ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
รศ.พญ.ธนันดา ตระการวนิช ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
01 ก.ย. 2565

อปท.นิวส์ ฉบับนี้ เราขอเสนอ หนึ่งหญิงเก่งในวัย 59 ปี ที่ยังสวยสง่า มากความสามารถ และมีหัวใจที่พร้อมบริการประชาชนอย่างแท้จริงกับ รศ.พญ.ธนันดา ตระการวนิช ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชที่กล่าวกันว่า เป็นแพทย์หญิงที่มีความตั้งใจและความมุ่งมั่นแรงกล้าในการดูแลสุขภาพประชาชน และยังเป็นอีกหนึ่งต้นแบบในการพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จบทความนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านรู้ว่า ฐานะแพทย์นั้นต้องฝ่าฟันอะไรบ้าง และมีวิธีคิดและรับมือกับอุปสรรคอย่างไร

รศ.พญ.ธนันดา ตระการวนิช หรือ “คุณหมอดา”มีพื้นเพอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เกิดในครอบครัวใหญ่คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ประกอบการทำธุรกิจส่วนตัวด้านขนส่งโลจิสติกส์  โดยเป็นลูกคนแรกจากพี่น้อง 4 คน จบการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนเรียนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จึงได้สอบเทียบไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นเวลา 2 ปี และได้สอบเข้าศึกษาอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเวลา 6 ปี

“สาเหตุที่เลือกเรียนสาขานี้ เพราะมีความสนใจด้านการแพทย์ เนื่องจากมองว่าเป็นวิชาชีพที่ดี ช่วยเหลือคน และมีญาติที่ศึกษาแพทย์มาก่อน จึงมีความประทับใจ เพราะได้แสดงให้เห็นว่าวิชาชีพแพทย์มีการอุทิศตัวอย่างมาก จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจและอยากจะเรียนด้านนี้ขึ้นมา”รศ.พญ.ธนันดา กล่าว พร้อมบอกต่อว่า

ตอนแรกยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะเลือกแผนกไหนเป็นพิเศษ เนื่องจากการเรียนแพทย์ใช้เวลายาวนาน กว่าจะได้รู้ว่าตัวเองมีความสนใจแผนกไหน อาจจะต้องมีประสบการณ์ผ่านแผนกต่างๆ มาพอสมควรเสียก่อน ถึงจะตัดสินใจได้ ซึ่งใช้เวลาเกือบปีสุดท้าย ถึงจะรู้ว่าตัวเองมีความสนใจแผนกอายุรศาสตร์ เพราะเป็นวอร์ดแรกที่เราได้เรียนตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์

“แผนกอายุรศาสตร์ฝึกให้เราได้คิด แยกโรคว่าคนไข้เป็นโรคอะไร เหมือนกับเราเป็นนักสืบที่ต้องมีการสืบค้น การตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาหลักฐาน เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ซึ่งจะตามด้วยการรักษาที่ถูกต้อง ก็ต้องคิดเยอะ”รศ.พญ.ธนันดา บอกถึงความน่าสนใจของแผนกอายุรศาสตร์

รศ.พญ.ธนันดาเล่าต่อว่า ต่อมาได้เป็นแพทย์รับทุนไปศึกษาต่อที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเวลา 4 ปี เมื่อสำเร็จจึงได้เข้ามารับราชการที่แผนกอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และรับทุนไปศึกษาต่อด้านอายุรศาสตร์โรคไตอีก 2 ปีที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับวุฒิบัตรอายุรศาสตร์โรคไตและวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย ก่อนที่ต่อมาจะหันมาทำงานดูแลสุขภาพให้คนไทยที่วชิรพยาบาลตั้งแต่นั้นมา

“ตอนนั้นยังเป็นวชิรพยาบาลยังเป็นเพียงโรงพยาบาล ไม่ได้เป็นโรงเรียนแพทย์ หลังจากนั้นเริ่มเป็นสถาบันสมทบกับ มศว. เริ่มเปิดสอนนักศึกษาแพทย์ เลยเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ แล้วก็มาเป็นมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ถือเป็นโรงเรียนแพทย์และเป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ”รศ.พญ.ธนันดา กล่าว            โดยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เน้นการจัดการศึกษา การบริการวิชาการแก่สังคม ที่สอดคล้องกับความต้องการ พร้อมกับมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยคุณธรรม ผู้นำด้านศาสตร์เขตเมืองและเครือข่ายการพัฒนาเมือง และการเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งเมือง (City University) อันดับ 1 ในอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2569    

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกตั้งแต่ปี 2019 ทำให้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน ซึ่งมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชได้มีส่วนผลักดันนวัตกรรมเพื่อสร้างอุปกรณ์สำหรับทางการแพทย์ไว้สู้กับโควิด-19 อาทิ การพัฒนาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ทำจากซิลิโคน ชนิด N 99 โดยใช้ชุดกรองเชื้อโรคในอากาศคุณภาพสูงที่ใช้กับเครื่องช่วยหายใจหรือเครื่องดมยาสลบ สามารถกรองเชื้อแบคทีเรียและไวรัสมากกว่าร้อยละ 99ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคได้สูงกว่าหน้ากากอนามัยชนิด N 95 ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป การพัฒนาหน้ากากชนิด N 99 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ป่วยได้ และช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีอุปกรณ์ชนิดนี้เพียงพอในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัย อื่นๆ อาทิ การแบ่งวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็น 2 เข็ม รวมถึงแอปพลิเคชั่น VAJIRA @ HOME ที่ได้รับรางวัลวิจัยนานาชาติของประเทศไทย ที่ทำให้ผู้ป่วยหาหมอได้เพียงแค่มีแอปฯ ดังกล่าว เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยที่พร้อมจะก้าวไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ

สำหรับการผ่อนคลายความเคร่งเครียดรศ.พญ.ธนันดา บอกว่าการมีงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลายเป็นสิ่งจำเป็น และดนตรีคือคำตอบขอคุณหมอ นอกจากนี้ ยังเคยเรียนเปียโนตั้งแต่ 4 ขวบ ทำให้ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ได้เป็นครูสอนดนตรีในช่วงวันหยุด แต่พอได้เป็นแพทย์ใช้ทุน เป็นหมอเต็มตัว เลยไม่ค่อยมีเวลาฝึกซ้อมเท่าไหร่นัก แต่ก็เพิ่งจะกลับมาเล่นดนตรีช่วงหลังๆ ที่โรงพยาบาลจัดงานดนตรีในสวน ทำให้มีโอกาสสอนนักศึกษาแพทย์ ควบคุมวงคอรัสของมหาวิทยาลัย นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจในชีวิต เพราะได้มีโอกาสแต่งเพลงให้กับวชิรพยาบาล ในชื่อ เกียรติศัพท์วชิรพยาบาล โดยหากโทรเข้ามาที่วชิรพยาบาลจะเป็นเพลงที่คุณหมอแต่ง

ปัจจุบันยังได้เปิดการสอนวิชาดนตรีให้กับคณะแพทย์ โดยมีทีมอาจารย์สอนดนตรีต่างๆ รวมถึงคุณหมอได้สอนวิชาเลือกเสรี ดนตรีศึกษา (เปียโน) ของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ประกอบกับปัจจุบัน ผู้ว่าฯ กรงเทพฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์มีนโยบายจัดกิจกรรมทำดนตรีในสวน ซึ่งได้จัดมา 3 ครั้งแล้ว ที่หน้าอาคารวชิรานุสรณ์ นอกจากนี้ยังได้จัดวงออร์เคสตราในกรุงเทพมหานคร นับเวลาเป็น 10 ปี ดังนั้นการได้ทำงานด้านคนตรีให้กับมหาวิทยาลัยคือหนึ่งในความภาคภูมิใจ

                “การเล่นดนตรีถือเป็นงานอดิเรกที่ผ่อนคลาย เลยได้นำศาตร์นี้มาเป็นวิชาทางเลือกเสรีดนตรีศึกษาให้กับนักศึกษาแพทย์เป็นเวลากว่า 10 ปี ถือเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งเดียวที่มีวิชานี้ให้กับนักเรียนแพทย์”รศ.พญ.ธนันดา กล่าวด้วยน้ำเสียงมีความสุข

                สำหรับแนวคิดและอุดมคติที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการศึกษาแพทย์รศ.พญ.ธนันดา บอกว่า กุญแจสำคัญคือความเพียรและความอดทน เพราะบางอย่างที่คิดว่าทำไม่ได้ แต่หากมีความเพียรพยายามและความตั้งใจ โอกาสคว้าเป้าหมายก็ไม่ยากไกลเกินฝัน รวมไปถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ

รศ.พญ.ธนันดา กล่าวด้วยว่า ต้องขอบคุณโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยที่สอนให้มี Service Mind ตั้งแต่เด็กๆ โดยโรงเรียนมีคติพจน์ “SERVIAM” ที่มีความหมายในการปลูกฝังให้ศิษย์พัฒนาตนเองเต็มศักยภาพเพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่มีความเห็นแก่ตัว พร้อมที่จะรับใช้เพื่อนมนุษย์ตามสถานภาพที่สามารถจะกระทำได้ เพราะวิชาชีพแพทย์ เป็นอาชีพที่ให้บริการ ให้การดูแลผู้ป่วยเสมือนญาติการถูกปลูกฝัง Service Mind ก็เป็นเหมือนการวางรากฐานของการบริการให้ตนตั้งแต่ยังเด็ก

ส่วนปัญหาและอุปสรรค เชื่อว่าใครหลายคนคงต้องเจอหนักบ้างเบาบ้าง วิธีรับมือกับอุปสรรคที่คุณหมอใช้มาตลอด คือการตั้งสติ มีความอดทนและรอเวลา แล้วค่อยๆ แก้ปัญหาไป เพราะทุกปัญหามีทางแก้ไข หากยังหาทางออกไม่ได้ ก็ต้องแก้ที่ตัวเราและต้องอยู่กับมันให้ได้ พร้อมสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง อย่าจมอยู่กับปัญหา แล้วทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี

“บางคนเวลาประสบปัญหา คิดไปถึงการฆ่าตัวตาย แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างมีทางแก้ เคยมีความรู้สึกดิ่งมาก แต่โชคดีที่ใช้เวลาไม่นานในการดึงสติกลับมา พร้อมค่อยๆ แก้ปัญหาไปเรื่อยๆ ซึ่งการตั้งสติให้ดีจะช่วยทั้งในเรื่อของการทำงานและการดำเนินชีวิต”รศ.พญ.ธนันดา กล่าวในที่สุด

 

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...