ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
การท่าเรือฯผุดท่าเรือบกที่โคราช-ขอนแก่นศูนย์พักสินค้า
01 ก.พ. 2566

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุนที่จะนำร่องพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา คาดว่า ผลการศึกษารูปแบบการลงทุนจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 66 จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. กระทรวงคมนาคม และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบผลการศึกษา ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนตามผลการศึกษา หาก PPP ต้องจัดทำการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (เวนคืน) จัดหางบประมาณดำเนินการ และเปิดประกวดราคาต่อไป

ทั้งนี้มูลค่าการลงทุนท่าเรือบก เบื้องต้นเฉลี่ยแต่ละระยะ (เฟส) คาดว่า จะใช้เงินลงทุนแห่งละประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการลงทุนโครงการดังกล่าว จะพิจารณา 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.รูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (Public Private Partnerships หรือ PPP) โดย กทท. ลงทุนทั้งหมด ซึ่งข้อดีรูปแบบ PPP คือ การบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ แต่มีข้อเสีย คือ ใช้ระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างนาน และ 2.รูปแบบการจัดตั้งบริษัทฯ และเชิญภาคเอกชนเข้ามาถือหุ้น ซึ่งรูปแบบนี้จะเพิ่มความน่าสนใจให้เกิดการลงทุนมากขึ้น โดยจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด และ กทท. จะเป็นแกนกลางดำเนินงาน คล้ายการจัดตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งทำให้เกิดการดำเนินการเร็วที่สุด

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า หากใช้รูปแบบการลงทุนโดยการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) คาดว่า จะใช้ระยะเวลาตั้งแต่การก่อสร้าง และกระบวนการอื่นๆ จนแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ รวมทั้งหมดประมาณ 5 ปี แต่หากจะรูปแบบจัดตั้งบริษัท และเชิญภาคเอกชนเข้ามาถือหุ้นนั้น คาดว่า จะใช้เวลาดำเนินการที่สั้นกว่ารูปแบบ PPP หรือจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3 ปี อย่างไรก็ตามรูปแบบการลงทุนทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าวจะต้องพิจารณาข้อดีและข้อเสียให้รอบด้าน ก่อนตัดสินใจว่าจะใช้รูปแบบไหนดำเนินโครงการฯ

สำหรับท่าเรือบก จ.ขอนแก่น ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโนนพยอม ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ใช้พื้นที่ 1,500-2,000 ไร่ ส่วน จ.นครราชสีมา อยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพราะผลการศึกษาในอดีต ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ที่ ต.กุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา แต่ปัจจุบันพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงพิจารณาพื้นที่ใหม่ที่มีความเหมาะสม และมีศักยภาพมากกว่าพื้นที่เดิม เพราะต้องพิจารณาพื้นที่โดยรอบให้ครอบคลุมกับการขนส่งทางถนนและทางราง

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้โครงการท่าเรือบก จ.นครราชสีมา มีการเสนอทำเลที่ตั้งใหม่ คือ บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ต.หนองไข่น้ำ อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งติดกับสถานีรถไฟและถนน รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมด้วย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะใช้พื้นที่เดิมหรือพื้นที่ใหม่ โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสม เนื่องจาก จ.นครราชสีมา เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนล่าง มีการขนส่งสินค้าเกษตรจำนวนมาก อาทิ แป้ง มันสำปะหลัง และข้าว ซึ่งการผลิตจะสามารถนำส่งสินค้าได้ทันที ดังนั้นทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจมหาศาล อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปี 66 จะได้ข้อสรุปตำแหน่งที่ตั้งของท่าเรือบก จ.นครราชสีมา ส่วนขนาดพื้นที่ จ.นครราชสีมาจะใช้พื้นที่น้อยกว่า จ.ขอนแก่น เนื่องจาก จ.นครราชสีมามีโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนอาจมีราคาสูง

การดำเนินการท่าเรือบกพื้นที่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา ทั้ง 2 พื้นที่มีศักยภาพเท่ากัน ส่วนจังหวัดไหนจะสร้างก่อน-หลังนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเอกชน และการให้ความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ ขณะนี้ จ.ขอนแก่น ภาคประชาชนรับรู้เรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ซึ่งถือว่ามีความพร้อม เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ท่าเรือบกจะสนับสนุนการขนส่งสินค้าเชื่อมการขนส่งแบบถ่ายลำ และการขนส่งสินค้าเชื่อมระหว่างทางบกและทางรางได้ ตลอดจนให้ทันขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือบกในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ขนาด 1,000 ไร่ ปัจจุบันพบว่า พื้นที่ดังกล่าวยังติดข้อจำกัดเรื่องการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นกับชาวบ้านยังคงมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรายังมีโครงการสรรหาเอกชน เพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) อยู่แล้ว ซึ่ง กทท.ไม่อยากให้เกิดการแข่งขันระหว่างกัน ทำให้ กทท. มีแผนพัฒนาท่าเรือบกในแถบภาคอีสานก่อน เพราะเป็นพื้นที่ที่จะช่วยสนับสนุนสินค้าทางการเกษตรที่มีค่อนข้างมากในพื้นที่ คาดว่าในอนาคต กทท. จะประเมินผลการศึกษาในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราอีกครั้ง

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...