ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่องเที่ยว ย้อนกลับ
อพท.พาสัมผัสวิถี บ้านถ้ำเสือ ชุมชนท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ
06 ก.ย. 2565

อพท.  ชุมชนบ้านถ้ำเสือ จังหวัดเพชรบุรี ต้นแบบความสำเร็จ “ชุมชนท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ” ต้นแม่น้ำเพชรบุรี ที่ใช้หลักบริหารจัดการการท่องเที่ยว ตามแนวทาง BCG Model   ชวนนักท่องเที่ยวสัมผัสกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศกลางผืนป่า ที่ใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติ สู่การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
***เปิดชุมชนคาร์บอนต่ำ เส้นทางท่องเทียวเชิงนิเวศ***
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า  จากความสำเร็จของแผนขับเคลื่อนการผลักดันเพื่อการท่องเที่ยว ที่ อพท. เข้าไปยกระดับชุมชน ที่มีการต่อยอด สร้างคุณค่าจากทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทุนทางธรรมชาติ เกิดการพัฒนาศักยภาพผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์  โดย “ชุมชนบ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี”เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย ที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน  (CBT Thailand) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สำคัญ ที่จะเป็นต้นแบบ และพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria หรือ GSTC)  ซึ่งชุมชนบ้านถ้ำเสือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยว ให้มีการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างสมดุล หรือ "Carbon Neutral Community-Based Tourism" ที่จะผลักดันการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด BCG Model  (Bio-Circular-Green Economy Model)  ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วม (Co-Creation) และการเป็นเจ้าของร่วมกัน Co – Own ของชุมชนบ้านถ้ำเสืออย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้อพท.และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการเข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ความเข้าใจ เพื่อการพัฒนาเป็น”ชุมชนท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ”  การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร พร้อมลงมือทำให้เกิดผลอย่างแท้จริง  ภายใต้กิจกรรม “ดิน น้ำ ป่า จากภูผา สู่มหานที” นับเป็นต้นแบบของพื้นที่ภาคตะวันตก ที่ชุมชนได้มีส่วนร่วมการออกแบบพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวและกิจกรรม  โดยที่ชุมชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากรายได้เสริมที่มาจากการให้บริการนักท่องเที่ยว 
ชุมชนบ้านถ้ำเสือ เป็นชุมชนริมแม่น้ำเพชรบุรี ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ มีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวและการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ได้รับการยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์ การสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มุ่งสู่การใช้ประโยชน์ผืนป่าเพื่อการกักเก็บคาร์บอน เป็นส่วนหนึ่งการเดินหน้าสู่เข้าสู่สังคม Net Zero ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต้องตระหนักและให้ความสำคัญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีความยั่งยืน
***สัมผัส 4 กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์***
สำหรับ 4 กิจกรรมหลักในเส้นทางการท่องเที่ยว ที่พร้อมให้บริการนักท่องเที่ยว เริ่มต้น จากการเรียนรู้แหล่งสะสมพันธ์ไม้ในรูปแบบ “ธนาคารต้นไม้” ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้การอนุรักษ์ต้นไม้ที่มีคุณค่า และมีมูลค่า ทั้งในด้านการดำรงชีวิต  และการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อคนในชุมชน และนักท่องเที่ยวได้สัมผัส ความสำคัญของต้นไม้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันชุมชนสามารถยกระดับการปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ ตะเคียนทอง ที่จะมีมูลค่าเป็นหลักประกันในการกู้เงิน และยังเป็นมรดกส่งต่อให้ลูกหลานได้ ปัจจุบันชุมชนบ้านถ้ำเสือมีต้นไม้ที่ลงทะเบียนอยู่กับธนาคารมากกว่า 20,000 ต้น และเจ้าของต้นไม้จะได้รับดอกเบี้ย จากต้นไม้ของตนเองด้วยซึ่งได้รับผลตอบแทนแตกต่างตามแต่ละชนิดของต้นไม้” นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าว
