จากกนรณีที่งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 157,000 ล้านบาท ถูกระบุว่า จัดสรรอย่าง "ไม่เป็นธรรม" ล่าสุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ออกโรงชี้แจงปมร้อน การดำเนินโครงการ ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ของ อปท. ที่ได้รับการพิจารณาในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม ไม่โปร่งใส มีการกระจุกตัวอย่างไม่เป็นธรรม
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อออนไลน์ กรณีการดำเนินโครงการและขอรับจัดสรรงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้งบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ของ อปท. ที่ได้รับการพิจารณาในลักษณะที่ไม่เหมาะสมและมีการระบุว่าอาจไม่เป็นธรรม
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ขอชี้แจงดังนี้
1. ครม. ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้งบวงเงิน 157,000 ล้านบาท และมอบหมายหน่วยงานรับงบประมาณจัดทำโครงการและข้อเสนอแนวทาง เพื่อดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568
2. กระทรวงการคลัง เสนอกรอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเสนอให้ ครม. พิจารณาประกอบกับสำนักงานงบประมาณได้ทบทวนแผนการให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการพิจารณาข้อเสนอแนวทาง โดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ไปยังสำนักงานงบประมาณ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ คณะกรรมการนโยบายการระดมทุนเศรษฐกิจฯ และ ครม.
3. มท. แจ้งให้จังหวัดจัดทำข้อเสนอโดยโครงการและคำของบประมาณ ตามหลักเกณฑ์การจัดสรรเพื่อการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ได้รับการอนุมัติจาก มติ ครม. แล้ว มท. แจ้งให้จังหวัดดำเนินการจัดทำข้อเสนอแผนแล้ว มท. จะจัดส่งข้อมูลให้จังหวัดนำไปอัพโหลดในระบบ New e-Budgeting ต่อไป
4. มท. มอบหมายการกลั่นกรองให้ สถ. ดำเนินการประมวลข้อมูล รวมรวม และกลั่นกรองข้อเสนอโครงการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้งบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ของ อปท. ทุกแห่ง (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา)
5. สถ. ได้รับข้อเสนอโครงการของ อปท. รวมทั้งสิ้น 5,316 แห่ง จำนวน 27,494 โครงการ งบประมาณ 161,950,170,900 บาท ซึ่งเกินกรอบวงเงินในภาพรวม 157,000 ล้านบาท ของมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับได้รับข้อมูลว่าสำนักงบประมาณให้ความสำคัญกับ โครงการด้านคมนาคมประมาณ 70,000 ล้านบาท และโครงการด้านน้ำ ประมาณ 40,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 110,000 ล้านบาท คงเหลืองบเงินที่จะจัดสรรให้ อปท. ประมาณ 37,000 ล้านบาท
สถ. จึงให้กรอบการคำนำข้อที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่สำนักงานงบประมาณกำหนด รวมถึงพิจารณาความครบถ้วนสมบูรณ์ของสารสนเทศข้อมูลบนคำของบประมาณในระบบ New e-Budgeting ตามพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ และดำเนินการคัดกรองคำขอ ได้พิจารณากลั่นกรองเสนอคำขอของ อปท. ให้ มท. รวมทั้งสิ้น 1,876 แห่ง จำนวน 4,826 โครงการ งบประมาณ 34,690,532,600 บาท
โดยภาพรวมของข้อเสนอในโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจาก รมว.มท. มีจังหวัดที่มีคำของบประมาณเกิน 500 ล้านบาท มีจำนวนทั้งสิ้น 25 จังหวัด จังหวัดที่มีคำขอมากที่สุดคือ จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 100 อปท. 252 โครงการ งบประมาณ 2,050,686,100 บาท และจังหวัดที่มีคำขอน้อยที่สุดคือจังหวัดภูเก็ต จำนวน 1 อปท. 1 โครงการ งบประมาณ 3,527,800 บาท ค่าเฉลี่ยกระจายตัวทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 456 ล้านบาท
6. กรณีที่มีการกล่าวว่า บาง อบต. หรือ อบจ. ขออะไรไม่เคยได้เลย บางที่ขอมาได้ 1–3 ล้านบาท แต่ได้ยินว่า พื้นที่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ได้เพิ่มขึ้นจากที่เคยได้เป็นร้อยๆ ล้านบาท บางแห่งได้ถึง 700 ล้านบาท สถ. จึงเรียนชี้แจงว่า ได้พิจารณาถึงภาระรายจ่ายของงบประมาณ และคำขอโครงการต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางของสำนักงบประมาณกำหนด โดยคำนึงถึงโครงการที่มีความพร้อมของข้อมูลแบบรูปรายการ และสถานที่ดำเนินการ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าไม่มี อบต. หรือ อบจ. ใด ได้รับงบประมาณถึง 700 ล้านบาทแต่เพียงรายใด
ส่วนกรณีที่มีการกล่าวว่า บางพื้นที่เป็น อบต. ขนาดเล็ก ได้รับงบประมาณถึง 60–70 ล้านบาท แต่บางพื้นที่ไม่มีการจัดสรรงบประมาณไปเลย นั้น สถ. ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าโครงการของ อบต. มียอด 3,521 แห่ง ได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองคำขอโครงการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางของสำนักงบประมาณ และมีความพร้อมของข้อมูล แบบรูปรายการ และสถานที่ดำเนินการ จำนวน 1,571 แห่ง ซึ่งมี อบต. ที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 169 ล้านบาท เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่การท่องเที่ยว และมีจำนวน อบต. ที่คำขอโครงการไม่ผ่านการพิจารณา จำนวน 1,947 แห่ง เนื่องจากคำขอไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และไม่มีความพร้อมของการบันทึกข้อมูลแบบรูปรายการประกอบการพิจารณา
และกรณี ข้อมูลคำของบประมาณไม่ตรงกันกับในระบบ New e-Budgeting สถ. ขอเรียนว่า สำนักงบประมาณกำหนดให้ อปท. บันทึกข้อมูลในระบบ New e-Budgeting ซึ่งเป็นระบบใหม่และระยะเวลาที่จำกัด ทำให้ในห้วงระยะที่ต้องบันทึกข้อมูลไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งเสนอโครงการของ อบต. จึงขาดความสมบูรณ์ ประกอบกับ อปท. ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณโดยตรงได้แก่ อบจ. ทม. และ ทต. มีการบันทึกข้อมูลให้แก่สำนักงบประมาณโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของ สถ. ส่งผลให้ข้อมูลไม่ถูกต้องตรงกัน
ดังนั้น สถ. ขอยืนยันว่า กรณีการดำเนินโครงการและขอรับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ของ อปท. สถ. ได้พิจารณาอย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนดแล้ว