ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สังคม / บุคคล ย้อนกลับ
ธีระชัย เตือนกู้ 5แสนล้าน นำสู่บุฟเฟต์คาบิเนต
26 พ.ค. 2564

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แสดงความคิดเห็นต่อ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ว่า

“อย่าให้ พ.ร.ก. เป็นกุญแจสู่ บุฟเฟต์แคบิเนต!”

ข่าวว่อน “รอฟังวันนี้! ครม. แถลงความชัดเจน ‘พ.ร.ก. กู้เงิน 7 แสนล้าน’ หลังโดนกระซวก” ประชาชนใจจดจ่อ!

เมื่อวานนี้ 25 พ.ค. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง แถลงชี้แจง พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท

แต่ปรากฏว่า ชี้แจงแบบด้วน ห้วน!

แค่เพียงอธิบายวัตถุประสงค์ 3 แผนงาน และเงินกู้จะช่วยให้ จีดีพี ปี 64 และปี 65 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1.5%

น่าเสียดาย ไม่ได้แถลงว่า

1. หลักการรวบอำนาจการใช้จ่ายของรัฐ ให้ออกไปจากองคาพยพกำกับตรวจสอบปกติ นั้น นอกจากใช้จ่ายคล่องมือแล้ว มีประโยชน์อื่นใดแก่ชาติ หรือไม่ อย่างไร?

2. สามแผนงานของท่าน มีความเร่งด่วนจนไม่สามารถออกกฎหมายในรูปพระราชบัญญัติ ตรงไหน?

3. วงเงินฟื้นฟู 1.7 แสนล้าน ท่านมีเผื่อไว้ให้ สส. พรรคใดบ้าง? เผื่อไว้ให้รัฐมนตรีกระทรวงใดบ้าง? เผื่อไว้ปิดปาก สส. หรือไม่?

ผมคัดโครงการใหญ่ ที่ ครม. พลเอกประยุทธ์อนุมัติ ใน พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน มาให้ผู้อ่านรับทราบ จะเห็นได้ว่า มีโครงการของส่วนราชการมากมาย!

ทำไมส่วนราชการจึงกระตือรือล้น จะทำโครงการใน พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน แทนที่จะเสนอตามงบประมาณปกติ?

เป็นเพราะถ้าเดินถนนปกติ ถ้าถูกตรวจสอบ อาจถูกดำเนินคดี ไม่เหมือนเดินถนน พ.ร.ก. หรือไม่?

ในเว็บไซต์สภาพัฒน์ 5 โครงการฟื้นฟูใหญ่สุด ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ คือ

< อันดับหนึ่ง สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จำนวนเงิน 10,629,600,000 บาท (หนึ่งหมื่นหกร้อยล้านเศษ)

= โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)!!!

(*ครม. คงเกรงใจรัฐมนตรีนี้มาก เพราะงานเร่งด่วนแบบนี้ จะใช้ถึงแสนล้านก็ได้ ตั้งมหาวิทยาลัยทุกสี่แยก)

< อันดับสอง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวนเงิน 9,805,707,480 บาท (เก้าพันแปดร้อยล้านเศษ)

= โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่!!!

(*พรรคที่คุมกระทรวงนี้ คงมีบารมีใน ครม. น่าเสียดาย ทฤษฎีใหม่แต่ใช้เงินแค่เก้าพันล้าน)

< อันดับสาม กรมการปกครอง จำนวนเงิน 2,701,876,000 บาท (สองพันเจ็ดร้อยล้านเศษ)

= โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team)!!!

(*กระทรวงนี้ คงจะเกรงใจคนรุ่นใหม่ สมารท์ตำบนตำบอน ปกติต้องใช้เงินนับหมื่นๆ ล้าน)

< อันดับสี่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวนเงิน 1,693,500,700 บาท (หนึ่งพันหกร้อยล้านเศษ)

= โครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกรรองรับผลผลิตทางการเกษตร!!!

(*โครงการนี้ใช้เงินนิดเดียว ไม่ถึงระดับหมื่นล้าน ไม่สมกับชื่อโครงการ ที่ตั้งได้ลึกซึ้ง)

< อันดับห้า กรมการข้าว จำนวนเงิน 1,601,430,400 บาท (หนึ่งพันหกร้อยล้านเศษ)

= โครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์!!!

(*นี่ก็คงเกรงใจคนรุ่นใหม่มาก เพราะแค่ชื่อที่ข้ามชาตินี้ไปชาติหน้าอย่างนี้ ก็ทำโครงการได้เป็นแสนๆ ล้านแล้ว)

นี่แค่ 5 อันดับแรก และยังมีโครงการของส่วนราชการอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงโครงการของแต่ละจังหวัด ดูได้ในเว็บไซต์สภาพัฒน์

ในเมื่อ พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน เป็นที่นิยมมากอย่างนี้ ก็คาดได้ว่า พ.ร.ก. 5 แสนล้าน จะมีลูกค้าแน่นขนัดไม่แพ้กัน

ผมจึงขอเชิญให้พลเอกประยุทธ์ ในฐานะนั่งหัวโต๊ะ ครม. ที่เป็นผู้อนุมัติโครงการเหล่านี้ โปรดให้มีการชี้แจงว่า

ก) โครงการเหล่านี้ ที่ต้องใช้จ่ายให้สะดวก ลื่นไหล จนต้องใช้ช่องทางด่วนพิเศษ ที่ท่านออกแบบไว้ใน พ.ร.ก. นั้น มีความจำเป็นเร่งด่วน แท้จริง อย่างไร?

ข) มีส่วนราชการที่ฉวยโอกาส ใช้ช่องทางพิเศษใน พ.ร.ก. เพื่อหลบการตรวจสอบในช่องทางปกติ หรือไม่?

ค) มีอะไรเป็นหลักประกันว่า โครงการเหล่านี้ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง พิสูจน์ไว้ หรือไม่ อย่างไร?

นี่เอง ที่ผมวิจารณ์ว่า ในวาระครบรอบวันเกิด 7 ปีของ คสช. พลเอกประยุทธ์ให้ของขวัญแก่คนรุ่นใหม่ เป็นหลักการคลังในอนาคต ใส่กล่องผูกโบสีดำ

ถ้าการใช้เงินรั่วไหล ถ้าการตรวจสอบหย่อนยาน ภาระหนักก็จะตกแก่คนรุ่นใหม่ ที่จะต้องช่วยกันใช้หนี้

วาระแห่งชาติ ต่อต้านฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่พลเอกประยุทธ์เพิ่งจะอ้าง เพิ่งจะวางเป็นจุดขาย หลังจากนั่งหัวโต๊ะมา 7 ปี เป็นเพียงสัญญาที่ว่างเปล่า หรือไม่?

ผมขอเรียกร้องให้ประชาชนติดตาม ส่งเสียง เพื่อระวังมิให้ พ.ร.ก. เป็นกุญแจสู่ บุฟเฟต์แคบิเนต หรือบุฟเฟต์สภา!

เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น จะมีผลต่อลูกหลานของเราอย่างหนัก ถ้ากู้มาล้มละลาย?

วันที่ 26 พฤษภาคม 2564

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...