วันที่ 27 พ.ค.2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ลงนามโดย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย พ.ศ. 2565 เพื่อขยายอัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์จากกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินนอกจากค่าชดเชย สำหรับบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 134 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568"
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 2568 เป็นต้นไป)
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 15 แห่งระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย พ.ศ. 2565 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ข้อ 15 อัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์จากกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินอื่นนอกจากค่าชดเชยตามข้อ 8 (2) หรือข้อ 8 (3) ให้จ่ายในอัตราไม่เกินเจ็ดสิบเท่า (70 เท่า) ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ระเบียบดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.2568 เป็นต้นไป สาระสำคัญคือ การเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์ในกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย จากเดิม 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน เป็น 70 เท่า
โดยมาตรการนี้จัดทำผ่านกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบกรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ให้สามารถได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เช่น ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดการปรับปรุงระเบียบครั้งนี้สะท้อนเจตนารมณ์ของกระทรวงแรงงานในการดูแลลูกจ้างให้มีหลักประกันที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และสร้างความมั่นใจว่า เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ลูกจ้างจะไม่ถูกปล่อยให้เผชิญปัญหาแต่เพียงลำพังสำหรับลูกจ้างที่ต้องการขอรับเงินสงเคราะห์ตามระเบียบใหม่นี้ ต้องเป็นผู้ที่ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน และมีคำสั่งเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ระเบียบมีผลบังคับใช้ โดยให้พนักงานตรวจแรงงานทุกพื้นที่ชี้แจงสิทธินี้กับลูกจ้างอย่างทั่วถึง เพื่อให้เข้าถึงการคุ้มครองตามกฎหมายได้อย่างแท้จริง