ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
นิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน “การกระจายอำนาจลงไปในท้องถิ่นยังมีสิ่งที่ควรพัฒนา”
04 ต.ค. 2564

ถ้าพูดถึง การพัฒนาคน การพัฒนาความเป็นอยู่ และแม้กระทั่งการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการเปิดมิติใหม่ๆ เพื่อมุ่งสู่การสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิเช่น “สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือโอทอป (OTOP)ที่รู้จักันดี หรือโครงการปลูกผักสวนครัว หรือแม้กระทั่งล่าสุดที่กำลังโด่งดัง “โคก หนองนา พัฒนาชุมชน” ฯลฯ หน้าที่สำคัญเช่นนี้ก็ต้องมองกันไปที่ กรมการพัฒนาชุมชน หรือ พช. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ถือว่าทำหน้าที่คลุกคลีกับชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิดที่สุด

หรือที่ข้อมูลระบว่า กรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพโดยสนับสนุนให้มีการจัดทำและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย จัดทำยุทธศาสตร์ชุมชน ตลอดจนการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาชุมชน เพื่อให้เป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ความสำคัญจึงมีอยู่อย่างเด่นชัด เฉกเช่นเดียวกับที่ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จะพาท่านผู้อ่านมารู้จักกับผู้บริหารระดับสูงผู้หนึ่งของหน่วยงานแห่งนี้ ซึ่งก็คือ “นิวัติ น้อยผาง”1 ใน 3 ที่ทำหน้าที่ รองอธิบดี กรมการพัฒนาชุมชน

โดยเมื่อต้นปี 2563 กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดีกรมต่างๆแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่กรมละคน 2 คน และหนึ่งในนั้นก็คือ นิวัติ น้อยผาง จากรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ขึ้นนั่งเก้าอี้รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่ถูกระบุว่า เป็นบุคคลที่เติบโตมาในสายปกครองเคยเป็นนายอำเภอและปลัดจังหวัดมาก่อน

รองฯ นิวัติ ในวัย59 ปี เริ่มต้นย้อนอดีตในวัยเด็กกับ อปท.นิวส์อย่างเป็นกันเองว่า เป็นชาวขอนแก่นอดีตนั้น ถือเป็นเด็กลูกทุ่งคนหนึ่ง ที่บ้านมีฐานะเป็นคนรากหญ้า ได้ร่ำเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6ที่โรงเรียนบ้านหัวนาจระเข้ ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ก่อนที่จะมาเข้าชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ 7 ที่โรงเรียนเทศบาล 2 วัดทินกรนิมิต อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

แต่ด้วยความเป็นเด็กยากจน การเข้ามาเรียนที่นนทบุรี จึงต้องมาอาศัยอยู่กับพระ ที่เรียกว่า เป็นเด็กวัดนั่นเอง ซึ่งก็ได้ญาติห่างๆ ที่ท่านเป็นพระอยู่ในตอนนั้นอุปการะ ทำให้ต่อมาได้มีโอกาสเข้าเรียนที่ในระดับมัธยมศึกษา สายวิทย์-คณิตย์ที่โรงเรียนรัตนาธิเบศร์ โดยรองฯ นิวัติ บอกว่า ด้วยความตั้งใจเรียนและหมั่นสร้างเสริมความรู้ ทำให้ได้นักเรียนที่ได้คะแนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโรงเรียน ก่อนจะสอบติดเข้าเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ที่รั้วจุฬาลงกรณ์มหาสิทยาลัยซึ่งเน้นเรื่องของการบริหารจัดการราชการแผ่นดิน ทั้งในระดับปริญญาตรีและโททั้งยังเคยเข้าอบรมหลักสูตรปลัดอำเภอ รุ่นที่ 97 สถาบันวิทยาลัยการปกครอง หลักสูตรนายอำเภอ รุ่นที่ 48 สถาบันวิทยาลัยการปกครอง และหลักสูตรนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 54 สถาบันวิทยาลัยมหาดไทย

