เศรษฐกิจดิจิทัลปี 2568 เดินหน้าขยายตัวต่อเนื่อง คาดมูลค่ารวมแตะ 4.69 ล้านล้านบาท เติบโต 6.2% สูงกว่าการขยายตัวของ GDP โดยรวมกว่า 3 เท่า สะท้อนบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในการพยุงเศรษฐกิจท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงโลก
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ เศรษฐกิจดิจิทัลปี 2568 ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) โดยเศรษฐกิจดิจิทัล (Broad Digital GDP ณ ราคาที่แท้จริง - CVM) คาดว่าจะมีมูลค่า 4.69 ล้านล้านบาท เติบโต 6.2% จากปีก่อนหน้า ซึ่งขยายตัวสูงกว่า GDP โดยรวมของประเทศที่คาดว่าจะโตเพียง 1.8% หรือราว 3.4 เท่า สะท้อนพลังของเศรษฐกิจดิจิทัลในการขับเคลื่อนประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังเผชิญแรงกดดัน
แม้เศรษฐกิจโลกยังถูกกระทบจากสงครามการค้า ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดย IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 2.8%
ขณะที่ สศช. ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยเหลือ 1.8% แต่เศรษฐกิจดิจิทัลยังเติบโตโดดเด่น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าดิจิทัล 5 เดือนแรกของปี มีมูลค่าแล้วกว่า 860,000 ล้านบาท ขยายตัวถึง 35% สูงกว่าการส่งออกรวมที่โตเพียง 8%
รัฐบาลโดยกระทรวงดีอี และ สดช.ได้เร่งผลักดันนโยบายและโครงการสำคัญ อาทิ การเร่งขยายโครงข่าย 5G ทั่วประเทศ การผลักดัน Smart City ในหัวเมืองหลัก การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสำหรับ Digital ID และ Digital Wallet เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจเข้าถึงบริการดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันเอกชนไทยยังลงทุนเพิ่มทั้งในด้านศูนย์ข้อมูล (Data Center) คลาวด์ และเทคโนโลยี AI เพื่อสร้างความสามารถแข่งขันกับภูมิภาค
ทั้งนี้ นโยบาย Cloud First Policy ที่รัฐประกาศใช้เต็มรูปแบบแล้ว ทำให้หน่วยงานรัฐและองค์กรธุรกิจต้องยกระดับการจัดเก็บและบริหารข้อมูลขึ้นคลาวด์ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ตลาดบริการดิจิทัลและฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันไทยยังเป็นเป้าหมายของการลงทุนด้าน Data Center จากผู้ให้บริการระดับโลก โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
เศรษฐกิจดิจิทัลในปีนี้แม้เติบโตได้ดี แต่ สดช.เน้นย้ำว่า จำเป็นต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้แข็งแกร่งควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะบุคลากรดิจิทัล เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นฐานใหม่ที่ยั่งยืน การพึ่งพาสินค้านำเข้าที่มากเกินไป หรือความล่าช้าในการปรับตัวของธุรกิจ SME อาจกลายเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว
นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยสามารถพัฒนาและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีหลัก เช่น ซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์ม และคอนเทนต์ดิจิทัล จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มและลดการพึ่งพาต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือแบบบูรณาการทั้งจากรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา
เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการสดช. ระบุว่า หากไทยสามารถเร่งขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัลได้ตามเป้า เศรษฐกิจดิจิทัลจะสามารถโตในอัตราเลขสองหลักใน 3-5 ปีข้างหน้า แต่ต้องเร่งลดข้อจำกัดทั้งด้านกฎระเบียบ การลงทุนในนวัตกรรม และการพัฒนากำลังคนดิจิทัลในสาขาที่ขาดแคลน เช่น AI, Data Science และความมั่นคงไซเบอร์ เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค
สำหรับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลปี 2568 ทุกหมวดคาดว่าจะขยายตัวสูงกว่า GDP ประเทศ (1.8%) โดยอุตสาหกรรมที่โตแรงสุดคือ ดิจิทัลคอนเทนต์ ขยายตัว 9.9% และขยายตัวต่ำสุดคือ ซอฟต์แวร์ ที่ 4.5%
• ฮาร์ดแวร์ โต 5.5% ชะลอตัวตามเศรษฐกิจและการส่งออก
• บริการดิจิทัล ขยาย 5.7% จากการบริโภคที่ชะลอลง
• โทรคมนาคม โต 8.1% จากความต้องการสื่อสารและโครงข่าย
• สมาร์ทดีไวซ์ ขยาย 5.6% ตามทิศทางลงทุนอุปกรณ์อัจฉริยะ
• ซอฟต์แวร์ โต 4.5% ลดจากคาดการณ์เดิมตามเศรษฐกิจชะลอ
• ดิจิทัลคอนเทนต์ ขยาย 9.9% นำโดยวิดีโอออนไลน์ เกม และ AR/VR
• อุตสาหกรรมดิจิทัลอื่นๆ เช่น ท่องเที่ยว โต 5.8% ชะลอตามเศรษฐกิจ
โดยภาพรวม ทุกอุตสาหกรรมยังเติบโตแต่ต่ำกว่าคาดการณ์เดิม จากผลกระทบเศรษฐกิจโลกและการบริโภคในประเทศที่อ่อนตัว
นอกจากนี้ สดช.ได้มีการสำรวจความความพร้อมของผู้ประกอบการดิจิทัล ภายใต้โครงการ Thailand Digital Outlook โดยพบว่า ผู้ประกอบการดิจิทัลขนาดใหญ่มีระดับความพร้อมเฉลี่ยที่ 2.74 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับสูง หรือ High (ช่วงคะแนน 4 กลุ่มแบ่งเป็น Basic คะแนน 0.00 – 0.99, Medium 1.00 – 1.99, High 2.00 – 2.99, Leading 3.00-4.00)
สะท้อนให้เห็นว่า องค์กรดิจิทัลขนาดใหญ่มีระดับความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และมีระบบ แนวทาง หรือกระบวนการดิจิทัลเกิดขึ้นภายในองค์กร ซึ่งเป็นความร่วมมือของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลและก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับแนวหน้าของโลก นำมาซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชนของไทยต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการดิจิทัลขนาดเล็ก มีระดับคะแนนอยู่ที่ 1.5 คะแนน มีระดับความพร้อมด้านดิจิทัลต่ำกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่มาก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการดิจิทัลที่ต้องได้รับการสนับสนุน โดยหากเจาะลึกที่มิติด้านดิจิทัล พบว่า มิติที่ต้องเร่งสนับสนุน ได้แก่ มิติด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Infrastructure) และมิติการบริหารจัดการภายในด้วยระบบดิจิทัล (Digitalized Process Operation) โดยมิติด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีคะแนนต่ำที่สุดอยู่ที่ 1.00 คะแนนเท่านั้น รองลงมาเป็น มิติการบริหารจัดการภายในด้วยระบบดิจิทัลที่ 1.20 คะแนน
เมื่อพิจารณาเชิงพื้นที่ พบว่า ผู้ประกอบการดิจิทัลที่มีศักยภาพในการพัฒนา Smart City กว่าร้อยละ 42.9 อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (174 บริษัท จาก 406 บริษัทที่มีศักยภาพในการสนับสนุนSmart City) ส่งผลให้ในภาพรวมผู้ประกอบการดิจิทัลในพื้นที่กรุงเทพฯ มีศักยภาพในการพัฒนา Smart City สูงที่สุด รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคกลางที่ร้อยละ 28.1 (114 บริษัท จาก 406 บริษัทที่มีศักยภาพในการสนับสนุน Smart City) และพื้นที่ภาคตะวันออกที่ร้อยละ 9.4 (38 บริษัทจาก 406 บริษัทที่มีศักยภาพในการสนับสนุน Smart City)
จากผลการสำรวจนี้ สะท้อนให้เห็นถึง การกระจุกตัวของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตลอดจน แนวโน้มการพัฒนาที่มุ่งเน้นไปที่การยกระดับคุณภาพชีวิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองเป็นหลัก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมผู้ประกอบการในภูมิภาคอื่น ๆ และในด้านที่หลากหลายมากขึ้น เช่น Smart People Smart Environment เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยเป็นไปอย่างทั่วถึงและยั่งยืนในระยะยาว