ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
รมว.เฮ้ง เตือนแรงงานไทย อย่าหลงเชื่อนายหน้าเถื่อน
19 ก.ค. 2565

รมว.แรงงาน สั่งเข้ม กรมการจัดหางาน เร่งตรวจสอบผู้มีพฤติกรรมโฆษณาจัดหางาน ชวนคนไทยทำงานต่างประเทศผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมแจงช่องทางร้องทุกข์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีกลุ่มสายไหมต้องรอด นำโดยนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ นำหญิงไทยเหยื่อนายหน้าเถื่อนหลอกลวงคนสมัครงานเพื่อไปทำงานโรงงาน งานนวด และงานเกษตรในสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีผู้เสียหายกว่า  50 ราย เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปคม.แล้วจำนวน 2 ราย โดย สาย – นายหน้าเถื่อนจะมีพฤติการณ์ไม่ต่างกันคือโฆษณาชวนเชื่อผ่านเพจเฟซบุ๊ค และสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการลงรูปภาพคนไทยที่ได้ไปทำงานที่เกาหลีโดยอ้างว่าเป็นผู้ที่ใช้บริการกับทางเอเจนซี่และเดินทางไปทำงานเกาหลีสำเร็จ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อจ่ายค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว ปรากฎว่าไม่สามารถเดินทางไปทำงานตามที่ตกลงไว้ได้ ซึ่งทำให้มีผู้เสียหายสูญเงินตั้งแต่ 15,000 บาท ถึงประมาณ 100,000 บาท  เบื้องต้นกองทะเบียนจัดหางานกลางฯ ได้ประสานกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ตลอดมาพบคนไทยถูกหลอกลวงให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยวิธีผิดกฎหมาย และต้องตกเป็นเหยื่อทำให้เสียทรัพย์ ถูกทำร้ายร่างกาย บังคับใช้แรงงาน บังคับค้าประเวณี  ซึ่งเข้าข่ายการค้ามนุษย์จำนวนมาก ทำให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยคนไทยที่ถูกหลอกลวงไปทำงานในต่างประเทศอย่างยิ่ง ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานขอฝากถึงพี่น้องคนไทยที่กำลังหางานในต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศใด หากสาย-นายหน้ามีพฤติการณ์แนะนำให้ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นชักชวนทำงานผิดกฎหมาย การลักลอบเข้าประเทศ หรือไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงาน ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง และโปรดอย่าหลงเชื่อ”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้สั่งการกรมการจัดหางานประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการหลอกลวงดังกล่าวในทุกช่องทาง และตรวจสอบสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ เมื่อมีการโพสต์ข้อความชักชวนคนหางาน ไปทำงานในต่างประเทศที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ.2528 โดยผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาท - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 101 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 136 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 11,566,340 บาท

ทั้งนี้ คนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ หรือประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถติดต่อได้ตามช่องทาง ดังนี้

1.ติดตาม ศึกษาข้อมูลการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas

2.ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th

3.ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd

4.ประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10

5.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...