นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานทะเล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานทะเลฯ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 เพื่อให้พระราชบัญญัติดังกล่าว มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention, 2006) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO)โดยกำหนดให้การจ้างงานระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรืออยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน เพื่อให้คนประจำเรือได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายดังกล่าว รวม 7 กรณี เช่น สิทธิเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค สิทธิกรณีคลอดบุตร สิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร สิทธิกรณีชราภาพ และสิทธิกรณีว่างงาน (เดิม ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่เป็นไปตามประกาศกระทรวงแรงงาน ซึ่งคุ้มครอง 3 กรณี)พร้อมทั้งกำหนดห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ทำงานในเวลากลางคืน เว้นแต่ในกรณีเป็นการฝึกอบรมที่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า หรือเป็นการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กรมเจ้าท่าให้การรับรองหรือตามตำแหน่งหน้าที่ที่คนประจำเรือต้องทำในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนประจำเรือ อันเป็นการยกเลิกระบบอนุญาต แล้วให้กรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบเกี่ยวกับการฝึกอบรมการทำงานของคนประจำเรือเป็นผู้ให้การรับรอง(เดิม กำหนดข้อยกเว้นให้ในกรณีเป็นการฝึกอบรมที่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า หรือเป็นการฝึกอบรมตามตำแหน่งหน้าที่ที่คนประจำเรือต้องทำในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งต้องไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนประจำเรือโดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมอบหมาย) และกำหนดบัญญัติบทนิยามคำว่า “การทำงานในเวลากลางคืน” ให้ชัดเจนว่าหมายถึง การทำงานตั้งแต่เวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 06.00 นาฬิกา (เดิม กำหนดให้ “การทำงานเวลากลางคืน” เริ่มต้นก่อนเที่ยงคืนและสิ้นสุดหลังจากเวลา 05.00 นาฬิกาเป็นต้นไป และต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 9 ชั่วโมง)