ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
กทม. ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรีให้กลุ่มเสี่ยงถึง 31 ส.ค.
24 พ.ค. 2565

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสัญญาณเตือนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A กำลังกลับมาระบาดใหม่ควบคู่กับโควิด-19 กทม. มีความห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกกลุ่มอายุ (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งได้รับยาเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4. ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7. โรคอ้วน คือ ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
กทม. จึงเปิดให้บริการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัด กทม. และโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ โดยจองวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยการลงทะเบียนผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้ 1 .ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" และ 2. จองสิทธิ์ด้วยตนเอง ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.ทั้ง 69 แห่ง
ทั้งนี้ กรณีไม่สะดวกลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน สามารถเข้ารับบริการรูปแบบ Walk in ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนหรือสูติบัตร (กรณีเด็ก) มาด้วยในวันรับบริการวัคซีน ตั้งแต่บัดนี้ - 31 ส.ค. 65 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด
สำหรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ดังกล่าว ครอบคลุมการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ (an A/Victoria/2570/2019 (H1N1) pdm09-like virus, an A/Darwin/9/2021 (H3N2)-like virus; และ a B/Austria/1359417/2021 (B/ictoria lineage)-like virus.) ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด เนื่องจากพบว่าประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งควรฉีดเป็นประจำทุก 1 ปี ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ควรเข้ารับบริการฉีดทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นทางออกที่มีความคุ้มค่า
ทั้งนี้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้มีการยอมรับถึงประสิทธิภาพของวัคซีนจากทั่วโลก และมาตรฐานที่ใช้มาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกันยังมีผลการศึกษาวิจัยระบุถึงคุณประโยชน์ และประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พบว่า สามารถลดจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ลดความถี่ในการมาพบแพทย์ ลดการแพร่เชื้อโรค รวมถึงลดการรักษาตัวในห้องฉุกเฉิน และผลโดยรวมยังพบว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์มากต่อคนทุกช่วงอายุ รวมทั้งผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวด้วย
นายขจิต กล่าวว่า กทม. ยังได้ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ และการป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยแนะนำการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไม่ต่างจากการป้องกันเชื้อไวรัสอื่นและโควิด-19 คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสจมูก ปาก ตา หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด และหยุดเรียน-หยุดงานเมื่อป่วย
นอกจากนี้ เน้นย้ำช่องทางการเข้ารับบริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในสถานพยาบาลสังกัด กทม. ซึ่งประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ เพิ่มเติมได้ที่เพจของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร หรือเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์โอเพนแชท ศูนย์ข้อมูลข่าวสารสุขภาพ MIL Center เพื่อเป็นการติดต่อสื่อสาร และรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...