ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ผู้ว่าฯ กทม. และสภา กทม.
18 มิ.ย. 2565

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

ผู้ว่าฯ กทม. และสภา กทม.

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ถึงนี้ กกต.ประกาศรับรองผู้ว่าฯ คนใหม่ไปแล้ว ดูเหมือนท่านเริ่มงานตั้งแต่ กกต.ยังไม่รับรองด้วยซ้ำ พี่น้องประชาชน กทม.ก็ต้องให้เวลาท่านสักพักนะครับ ปัญหา กทม.ไม่อาจแก้ไขได้เร็ววัน นโยบายของท่านผู้ว่าฯ สองร้อยกว่าข้อจะได้ครบหรือไม่ก็ต้องดูกันต่อไป ก็ต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากฝ่าย ส.ก. เจ้าหน้าที่ และชาวกรุงเทพฯ รวมถึงรัฐบาลด้วยนะครับ

สำหรับ ส.ก.ก็ยังรับรองไม่ครบห้าสิบ ก็ต้องรอระยะหนึ่งก่อนที่จะเปิดสภาฯ ถึงเดือนกรกฎาคม ก็จะต้องเตรียมพิจารณางบประมาณปี 2566 อีก ซึ่งน่าจะถึงแปดหมื่นล้าน ยังไม่รวมถึงเงินอุดหนุนของรัฐบาลร่วมสองหมื่นกว่าล้าน ก็ต้องพิจารณากันในโครงการหรือกิจกรรมที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดนะครับ ข้อสำคัญความโปร่งใสต้องทำให้ได้

มาว่าบทบาทสภา กทม.ต่อนะครับ  ส.ก.กฎหมายกำหนดให้มีเขตละหนึ่งคน กทม.มีห้าสิบเขตก็ต้องเลือกกันได้เพียงหนึ่งคน เว้นแต่เขตใดมีคนเกินหนึ่งแสนห้าหมื่นคนให้มี ส.ก.เพิ่มขึ้นทุกหนึ่งแสนห้าหมื่นคนต่อ ส.ก.หนึ่งคน เศษของหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ถ้าเกินเจ็ดหมื่นห้าพันคนให้มี ส.ก.เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมาย ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าเขตใดเลือก ส.ก.ได้สองคน ก็ต้องมีประชากรสองแสนสองหมื่นห้าพันคน ช่วงนี้ยังไม่มีเขตไหนมีประชากรถึงจำนวนนั้นครับ

สมาชิกภาพของ ส.ก.เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง และอยู่ในตำแหน่งตามอายุของสภาฯ คือสี่ปี แต่สมาชิกภาพของ ส.ก.อาจสิ้นสุดลงก่อนได้นะครับถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งคือ มีการยุบสภาฯ ตาย ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อประธานสภาฯ และให้มีผลนับแต่วันถัดจากวันยื่นหนังสือลาออก ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายกำหนด ขาดการประชุมสภาฯ ตลอดสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาฯ หรือสภาวินิจฉัยให้ออกเพราะเห็นว่า ได้กระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำแหน่ง มติของสภาฯ ในข้อนี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาฯ

ทั้งนี้ เฉพาะเรื่องนี้ให้ทำเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือ มท.1 ร้องขอ หรือเมื่อสมาชิกสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเข้าชื่อเสนอเป็นญัตติให้สภาฯ พิจารณา และยังมีเรื่องราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่ง ตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และถ้าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาสิ้นสุดลงพร้อมกันทั้งหมดเพราะเหตุดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นการยุบสภา