ส่วนสาเหตุที่สนใจและเดินหน้าเข้ารับราชการรองฯ นิวัติ บอกว่า มาจากความฝังใจในวัยเด็ก ที่เคยไปทำธุระที่อำเภอแล้วโดนรังแกด้วยการพูดไม่ดีใส่ ประกอบกับครอบครัวตระกูลทางปู่และย่า เคยเป็นสายกำนันผู้ใหญ่บ้านมาก่อน แถมตนเองเป็นคนที่มาจากชนบท ทำให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียม จึงอยากได้ตำแหน่งทางราชการและตั้งใจจะทำให้ดีกว่าข้าราชการที่เคยให้บริการตนมาแบบนั้น

“เข้ารับราชการครั้งแรกที่สำนักงานพลังงานแห่งชาติ ต่อมาสอบแข่งขันไปรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอ จึงได้เป็นปลัดอำเภอศรีสะเกษก่อนจะได้เป็นนายอําเภอเบญจลักษ์เป็นแห่งแรก ตามด้วยนายอำเภอศรีรัตนะและนายอําเภอกันทรารมย์ในจังหวัดศรีสะเกษต่อมาเมื่อมาที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ดำรงตำแหน่งนายอำเภอสำโรงและนายอําเภอทุ่งศรีอุดม หลังจากนั้นก็ย้ายคืนถิ่นมาเป็นนายอำเภอที่อุทุมพรพิสัยและอําเภอเมืองศรีสะเกษ ในจังหวัดศรีสะเกษอีกครั้ง ก่อนจะได้เป็นนายอำเภอครั้งสุดท้ายที่เมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคามหลังจากที่ได้รับตำแหน่งนายอำเภอมาหลายแห่ง จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดจังหวัดสุรินทร์อยู่ 2 ปี และไปเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์อีก 1 ปี” รองฯ นิวัติ กล่าว พร้อมกับบอกต่อไปว่า

“โดยอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอแล้วมีหน้าที่ในการกำกับดูแลปกครองระดับชุมชน บังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอ รับผิดชอบในการบริหารราชการของอำเภอ นอกจากนั้นยังมีอำนาจปกครองบังคับบัญชาและควบคุมการปฏิบัติงานของกำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตท้องที่อำเภออีกด้วย ดังนั้นนายอำเภอจึงเหมือนสะพานเชื่อมต่อจากส่วนกลางไปถึงท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ”

อย่างไรก็ตาม สำหรับมุมมองต่องานปกครองท้องถิ่นที่เคยทำมารองฯ นิวัติ ให้ความเห็นว่าจากประสบการณ์ที่เคยดูแลประชาชนในหน้าที่นี้มาก่อน พบว่าการกระจายอำนาจลงไปในท้องถิ่นยังมีสิ่งที่ควรพัฒนาเนื่องจากบางครั้งทางท้องถิ่นยังไม่เข้าใจถึงบริบทของอำนาจที่ได้มาต้องทำอย่างไร ขณะเดียวกันอำนาจที่ให้กับท้องถิ่นก็ไม่ได้ให้อย่างเต็มที่ อำนาจบางอย่างที่ท้องถิ่นควรได้ก็ไม่ให้อย่างมีระบบและประสิทธิภาพ ทำให้คนที่มารับหน้าที่นายอำเภออาจต้องเหนื่อยเพิ่มเติม เพราะบทบาทอำนาจหน้าที่ที่ยังไม่ลงตัว”

รองฯ นิวัติ กล่าวยอมรับว่าการได้มีโอกาสดำรงตำแหน่งปลัดและรองผู้ว่าฯ สุรินทร์ ที่เป็นตำแหน่งสำคัญนั้น ทำให้ตนเองได้เข้าถึงปัญหาและการบริการประชาชนในหลายมิติ เนื่องจากหน้าที่รับผิดชอบดูแลในวาระรองผู้ว่าฯ ต้องดูแลด้านความมั่นคงและด้านสังคม การกำกับโยธาธิการและผังเมือง งานพัฒนาสังคมมนุษย์ งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมไปถึงงานที่ดิน ได้กำกับงานที่ทำการปกครองควบคู่กับงานด้านสังคม ทำให้เข้าถึงการดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

