ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ข่าวเด่น / ไฮไลท์ ย้อนกลับ
16 องค์กรเอกชนภูเก็ตคาใจรถไฟฟ้ารางเบา
17 พ.ย. 2564

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จังหวัดภูเก็ต นำโดยนายปิยะพงษ์ ชูวงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัติ อารีรอบ นายกองค์การบริหารจังหวัดภูเก็ต นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต นางสาวเชิญพร กาญจนสายะ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต และผู้นำภาคเอกชนภูเก็ตรวม 16 องค์กร ได้ร่วมกันแถลงข่าว "การแสดงจุดยืนของภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและมติ กรอ. จังหวัดภูเก็ตในเรื่องข้อสรุปเรื่องรถไฟฟ้ารางเบาหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ตในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564”

การประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการลงทุนระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตที่กระทรวงคมนาคมมอบ หมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมาซึ่งมีข้อสรุปว่าจะเปลี่ยนแปลงรถไฟฟ้ารางเบาจากล้อเหล็กเป็นล้อยางเนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างถูกกว่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาทนั้น ได้เกิดปัญหาขึ้นมาว่าภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตยังไม่ยอมรับว่าเป็นความเห็นร่วมที่จะใช้เดินหน้าโครงการต่อไป เนื่องจากขัดกับความต้องการของคนในพื้นที่ ขัดกับมติกรอ.ภูเก็ต และรฟม.ยังให้ข้อมูลแก่ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นน้อยมาก

นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่ภาคเอกชนภูเก็ตต้องการแจ้งต่อรฟม.คือ 1.คนภูเก็ตต้องการสร้างรถไฟฟ้าให้เร็วที่สุด หากเกรงว่าจะมีปัญหาการจราจร ทางจังหวัดก็พร้อมจะร่วมมือกันแก้ปัญหาดังเช่นที่เคยมีประสบการณ์ช่วงสร้างอุโมงลอดทางแยก 2.ประเภทของรถไฟฟ้าจะเป็นล้อเหล็กหรือล้อยางนั้น รฟม.ควรเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้แก่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งคนภูเก็ตต้องการให้รฟม.นำเสนอข้อมูลอย่างละเอียดและชัดเจนอีกครั้ง 3.แผนการก่อสร้างนั้นทางภูเก็ตต้องการให้ดำเนินการทั้งเฟส1 และเฟส 2 ต่อเนื่องให้ทันงาน World Specialised Expo ในปี 2571

ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าอำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรฟม. ซึ่งคนภูเก็ตไม่ได้ติดขัดว่าจะเป็นล้อยางหรือล้อเหล็ก เพียงแต่ต้องการรายละเอียดงานวิจัยและเอกสารที่ชัดเจนหากจะเปลี่ยนจากล้อเหล็กเป็นล้อยางดีกว่ากันอย่างไร และก็ไม่อยากให้มองเพียงต้นทุนการก่อสร้างว่าล้อยางถูกกว่าล้อเหล็ก เพราะถึงแม้ว่าล้อยางอาจจะถูกกว่าในด้านต้นทุนการก่อสร้าง แต่เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาระยะยาวอาจจะแพงกว่า ประกอบกับบริษัทก่อสร้างรถไฟฟ้าแบบล้อยางปัจจุบันก็มีไม่กี่บริษัทซึ่งเราก็ไม่คุ้นเคยหรือรู้จักรายละเอียดของแต่ละบริษัทมากนัก ผิดกับระบบล้อเหล็กซึ่งเป็นที่นิยมของทั่วโลก มีบริษัทก่อสร้างให้เลือกใช้บริการจำนวนมาก ขณะที่พิมพ์เขียวโครงการนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก็ออกแบบไว้หมดแล้ว เป็นการออกแบบก่อสร้างด้วยล้อเหล็ก ถ้าจะปรับเป็นล้อยางก็ต้องเริ่มต้นเขียนแบบกันใหม่ เกรงว่าเวลาโครงการจะยืดยาวออกไปอีกหลายปี ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อจังหวัดภูเก็ตและประเทศชาติ

“ตามกำหนดการเราต้องการให้โครงการรถไฟรางเบาภูเก็ตเปิดใช้ได้ภายในปี2568 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาเที่ยวภูเก็ตหลังผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19 รวมถึงจะมีการจัดงานใหญ่ระดับโลกคือ World Specialised Expo 2028 ที่รัฐบาลเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่จัดงานในปี 2571 ซึ่งคาดว่าจะมีคนมาชมงานนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน สร้างรายได้ในช่วงงานประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เงื่อนไขเวลาตรงนี้ถือว่าสำคัญมาก” นายธนูศักดิ์กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 พฤษภาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...