จากนั้นสามารถสัมผัสวิธีการทำอาหารสูตรบ้านถ้ำเสื้อ ที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยว โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น พัฒนาสู่เมนูของคาว และของหวาน  ในการ “แปรรูปขนม ท้องม้วนสูตรเพชรบุรี เจ้าแรกที่ใช้ตาลตโนด” ถือเป็นการนำวิถีท้องถิ่น ผสมผสานภูมิปัญญาของชุมชน มานำเสนอผ่านกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือทำทองม้วนแสนหอมหวาน จากตาลโตนด เป็นไม้พื้นถิ่นที่สร้างชื่อเสียงของจังหวัด  ในการทำขนมหวานให้กับเมืองเพชร จนได้รับการยกย่องขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก   พร้อมนำสู่กิจกรรมด้านการถนอมอาหาร โดยนำไข่เป็ดที่ชาวบ้านเพาะเลี้ยงสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำภูมิปัญญาจากพืชมาสร้างคุณค่าของไข่เป็ด ให้มีรสชาติที่เป็นจุดเด่นและแตกต่างไม่เหมือนใคร เป็น”ไข่เค็มอัญชัน”  และในกิจกรรมที่พลาดไม่ได้ ที่นักท่องเที่ยวได้ร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูผืนป่า ด้วยการ  “ปั้นเมล็ดพันธุ์ เป็นกระสุนยิงด้วยหนังสติ๊ก  เพื่อใช้สำหรับการยิงไปยังพื้นที่ป่า” เพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้  และความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า”   ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ชนิดพันธุ์พืชท้องถิ่นที่มีคุณค่า  ให้กับชุมชนและสัตว์ป่า ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวยังสามารถสัมผัสกิจกรรมล่องแพยาง ไปกับสายน้ำเพชรบุรี ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เพราะเป็นสายน้ำที่มีความแตกต่าง จากแม่น้ำสายอื่นที่ไหลลงปากอ่าวทางทิศเหนือ ถือได้ว่า แม่น้ำเพชรบุรี เป็นแม่น้ำสำคัญทางเศรษฐกิจของเพชรบุรี 
ทั้งนี้จากการได้พัฒนาเป็น ”ชุมชนท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ” ยังได้ขยายผลโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้การให้บริการท่องเที่ยวเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง BCG Model ตั้งแต่เรื่องการคัดแยกขยะ ทำบ่อดักไขมัน แนวทางการลดใช้พลังงาน  โดยเน้นใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้บริการในที่พัก พร้อมรณรงค์ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว ในการคัดแยกขยะ  เป็นต้น
“ต้นไม้ที่คนในชุมชนบ้านถ้ำเสือช่วยกันดูแลรักษายังนำพาชุมชนเข้าสู่โครงการคาร์บอนเครดิต ส่งผลให้ชุมชนได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ และที่มากกว่านั้น ชุมชนได้รับความมั่นคงด้านพลังงาน ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และความมั่นคงด้านอาหาร สำหรับลูกหลานในอนาคต ความมั่นคงเหล่านี้ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนและกล้าที่จะก้าวต่อไป ใช้ความมั่งคงดังกล่าวเป็นภูมิคุ้มกันรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน” นาวาอากาศเอก อธิคุณกล่าว
***ชุมชนต้นแบบมาตรฐาน CBT Thailand***
ทางด้าน นายสุเทพ พิมพ์ศิริ (พี่น้อย) ประธานคณะกรรมการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ กล่าวว่า จากความสำเร็จในการทำเรื่อง “ธนาคารต้นไม้” ทำให้ชุมชนบ้านถ้ำเสือกลายเป็นชุมชนต้นแบบของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นศูนย์เรียนรู้ และเป็นโรงเรียนธนาคารต้นไม้ มีการเข้ามาศึกษาดูงานจากชุมชน โรงเรียน สถานศึกษาต่างๆ บริษัท ห้างร้าน ตั้งแต่ ปี 2554 ซึ่งที่ผ่านมาได้รางวัลกินรี  เป็นรางวัลกินรีแรกของ จ.เพชรบุรี และของไทยในด้านธนาคารต้นไม้ ล่าสุดได้รับรางวัลระดับประเทศ ในด้านการท่องเที่ยวชนบทยอดเยี่ยม และผ่านมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand Standard   นอกจากนี้ยังเป็นชุมชนแรกในประเทศไทย ที่มีการทำเรื่องการปลูกต้นไม้และการคำนวณคาร์บอนเครดิตอย่างครบวงจร
“ด้วยต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชุมชนได้ออกแบบกิจกรรมเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เช่น เรียนรู้ความเป็นมาของ “ธนาคารต้นไม้” ที่สามารถใช้เป็นเงินออม และเป็นหลักประกันให้กับสถาบันการเงินได้  การทำไข่เค็มดินสอพองใบเตยและดอกอัญชัน ที่จะได้เนื้อไข่ขาวที่ละเอียดไม่หยาบ ไม่เค็มจนเกินไป   และได้ไข่แดงที่หอมมัน สูตรเฉพาะของชุมชนบ้านถ้ำเสือ กิจกรรมเสือคลุกดิน  หรือการปั้นกระสุนพันธุ์ไม้เพื่อนำมายิงด้วยหนังสติ๊ก  คืนป่าสร้างปอดให้กับชุมชน การล่องแพยางในแม่น้ำเพชรบุรี ไฮไลท์ของบ้านถ้ำเสือคือการทำทองม้วนกรอบ หอม มัน อร่อย เป็นสินค้าส่งออกของหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อของชุมชน” นายสุเทพ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการทำปุ๋ยเบญจคุณ การทำน้ำกลั่นสมุนไพรไล่แมลงจากสมุนไพรท้องถิ่น การเผาถ่านคุณภาพสูงด้วยเตาอิวาเตะ และกิจกรรมชมสวนผลไม้ผสมผสานไร้สารเคมี โดยในชุมชนแห่งนี้ยังมีต้นยางนาอายุกว่า 100 ปี ที่ยังคงยืนต้น ให้นักท่องเที่ยวสายธรรมชาติเข้าไปสัมผัส  การพัฒนาพื้นที่บริการลานกางเต็นท์ของชุมชนให้เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการพักแรมในพื้นที่ธรรมชาติอีกด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...