ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
กรมทางหลวง ศึกษาออกแบบ ถนน 345 ช่วงแยกบางบัวทอง–แยกบางคูวัด เป็น 8 เลน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร
09 ธ.ค. 2565

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 เวลา 08.30 ณ ห้องประชุมชั้น 3 องค์การบริหารส่วนตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีนายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ให้เกียรติมาเป็นประธาน การประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 345 ช่วงแยกบางบัวทอง–แยกบางคูวัด โดยมีผู้แทนกรมทางหลวง ส่วนราชการระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนหมู่บ้าน ชุมชน และประชาชนในพื้นที่โครงการ เข้าร่วมๅประชุมในห้องประชุมและผ่านระบบซูม โดยมี นายสุวิชช์ รอดภัย ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนนทบุรี ในฐานะผู้แทนกรมทางหลวง เป็นผู้กล่าวรายงาน

ทางหลวงหมายเลข 345 สายบางบัวทอง บางพูน ปัจจุบันแนวเส้นทางมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงแยกบางบัวทอง–แยกบางคูวัด ทำให้ผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ดังนั้น การศึกษาและออกแบบโครงการในช่วงดังกล่าว จากทางหลวง 4 ช่องจราจร เป็นทางหลวง 8 ช่องจราจร จะช่วยให้การเดินทาง การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า มีความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น กรมทางหลวงจึงได้ ว่าจ้าง บริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท พี ที อี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท กรีน เอิร์ธ คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาออกแบบดังกล่าว โดยเริ่มปฏิบัติงาน 18 กุมภาพันธ์ 2565 สิ้นสุด 13 พฤษภาคม 2566 มีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 450 วัน การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง คือ การประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1) และการประชุมเสนอแนวคิดในการกำหนดรูปแบบทางเลือกการพัฒนา โครงการเบื้องต้น (กลุ่มย่อย ครั้งที่ 1)

ส่วนการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โดยมีวัตถุประสงค์การประชุม ดังนี้  
1. เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารโครงการ ประกอบด้วย ผลการศึกษาด้านการจราจร และสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ ความก้าวหน้าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลการดำเนินงาน การมีส่วนร่วมให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ 
2. เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบผลการพัฒนาโครงการและความก้าวหน้าผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานโครงการต่อไป
 
การศึกษาทางเลือกรูปแบบถนนของโครงการ โดยพิจารณาจากปริมาณจราจรที่คาดการณ์ในอนาคต ระดับการให้บริการ (Level of Service)และความเหมาะสมด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่าทางเลือกที่เป็นถนนหลัก 8 ช่องจราจรและเพิ่มทางขนาน (Frontage Road) ข้างละ 2 ช่องจราจร ออกแบบเต็มเขตทาง (Ultimate Stage) 70 เมตร เป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมที่สุด ซึ่งในการออกแบบได้ออกแบบเป็นถนนหลัก 8 ช่องจราจร ขนาดช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร มีไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร และมีทางขนาน (Frontage Road)  
ข้างละ 2 ช่องจราจร ขนาดช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร มีไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร และทางเท้า กว้าง 3.75 เมตร มีระบบระบายน้ำและระบบไฟฟ้าแสงสว่างตลอดแนวถนนโครงการ ส่วนสะพานข้ามคลองต่างๆ ในโครงการทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ คลองลากค้อน คลองลำโพธิ์ คลองพระอุดม คลองบางตะไนย์ คลองเกาะเกรียง และคลองบางคูวัด จากการเปรียบเทียบโดยการให้คะแนน ทั้งด้านวิศวกรรม 40 คะแนน ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน 30 คะแนน และด้านสิ่งแวดล้อม 30 คะแนน พบว่า รูปแบบที่ 2 คือ รื้อสะพานเดิม ก่อสร้างสะพานใหม่ 2 สะพาน แยกจากกัน มีความเหมาะสมมากที่สุด (ได้คะแนนรวม 89.13 คะแนน) ซึ่งสอดคล้องกับผลการประชุมเสนอแนวคิดในการกำหนดรูปแบบทางเลือกการพัฒนาโครงการเบื้องต้น (กลุ่มย่อย ครั้งที่ 1) ที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้ตอบแบบสอบถามกลับมา แต่จากการหารือกับกรมเจ้าท่า ตามหนังสือเลขที่ คค 0312.5/955 และกรมชลประทาน ตามหนังสือ เลขที่ กษ 0320.15/1213 ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ คลองต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการ และมีข้อกำหนดในการออกแบบโครงสร้างสะพาน ดังนี้ 
ข้อกำหนดในการออกแบบสะพานของกรมเจ้าท่า
1. ตอม่อ จะต้องไม่อยู่ในลำคลอง 
2. ความสูงสุทธิของช่องลอดสะพานให้ยึดถือระดับใต้คาน หรือท้องสะพานแล้วแต่ส่วนใดจะต่ำสุด กับระดับผิวน้ำขึ้นสูงสุดเฉลี่ย พร้อมดูรายละเอียดข้อมูลสัญจรทางน้ำในบริเวณดังกล่าว นั่นคือ ไม่ต่ำกว่าความสูงสะพานเดิม
ส่วนข้อกำหนดในการออกแบบสะพานของกรมชลประทาน 
1. ตอม่อ จะต้องไม่อยู่ในลำคลอง 
2. ระดับท้องคานสะพาน จะต้องสูงกว่าระดับน้ำสูงสุดในบริเวณนั้น คือ ไม่น้อยกว่า 3.80 เมตร
จากข้อจำกัดตามข้อกำหนดในการก่อสร้างสะพานของกรมเจ้าท่าและกรมชลประทาน ทำให้ โครงการ จำเป็นต้องออกแบบสะพานในโครงการ เป็นรูปแบบที่ 3 คือ รื้อสะพานเดิม ก่อสร้างสะพานใหม่ 2 สะพานติดกัน ซึ่งสามารถรองรับปริมาณจราจรได้มากและมีที่กลับรถใต้สะพาน ที่รถขนาดใหญ่สามารถใช้กลับรถได้ ตามความต้องการของท้องถิ่น แต่อาจทำให้ราคาค่าก่อสร้างสูงขึ้นและผู้อยู่อาศัยสองข้างทางบางส่วน อาจไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางบ้าง

จากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น มีปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม 20 ปัจจัย ที่มีนัยสำคัญและต้องนำไปศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งผลการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการออกแบบ รายละเอียดโครงการ จะได้นำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

นายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีกล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการวางแผนเพื่อแก้ไข 
ปัญหาการจราจรบนถนน 345 ที่นับวันจะมีปัญหาติดขัดมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อยู่อาศัย มีโครงการหมู่บ้านจัดสรรเป็นจำนวนมาก รวมทั้งถนน 345 เป็นถนนที่เชื่อมต่อกับถนนสายอื่นๆ เช่น ถนนราชพฤกษ์ ทำให้มีผู้ใช้ถนนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการ อาจมีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยโดยรอบ ดังนั้น การประชุมในวันนี้จึงมีความสำคัญต่อพวกเราและประชาชนในพื้นที่ ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ การรับฟังรายละเอียดและการแสดงความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะต่อรูปแบบการพัฒนาโครงการ ซึ่งไม่ว่ารูปแบบใด ก็จะต้องมีการให้ความเห็นถึงความเหมาะสม โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยและความต้องการของพื้นที่ และผู้ใช้เส้นทางดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการ ที่จะนำไปเป็นแนวทางการดำเนินงานการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการต่อไปอีกด้วย

สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม / หน.ข่าวภูมิภาค

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...