค้างอยู่ที่วัด เป็นเวลา 3 วัน เพื่อทำจิตใจให้ผ่องใสต้อนรับปีใหม่ที่กำลังมาถึง ภาพที่เราจะได้เห็นจนชินตาก็คือ ภาพของพุทธศาสนิกชนทั้งหญิง-ชาย แต่งกายด้วยชุดชาวมอญอย่างสวยงามเดินทางไปทำบุญที่วัด โดยผู้หญิงชาวมอญจะเดินทูนถาดอาหารคาว-หวานไว้บนศีรษะ เพื่อนำไปถวายพระ และให้พ่อ แม่ ปู่ย่าตายายที่ถือศีลอยู่ที่วัดได้รับประทานด้วย ในช่วงเย็นของทั้ง 3 วัน ชาวบ้านหนุ่มสาว และเด็กๆ จะบรรทุกน้ำไปที่วัด เพื่ออาบให้กับพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย ที่ไปถือศีลอยู่ที่วัด หลังจากนั้นชาวบ้านจะร่วมกันขนทรายเข้าวัด เพื่อก่อเจดีย์ทรายที่บริเวณต้นศรีมหาโพธิ์ ใกล้กับเจดีย์พุทธคยา โดยเจดีย์ทรายของที่นี่ จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากที่อื่น คือเป็นเจดีย์องค์ใหญ่เพียงองค์เดียว ที่ก่อขึ้นไปเป็นชั้นๆ มีการจุดธูปเทียนบูชา และปักธงสีประดับ 

สำหรับกิจกรรมที่ถือเป็นเป็นไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดชมก็คือ พิธีสรงน้ำพระแบบมอญ ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันที่ 17 เมษายน (ในแต่ละปีอาจจะไม่ตรงกัน) โดยพิธีจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. เป็นต้นไป ชาวบ้านจะทยอยออกจากบ้านมารวมตัวกันบริเวณลานหน้าเจดีย์พุทธคยาตั้งแต่บ่าย เพื่อร่วมพิธีสรงน้ำพระ โดยจะเริ่มจากการสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดก่อน จากนั้นจึงเป็นการสรงน้ำพระภิกษุ และสามเณร ตามลำดับ 
 
สำหรับพิธีสรงน้ำพระนี้ ชาวบ้านถือว่าพระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ ที่ไม่ควรเหยียบย่ำหรือสัมผัสกับพื้นดิน ชาวมอญผู้ชายที่มีจิตศรัทธา จะพร้อมใจกันมานอนเบียดเรียงต่อกันเป็นแถวยาว เพื่อให้พระสงฆ์เดินเหยียบไปบนหลัง โดยมีความเชื่อกันว่าจะเป็นการช่วยขจัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ หลังจากนั้นชาวบ้านจะพากันเตรียมน้ำอบน้ำปรุงที่ลอยด้วยดอกไม้มาจากบ้าน นำมาเทลงไปในรางไม้ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ รางไม้นี้ทำมาจากไม้ไผ่ผ่าครึ่งตามยาว แล้วนำมามัดรวมผูกต่อ ๆ กัน เพื่อให้เกิดเป็นทางน้ำ ในแต่ละรางจะมีสาขาแตกแผ่ออกไป เพื่อให้การสรงน้ำเป็นไปได้อย่างทั่วถึง น้ำจากรางไม้ทั้งหมดนี้จะไหลไปรวมกันที่จุดเดียวกัน โดยมีฉากไม้ไผ่ที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้เป็นฉากกั้น เพื่อให้พระสงฆ์ไปนั่งสรงน้ำที่บริเวณหลังฉากกั้นนั้น ทั้งนี้ หลังจากสรงน้ำพระเสร็จ ชาวมอญจะนำน้ำที่เหลือจากการสรงน้ำพระ มาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
 
ในวันสุดท้ายของประเพณีสงกรานต์ (ตรงกับวันที่ 18 เมษายน) ชาวมอญแต่ละบ้าน แต่ละชุมชนจะพร้อมใจกันตั้งขบวนนำกองผ้าป่ามารวมกันที่ตลาดในตอนเช้า จากนั้นจะร่วมกันแห่กองผ้าป่า เครื่องไทยทาน รวมถึงสำรับกับข้าวขึ้นมาที่วัด เป็นขบวนยาวที่มีสีสันและความสนุกสนานด้วยเสียงดนตรีและท่าฟ้อนของสาวน้อย สาวใหญ่ชาวมอญ เมื่อนำกองผ้าป่าและสำรับกับข้าวไปไว้ที่วัดแล้ว ก็จะร่วมกันหามเสลี่ยงอัญเชิญยอดฉัตร 9 ชั้น จากวัดวังก์วิเวการามไปที่เจดีย์ทราย บริเวณลานด้านหน้าเจดีย์พุทธคยา เพื่อทำพิธียกฉัตรและสวมฉัตรเจดีย์ทราย จากนั้นจะกลับมาที่ศาลาวัดอีกครั้ง เพื่อมาสมาทานศีล ถวายเพลพระ ถวายผ้าป่า และกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเป็นอันจบสิ้นประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญสังขละบุรี

เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ หากช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ท่านยังไม่มีแพลนไปเที่ยวที่ไหน ททท.กาญจนบุรี ขอเชิญทุกท่านเดินทางมาเที่ยวชมงานประเพณีอันงดงามเป็นเอกลักษณ์ และเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์แห่งวิถีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชุมชนชาวมอญบ้านวังกะแห่งสังขละบุรีนี้ด้วยกัน 

สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวกับ ททท.สำนักงานกาญจนบุรี
โทรศัพท์ : 034 511200, 034 512500 
Facebook : ททท.สำนักงานกาญจนบุรี : TAT Kanchanaburi Office 
Line OA : https://lin.ee/IEv5buE
ข้อมูลจาก เพจ ททท.สำนักงานกาญจนบุรี


ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...