ดูแล้วการพ้นสมาชิกภาพช่างมากมายเหลือเกิน แต่เชื่อเถอะครับไม่มี ส.ก.คนไหนอยากเลือกตั้งบ่อย เว้นแต่สมาชิกสภาที่เป็นกลุ่มหรือพรรคเดียวกับฝ่ายบริหารกับกลุ่มฝ่ายค้านไล่เลี่ยกันละครับ อาจมีการประลองกำลังกันบ้างก็เป็นได้ อีกเรื่องเป็นกรณีที่การทำงานของผู้ว่าฯ กทม. และสภา ขัดแย้งกันจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ กทม. หรือแก่ราชการโดยส่วนรวม ผู้ว่าฯ อาจยื่นข้อเสนอพร้อมด้วยเหตุผลต่อรัฐมนตรีฯ หรือ มท.1 ให้ยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ก.ใหม่ได้ครับ

ถ้ารัฐมนตรีไม่ประกาศยุบสภาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอให้ยุบสภา ผู้ว่าฯ อาจยื่นข้อเสนอทบทวนให้พิจารณาใหม่ได้อีกครั้งหนึ่งภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับข้อเสนอตามวรรคหนึ่ง ในการนี้รัฐมนตรีจะเห็นควรให้ยุบสภาตามข้อเสนอทบทวนหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอทบทวนดังกล่าว

ในกรณีที่ผู้ว่าฯ จะเสนอรัฐมนตรีให้สั่งยุบสภาในเหตุการณ์เดียวกันอีก ให้กระทำได้เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ครบกำหนดสามสิบวันที่รัฐมนตรีได้รับข้อเสนอทบทวน ถ้าปรากฏว่าการดำเนินงานของผู้ว่าฯ และสภาขัดแย้งกันหรือการดำเนินงานของผู้ว่าฯ และสภาเป็นไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรุงเทพมหานคร หรือแก่ราชการโดยส่วนรวม และการแก้ไขสภาพเช่นนั้นไม่อาจกระทำได้โดยเหมาะสมด้วยวิธีการอื่นนอกจากการยุบสภา รัฐมนตรีหรือ มท.1 โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีอาจให้ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ก.ใหม่ได้ การยุบสภาและการที่รัฐมนตรีไม่เห็นชอบด้วยกับข้อเสนอทบทวนของผู้ว่าฯ ให้ทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยพร้อมกับแสดงเหตุผลโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ท่านผู้อ่านดูแล้วจะเห็นได้ว่า การทำงานของท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เช่น กทม. ก็ยังมิได้อิสระตามที่คิด เพราะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะรัฐมนตรีฯ มท.1 ยังมีอำนาจควบคุม กำกับ ดูแล ตั้งแต่เข้าสู่ตำแหน่งจนกระทั่งพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าฝ่ายบริหารและฝ่ายสภาก็ตาม เชื่อเถิดครับว่า ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายสภาฯ จะไม่ขัดแย้งถึงขนาดต้องหลุดจากตำแหน่งเพราะเหตุถูกยุบสภาฯ โดยรัฐมนตรีแน่นอน 

นอกจากนั้นแล้ว คนเป็น ส.ก.ก็ต้องระวังอีกหลายเรื่อง โดยในกฎหมายเองที่มีเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งแต่เดิมไม่ค่อยได้ใช้งาน แต่ต่อไปเชื่อว่ามีคนร้องเรียนในเรื่องนี้มากขึ้นแน่นอน โดยในกฎหมายเขียนไว้ว่า ส.ก.ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่อื่นใดในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือการพาณิชย์ของ กทม. หรือบริษัท ซึ่งกทม.ถือหุ้น หรือตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีท้องถิ่นแห่งเดียวคือ กทม.ละครับ ที่มีสหการของตัวเองในรูปบริษัท คือบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่ กทม.ถือหุ้นอยู่ 99% ก็ที่มีเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่โด่งดังกันอยู่ขณะนี้ครับท่านผู้อ่าน

นอกจากนี้ บางท่านอาจไม่ทราบว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครปี 2562 ก็มีการเขียนเพิ่มเติมเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ครอบคลุมทั้งฝ่ายบริหารคือ ผู้ว่าฯ และ ส.ก.ด้วย คงต้องไปเล่ากันต่อตอนหน้าอีกครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...