สำหรับตำแหน่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนนั้น รองฯ นิวัติ บอกว่า สาเหตุที่ได้เลื่อนสู่ตำแหน่งรองอธิบดีฯส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ด้านการปกครองท้องถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน ประกอบกับกรมการพัฒนาชุมชนมีความต้องการที่จะดึงคนสายปกครองเข้ามาสู่กรมฯโดยมีเป้าหมายในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเสริมสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เคยทำงานในพื้นที่จริงทำให้ตนเองได้รับโอกาสสำคัญ ขยับตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนซึ่งจะสามารถรับใช้ประชาชนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

“หลังจากได้ดำรงตำแหน่งรองฯ พช. ส่วนใหญ่จะดูแลแผนงานของกรมสถาบันพัฒนาชุมชน งานด้านการศึกษา งานสารสนเทศ รวมถึงงานนิติการ จนเมื่อเข้าปีที่ 2 ก็รับหน้าที่ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน นอกจากนี้ ก็มีโครงการปลูกผักสวนครัว ซึ่งผมรับผิดชอบโดยตรงก็ได้การตอบรับเป็นอย่างดี”

รองฯ นิวัติ บอกกด้วยว่า โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”นั้น ป็นการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเกษตรทฤษฎีใหม่กับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ เป็นการให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้สำเร็จเร็วขึ้นอย่างเป็นระบบทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองแบบครบวงจร

เมื่อถามว่า หน้าที่ดูแลประชาชน ย่อมมีความกดดันและความเครียด แล้วมีวิธีคลายความเครียดอะไรบ้าง รองฯ นิวัติ บอกว่า อันดับ 1คือการเตะบอลและร้องเพลง รวมไปถึงนั่งสมาธิ บางครั้งเวลาลงพื้นที่ตรวจพื้นที่ มีแวะไปดูอำเภอข้างเคียงหรือขับรถแวะข้างทางดูความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ได้ผ่อนคลายและได้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของชาวบ้านไปพร้อมๆ กัน

ส่วนด้านครอบครัว รองฯ นิวัติ บอกว่า ครอบครัวไม่ได้ทำธุรกิจแต่อย่างใด มีเพียงที่ดินสำหรับทำนาที่มีอยู่ประมาณ 20 ไร่ ซึ่งเป็นมรดกของพ่อตาแม่ยายส่วนหนึ่งและซื้อเพิ่มเติมส่วนหนึ่ง โดยให้ทางญาติพี่น้องเป็นผู้ดูแล ส่วนภรรยานั้น รองฯ นิวัติ ยอกว่า เป็นความบังเอิญที่ได้พบเมือครั้งภรรยาเป็นคุณครูอยู่จังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันมีบุตรสาว1 คน กำลังศึกษาด้านสัตวแพทย์ในระดับปริญญาโท

อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า รองฯ นิวัติเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญ ที่เคยได้ทำงานให้บริการประชาชนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน จากประสบการณ์ที่นั่งตำแหน่งนายอำเภอมาหลายจังหวัด รวมถึงเคยคุมบังเหียนตำแหน่งสำคัญในฝ่ายปกครองท้องถิ่นอย่างปลัดอำเภอและรองผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้ รองฯ นิวัติเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้การทำงานของกรมการพัฒนาชุมชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้หลักคิด

“ให้ประชาชนที่อยู่ระดับรากหญ้า สามารถพึ่งพาตัวเองได้และมีความยั่งยืน โดยจำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาบนพื้นฐานของวัฒนธรรมของตนเอง เพื่อให้เกิดความภูมิใจในถิ่นกำเนิดและรากเหง้าของตนเอง ความภูมิใจในประเทศตนเอง นี้เองเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน”รองฯ นิวัติ กล่าวทิ้งท้ายถึงหลักการทำงานที่ปฏิบัติตลอดมา

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...